33 ปี ชีวิตสีกากี (51) | ตำรวจรู้ได้อย่างไรว่า “ปลอมลายมือ”

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ผู้ที่มาทำหน้าที่อาจารย์บรรยายต่อมา คือ ร.ต.อ.เศกสิทธิ์ อินทรพรหม หัวข้อการบรรยาย คือ การเก็บวัตถุพยานประเภทลายนิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายในทางเทคนิค ทั้งการเก็บด้วยการถ่ายรูป หรือหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ การปัดฝุ่น ซึ่งมีกรรมวิธีมากมาย

ทั้งการใช้ผงฝุ่นที่มีสีต่างๆ สีดำ ขาว เทา ฟลูออเรสเซนต์ ปัดแล้วใช้สก๊อตเทป ชนิดกว้าง 3/4นิ้ว ชนิดใส ลอกเก็บบนแบบฟอร์มเก็บลายนิ้วมือแฝง (การใช้สีต้องใช้สีที่ตัดกับวัตถุที่จะลอกลายนิ้วมือแฝง)

มีการชี้แจงการใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติพิเศษ นำมาใช้ในการพิสูจน์ และได้สรุปการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือไว้ดังนี้

– การพิสูจน์ลายนิ้วมือ ถ้าได้จุดสำคัญ 10 จุด จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นของใคร

– ทารกในครรภ์มารดา อายุประมาณ 4 เดือน จะมีลายนิ้วมือปรากฏแล้ว

– ลายนิ้วมือจะไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนตาย สามารถนำไปใช้ยืนยันตัวบุคคลได้

เส้นนูน (Ridges) คือ การเกิดรอยนูน ที่อยู่สูงขึ้นมาจากผิวหนังส่วนนอก

เส้นร่องหรือรอยร่อง (Furrows) คือ รอยลึกที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเส้นนูน

ในรอยพิมพ์ลายนิ้วมือ เส้นนูนกับเส้นร่อง จะอยู่สลับกันไป

– การที่ลายนิ้วมือไม่เปลี่ยนแปลง จึงนำมาใช้พิสูจน์ หรือทำนายดวงชะตาชีวิตได้

– การที่จะนำเอาเส้นฝ่ามือ ซึ่งใช้ทำนายดวงชะตา มาตรวจพิสูจน์ทางคดีนั้นใช้ไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

ชนิดของเส้นลายนิ้วมือ

1. โค้งงาม

2. โค้งกระโจม

3. มัดหวายเรเดียล

4. มัดหวายอัลน่า

5. มัดหวายแฝดหรือมัดหวายคู่

6. ก้นกอยธรรมดา

7. ก้นหอบกระเป๋ากลาง

8. แบบซับซ้อน

 

ลายพิมพ์นิ้วมือแฝงกับพิมพ์ลายนิ้วมือต่างกันอย่างไร

ลายนิ้วมือแฝง คนร้ายไม่จงใจจะให้มี แต่ไปจับหรือทำให้เกิดรอยลายนิ้วมือขึ้น ซึ่งเมื่อตรวจพบแล้ว ก็จะลอกมาตรวจพิสูจน์ตามกรรมวิธี

ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุนั้น สิ่งที่อาจตรวจพบ ได้แก่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอยลายนิ้วมือแฝง ซึ่งจะมีวิธีนำมาตรวจพิสูจน์ที่แตกต่างกัน หรืออาจมีรอยลายนิ้วมือแฝงที่ไม่ชัดเจนปรากฏอยู่ก็ได้ เช่น รอยน้ำมัน

พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นการเจาะจง หรือจงใจที่จะทำขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันตัวบุคคล มีลักษณะชัดเจน อาจใช้หมึก น้ำหมาก ฯลฯ พิมพ์ขึ้น เช่น ต้นขั้วตั๋วรับจำนำ สัญญา ใบกู้ ฯลฯ พิมพ์ลายนิ้วมือนี้ จะตรวจสอบได้หรือไม่ก็ตาม เราเรียกว่า ลายนิ้วมือ

ลายนิ้วมือติดอย่างไร

วัตถุที่มีผิวเรียบ ลายนิ้วมือจะปรากฏชัดและติดดี นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ เช่น อากาศชื้น ลายนิ้วมือจะลบง่าย

ในห้องแอร์จะติดดีและนาน กลางแดดติดอยู่ได้ไม่นาน

ในการปัดหาลายนิ้วมือ ถ้าอากาศแห้งพอสมควร ไม่มีฝุ่นละออง สามารถปัดเอาลายนิ้วมือได้ง่าย แต่ถ้าอากาศชื้น เมื่อปัดแล้วจะลบเลือนหมด

พนักงานสอบสวนต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เข้าใจวิธีการทั้งหมด สามารถอธิบายให้เพื่อนตำรวจ จัดการตามที่อาจารย์สอนได้ เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน

สถานการณ์บางครั้ง เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน หรือจากตำรวจวิทยาการ ไม่สามารถเดินทางไปเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ทันเวลา เช่น ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณชายหาด ของเกาะกลางทะเล มีร่องรอยมากมายในที่เกิดเหตุ เวลานั้นตำรวจที่ไปถึงคนแรก สามารถจัดการเก็บหลักฐานเบื้องต้นได้ หากรอเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปถึง กว่าจะไปถึง น้ำทะเลที่ขึ้นลงตามช่วงเวลา จะท่วมชายหาดและพัดพาทำลายหลักฐานจนหมดสิ้น

ดังนั้น ก่อนที่หลักฐานจะถูกทำลายไป เพื่อให้ทันเวลา ตำรวจคนแรกจึงต้องดำเนินการตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และนำหลักฐานที่เก็บได้ก่อนที่น้ำทะเลจะทำลายมาใช้ประโยชน์ในทางคดีได้

 

พ.ต.ต.วิสุทธิ สุวรรณสุทธิ บรรยายในหัวข้อ การตรวจพิสูจน์เอกสาร ลายเซ็น ลายมือเขียน เป็นความรู้ เมื่อมีการปลอมแปลงลายมือเกิดขึ้น ซึ่งมีวิธีปลอมแปลงได้ ดังนี้

1. ปลอมโดยวิธีเลียนแบบ จะสังเกตได้โดยลายมือที่เลียนแบบนั้น ลักษณะเส้นตัวหนังสือจะช้าและสั่นเพราะผู้เลียนแบบ ไม่มีความชำนาญในการเขียนลายมือของผู้นั้น และหมึกจะเป็นเส้นหนักกว่า การปลอมนี้ จะต้องมีแม่แบบ จะพบมากในเอกสารต่างๆ ใบมอบอำนาจ เช็ค พินัยกรรม

2. ปลอมโดยวิธีลากทาบแบบ การเซ็นชื่อมีหลักอยู่คือ ถ้าคนเดียวกันเขียน 2 ครั้ง ลายเส้นจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าพบว่า ลายเซ็นทั้ง 2 ครั้งนั้น ถ้าเอามาทาบกันได้พอดี แสดงว่าลายมือชื่อนั้นเป็นลายมือชื่อปลอม

3. ปลอมโดยวิธีเขียนขึ้นเอง พบมากในการเรี่ยไรเงิน โดยที่ผู้ปลอมเขียนขึ้นมาเอง โดยเอาชื่อคนอื่นที่แท้จริงมา แล้วเซ็นชื่อของตัวเองไป โดยไม่เลียนแบบ เพื่อให้คนอื่นคิดว่า ลายเซ็นนั้นเป็น ลายเซ็นของผู้ถูกปลอม เพราะคนทั่วไป ไม่เคยเห็นลายเซ็นของผู้ถูกปลอมมาก่อน ส่วนมากมักจะอ้างว่าเป็นของผู้มีฐานะ หรือมีเครดิตดี

4. ปลอมโดยวิธีเขียนขึ้นหลายๆ คน ยังไม่ค่อยพบ เป็นการเอาหลายๆ คนมาเขียนหนังสือคนละตัว 2 ตัว หมุนเวียนกันไป เพราะว่าแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน มักเป็นประเภทบัตรสนเท่ห์

5. ถูกจับมือให้เขียน คือ การที่เอามือของผู้นั้นจับปากกาไว้ แล้วตัวเองจับมือของผู้นั้นเขียน ผลก็คือ เป็นลายมือของตัวผู้ที่จับมือของผู้อื่นให้เขียนนั่นเอง เพราะว่า คนจับมือเขียนตัวหนังสือย่อมเหมือนกับคนที่จับมือเขียนเอง

 

เมื่อผมมาทำงานแล้ว และเป็นพนักงานสอบสวน เข้าเวร จะมีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ ว่ามีการปลอมแปลงลายมือ ลายเซ็น เมื่อรับแจ้งแล้ว ต้องมีการสอบสวนผู้เสียหาย และพนักงานสอบสวนต้องรู้ขั้นตอนและวิธีการรวบรวมพยานหลักฐานในทางคดีจะต้องทำอย่างไร มีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร

เพราะเมื่อทำการสอบสวนผู้เสียหายเสร็จแล้ว แค่นั้นยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นการพิสูจน์ความผิด พนักงานสอบสวนจะต้องมีขั้นตอนของการเก็บตัวอย่างลายมือ ลายเซ็นของผู้เสียหาย เพื่อส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อทำการเปรียบเทียบกับเอกสารที่ปลอม และให้เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเป็นผู้พิสูจน์และออกเอกสารรายงานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งกลับมาให้พนักงานสอบสวน รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน

แต่พนักงานสอบสวนจะต้องมีความรู้ในเรื่องการปลอม มีวิธีสังเกตลายมือนั้นว่ามีลักษณะอย่างไรที่จะเป็นความผิดเข้าข้อกฎหมาย ซึ่งอาจารย์บรรยายไว้ว่า

ลายมือที่มีลักษณะพิรุธ

1. ลายมือสั่น ไม่เรียบ

2. ลายเส้นช้ากว่าของจริง

3. ลายมือเหมือนกันมากจนทาบทับกันได้

4. มีร่องรอยการขูด ลบ เขียนทับ

5. มีเส้นนำหรือเส้นร่าง ซึ่งอาจจะร่างด้วยดินสอก่อน

การที่จะดูว่า เป็นลายมือปลอมหรือไม่ มีหลักใหญ่ๆ ในการตรวจก็คือ การตรวจเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อนั้น

หลักใหญ่ๆ ในการตรวจพิสูจน์ว่า เป็นลายมือของคนคนเดียวกันหรือไม่ มีหลักดังนี้

1. ต้องไม่มีลักษณะแตกต่าง

2. ต้องมีลักษณะพิเศษของการเขียนที่เด่นชัด

3. ต้องมีความผิดเพี้ยนตามธรรมชาติที่คงที่

แต่ถ้าเป็นลายมือของคนที่ไม่ได้รับการศึกษา ลายเส้นอาจมีการสั่น ช้า เป็นต้น อย่างนี้เราก็ไม่สามารถจะทำการพิสูจน์ได้

ลายมือเขียนขอคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามวาระสังขาร เวลา ฉะนั้น การผิดเพี้ยนตามธรรมชาติ ย่อมจะมีอยู่ทุกวันที่เขียนลายเซ็นไป ถ้าหากว่าลายเซ็นนั้นไม่มีความผิดเพี้ยนตามธรรมชาติเลย ก็แสดงว่าผู้ปลอมอาจจะมีความชำนาญในการปลอมลายเซ็นนั้นแล้ว แต่ไม่มีความผิดเพี้ยนตามธรรมชาติเลย อย่างนี้ก็มีการปลอมเกิดขึ้นได้

ถ้าเอาตัวเขียนธรรมดามาเปรียบเทียบกับลายเซ็น จะไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลย

การหาตัวอย่างลายมือ

1. ให้ผู้ต้องหาเขียนขึ้นต่อหน้าพนักงานสอบสวน

ข้อดี ได้ข้อความเช่นเดียวกันกับข้อความในเอกสารของกลาง

ข้อเสีย ผู้ต้องหาอาจดัดแปลงลายมือได้

2. หาจากลายมือเดิม ซึ่งผู้ต้องหาเคยเขียนไว้ในเอกสารต่างๆ

ข้อดี ได้ลายมือที่แท้จริง ไม่มีการดัดแปลง

ข้อเสีย ระยะเวลาของการเขียน อาจต่างกันมาก

หลักปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในการที่จะให้ผู้ต้องหาเขียนลายมือตัวอย่างต่อหน้าเรา

1. ให้เขียนตามคำบอก จนกระทั่งเห็นว่าได้ลายมือปกติ ข้อความที่ให้ผู้ต้องหาเขียน พนักงานสอบสวนอาจคิดขึ้นเองได้

2. อย่าให้ผู้ต้องเห็นเอกสารของกลางเป็นอันขาด

3. เมื่อผู้ต้องหาเขียนเสร็จแผ่นหนึ่งให้เก็บเสีย แล้วจึงให้เขียนในแผ่นต่อไป

4. อย่าบอกการเขียนตัวสะกด การันต์ หรือเครื่องหมายวรรคตอน

5. จัดเครื่องมือ เครื่องเขียนให้คล้ายคลึงกันกับในเอกสารของกลางมากที่สุด เช่น กระดาษมีบรรทัด หรือกระดาษไม่มีบรรทัด แบบฟอร์มต่างๆ เขียนด้วยปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม หรือดินสอ เป็นต้น ถ้าหากไม่สามารถจัดหาแบบฟอร์มได้ พนักงานสอบสวนอาจจัดให้คล้ายคลึงแทนกันได้

6. ให้เขียนข้อความตามเอกสารของกลาง

7. ในกรณีที่ตรวจลายเซ็นปลอม ก็ให้หาลายเซ็นที่แท้จริงของผู้ต้องหาส่งไปประกอบการตรวจพิสูจน์ด้วยทุกครั้ง

8. ในกรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าตัวอย่างลายมือของผู้ต้องหาที่เขียนขึ้นนั้น มีลักษณะแตกต่างกับลายมือที่เป็นปัญหามาก ควรพิจารณาให้ผู้ต้องหาเขียนทั้งมือซ้ายและมือขวา

9. ตัวอย่างลายมือ ควรให้มีทั้งเขียนเร็วและเขียนช้า

10. ควรบันทึกลักษณะของผู้เขียนท่าทางว่า ผู้เขียนนั้นมีลักษณะปกติหรือดัดแปลงอย่างไรหรือไม่ หรือสภาพต่างๆ ในการเขียน เช่น ผู้ต้องหาบางคนอาจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง การเขียนอาจใช้แฟ้มรองยืนเขียน หรือเขียนรองฝาผนัง หรือนั่งชันเข่าเขียน

11. ให้ผู้เขียนตัวอย่างลายมือ บันทึกลงลายมือชื่อรับรองไว้ทุกแผ่น รวมทั้งให้พนักงานสอบสวนลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย