จากมาร์โคโปโล สู่มหาวิทยาลัยกา’ฟอสการีแห่งเวนิส (2)

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บทความพิเศษ | ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

จากมาร์โคโปโล

สู่มหาวิทยาลัยกา’ฟอสการีแห่งเวนิส (2)

 

งานส่วนที่สองที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยกา’ฟอสการี คือ การให้คำปรึกษานักศึกษานอกห้องเรียน หลังจากการบรรยายศาสนา ความเชื่อในเวียดนาม มีนักศึกษาสนใจค้นคว้าเรื่องเวียดนามในระดับลึกได้มาขอคำปรึกษาผมในประเด็นต่างๆ ที่น่ากล่าวถึงคือนักศึกษาคนหนึ่งที่ตั้งคำถามชวนสนทนาต่อ 2 ข้อด้วยกันว่า

หนึ่ง ทำไมการศึกษาเรื่องศาสนาในเวียดนามจึงมีจำกัดนัก โดยเฉพาะในการวิจัยทางมานุษยวิทยา

และสอง หากจะเริ่มค้นคว้าเรื่องนี้ควรเริ่มอย่างไร

สำหรับคำถามแรก แม้ว่าเวียดนามจะเปิดประเทศและเข้าสู่เศรษฐกิจการตลาดอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 แล้ว แต่ในการวิจัยทางมานุษยวิทยา ซึ่งนักวิจัยต้องฝังตัวในชุมชนเป็นระยะเวลาหลายเดือนจนอาจหลายปี ทำให้ทั้งการศึกษาวิจัยเองทำได้ด้วยความยากลำบาก

ยิ่งหากศึกษาชนกลุ่มน้อยด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ทุนและใช้เวลาเป็นอย่างมาก

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับนักวิจัยต่างชาติที่เข้าไปทำวิจัยในเวียดนาม ทุกคนต่างรู้ดีว่ายังมีอุปสรรคในการขออนุญาตเข้าไปทำวิจัยในพื้นที่เป็นระยะเวลานานอยู่ ทำให้งานศึกษาวิจัยทางศาสนาเชิงลึกด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาในเวียดนามจึงยังคงมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง

ส่วนคำถามที่สอง หากจะเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องศาสนาในเวียดนาม แม้ว่าจะมีงานภาษาอังกฤษอยู่น้อยในปัจจุบัน หากแต่ก็สามารถเริ่มต้นได้จากงานของนักวิชาการที่ศึกษาศาสนาในเวียดนามในแนวมานุษยวิทยามาอย่างต่อเนื่อง

เช่น ผลงานชิ้นต่างๆ ของฟิลิป เทย์เลอร์ (Philip Taylor) นักมานุษยวิทยาออสเตรเลีย

หากจะให้กระชับที่สุดอาจเริ่มจากบทความทบทวนสถานภาพการศึกษาศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนามชื่อ Minorities at Large : New Approaches to Minority Ethnicity in Vietnam พิมพ์ในวารสาร Journal of Vietnamese Studies เมื่อ ค.ศ.2008

การทำงานร่วมกับ อ.เอโด

สําหรับงานส่วนที่สาม การแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนามแก่คนต่างภาษา เนื่องจากโครงการของภาควิชาเอเชียและแอฟริกาเหนือศึกษา สอนทั้งภาษาและสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง ของประเทศต่างๆ ในเอเชียและแอฟริกาเหนือ ทำให้งานส่วนหนึ่งของภาควิชาเป็นงานสอนภาษา

อ.เอโดเองก็สอนภาษาด้วยเช่นกัน เนื่องจากท่านเชี่ยวชาญภาษาไทย พูดภาษาไทยได้เทียบเท่าคนไทย จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยสอนภาษาไทยด้วย

ที่น่าสนใจคือ อ.เอโดเล่าว่า ภาษาไทยเป็นที่นิยมที่มหาวิทยาในเวนิสมาก เคยมีคนอิตาลีเองมาลงทะเบียนลงมากถึง 60 คน

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้คนอิตาลีมาเรียนภาษาไทยคือ พวกเขาชอบดูละครซีรีส์วายของประเทศไทยกัน

นอกจากนั้น ภาควิชาเอเชียและแอฟริการเหนือศึกษายังสอนภาษาเวียดนามและมีโครงการจะสอนภาษาอินโดนีเซีย

ผมจึงนำประสบการณ์การได้เรียนภาษาเวียดนามที่สหรัฐอเมริกา และการเรียนภาษาเวียดนามและภาษาไทดำที่เวียดนาม มาแลกเปลี่ยนให้อาจารย์ที่รับผิดชอบดูแลโครงการสอนภาษาไทยและ อ.เอโดด้วย

สภาแห่งสาธารณรัฐเวนิส

จากประสบการณ์การเรียนภาษาเวียดนามของผม เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทยแล้ว เนื่องจากภาษาเวียดนามไม่มีการกำหนด “ภาษาทางการ” ด้วยสำเนียงทางการ ภาษาทางการมีแต่เพียงภาษาเขียน ที่ทุกคนต้องสะกดให้เหมือนกัน ทำให้การเรียนภาษาสำหรับคนต่างชาติต้องเลือกว่าจะเรียนสำเนียงใดเป็นภาษาแรกเริ่ม

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนักเรียนที่พื้นเพเป็นชาวเวียดนามพลัดถิ่น ส่วนใหญ่ครอบครัวจะมาจากทางใต้ และพวกเขายังมีความขุ่นข้องหมองใจทางการเมืองกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ผู้มีอำนาจสำคัญๆ เป็นชาวเวียดนามเหนืออยู่ การสอนภาษาเวียดนามที่นั่นจึงต้องระมัดระวังไม่ใช้แต่เพียงภาษาเหนือ

ส่วนผมเองได้เรียนสำเนียงเหนือและเนื่องจากครูคนแรกผมเป็นคนฮานอย ผมจึงติดเรียนสำเนียงฮานอยมาตลอด

การเมืองเรื่องสำเนียงนี้จึงแตกต่างจากภาษาไทยมาก เนื่องจากภาษาไทยบังคับให้ภาษากรุงเทพฯ กลายเป็นภาษาทางการ ซึ่งนี่ก็เป็นการเมืองของภาษาอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ที่กำหนดให้ภาษาถิ่นเดียวครอบงำภาษาถิ่นอื่นจนบดบังความสำคัญของภาษาถิ่นอื่นไปเสียหมด

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมนำมาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์สอนภาษาไทยที่เวนิสคือ การที่ครูสอนภาษาเวียดนามคนเดียวกัน เมื่อต้องเดินตามหลักสูตรการสอนนักเรียนต่างชาติแบบที่สหรัฐอเมริกาแล้ว การสอนของเขาจะเน้นการใช้งานภาษา การพูดให้ได้ การฝึกใช้ในชีวิตประจำวัน การฝึกทักษะภาษา มากกว่าการเรียนไวยากรณ์หรือโครงสร้างภาษา

แต่ครูสอนภาษาเวียดนามคนเดียวกันนี้ เมื่อกลับมาสอนที่เวียดนามแล้ว ผมพบว่าเขาก็จะสอนโดยเน้นไวยากรณ์ภาษาอีกเช่นเคย

ดังนั้น หลักสูตรและเป้าประสงค์ของหลักสูตรจึงมีส่วนสำคัญมากในการสอนภาษาแก่คนต่างชาติ

การสอนภาษาไทยในเวนิสก็กำลังเผชิญปัญหาทำนองนี้เช่นกัน ที่ยังมีอาจารย์ที่ให้ความสำคัญกับการสอนไวยากรณ์ภาษามากกว่าการใช้ภาษา

 

งานส่วนที่ 4 การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศอิตาลี ในระหว่างอยู่ที่นั่น เนื่องจากการงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้รัดตัวมาก และค่อนข้างยืดหยุ่นในด้านการใช้เวลาและสถานที่ ผมจึงถือโอกาสช่วงสุดสัปดาห์เดินทางไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศอิตาลี ในสายตามของนักวิชาการสังคมศาสตร์ชาวไทยไปด้วยในตัว

และนั่นจึงนำมาซึ่งการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับ อ.เอโดและเพื่อนนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่นั่นอีกในหลายๆ เรื่องด้วยกัน

เป็นต้นว่า ความเข้าใจเรื่องท้องถิ่นต่างๆ ของอิตาลี จากการที่ได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์อิตาลีก่อนเดินทางไปเวนิส ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่า อิตาลีนอกจากจะมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จนเรียกได้ว่า อิตาลีเป็นประเทศมหาอำนาจยุคโบราณมาก่อนประเทศมหาอำนาจยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว

อิตาลียังไม่เคยมีเอกภาพอย่างชัดเจนมาก่อนเลย ความเป็นอิตาลีร่วมกันจึง “ใหม่” มาก เพิ่งเกิดเมื่อครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 นี้เอง

ในขณะที่ประเทศไทย ความเป็นเอกภาพถูกสร้างขึ้นมาก่อนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านล้วนเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ในอีกทางหนึ่ง ความเป็นอิตาลีที่ทั้งหลากหลายและมีประวัติศาสตร์ยาวนานนั้น กลับมีรากของความเป็นมนุษยนิยมที่ฝังลึกมายาวนาน ไม่ว่าจะในยุคโรมันเอง ที่แม้จะมีระบบทาสและมีกษัตริย์ปกครองยุคต่างๆ หากแต่ระบบกฎหมายที่แข็งแกร่งก็ทำให้ผู้มีอำนาจเองยังต้องอยู่ใต้ระบบเหตุผลของกฎหมาย

นอกจากนั้น การปกครองแบบกึ่งสาธารณรัฐที่มีอิทธิพลมายาวนานในท้องถิ่นต่างๆ ของอิตาลี จึงทำให้อาณาจักรย่อยๆ ต่างๆ ในอิตาลีไม่ได้มีลักษณะเป็นราชอาณาจักรเสมอไป

 

ดังเช่นในเวนิส ที่สืบทอดการปกครองระบอบสาธารณรัฐมายาวนานนับ 1,000 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ.ที่ 800 ถึง ค.ศ.ที่ 1800 ด้วยการมีระบบการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ ไม่ใช่ให้อำนาจอยู่ในมือของตระกูลใดตระกูลหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจกลุ่มคณะอื่น ทำให้การเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยของอิตาลีมีรากลึกมายาวนานและอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ อย่างค่อนข้างต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้น การรื้อฟื้นศิลปวิทยาการของยุคโบราณทั้งกรีกและโรมันของอิตาลียุคเรอแนซ็องส์ ในศตวรรษที่ 15-17 ที่แผ่อิทธิพลไปในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วอิตาลี จนส่งอิทธิพลไปทั่วยุโรป ทำให้อิตาลียิ่งมีความแข็งแกร่งในวัฒนธรรมของการเคารพต่อความเป็นมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและหลักปรัชญาสิทธิมนุษยชนในโลกปัจจุบัน

การได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้ของผมในครั้งนี้กินระยะเวลาเพียง 20 วัน หากแต่ผมได้เรียนรู้อะไรต่างๆ และได้ศึกษาเพิ่มเติม ทั้งจากตำรา การเดินทาง และการแลกเปลี่ยนกับผู้คนอีกมากมาย นอกจากการงานที่เล่าไปอย่างคร่าวๆ ข้างต้น

อันที่จริงผมยังมีเรื่องราวอีกหลายๆ เรื่องที่อยากแบ่งปันกัน เอาไว้มีโอกาสผมจะเขียนเล่าอีกในในคราวต่อๆ ไป

ใต้ภาพ

1-การทำงานร่วมกับ อ.เอโด

2-สภาแห่งสาธารณรัฐเวนิส