คณะทหารหนุ่ม (70) | พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่านาทีหนีข้อหากบฏ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่าไว้ใน “ผมผิดหรือที่ยึดกรือเซะ” ถึงการหลบหนีหลังกลายเป็นกบฏดังนี้…

จากนั้นผมก็หนี โดยหนีไปทางภาคใต้ก่อน ผมไปที่จังหวัดภูเก็ตไปหาคนรู้จักที่เขาเป็นนักธุรกิจใหญ่อยู่ที่นั่น ผมเคยช่วยเขาไว้ในสมัยที่ลูกเขาโดนจับไปเรียกค่าไถ่

ผมหนีไปกับเมียเพื่อนผมเพียง 2 คน พอขับรถไปถึงตะกั่วป่าก็เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ คว่ำชนิดที่ว่าหงายท้อง สาเหตุเพราะผมง่วงนอนและเมียเพื่อนผมก็เป็นคนขับ รู้สึกว่าหลับใน รถไปชนฟุตปาธและคว่ำหงายท้องทันที รถก็ลื่นไถลไปไกลหลายเมตรเหมือนกัน

แต่แปลกตรงที่ว่าไม่มีใครเป็นอะไรหรือได้รับบาดเจ็บอะไร เหตุเกิดครั้งนั้นอยู่ในช่วงกลางวัน

พอผมได้สติขึ้นมาเห็นคนมุงดูเต็มไปหมด ผมจึงขอแรงให้ชาวบ้านช่วยยกรถขึ้นและลองสตาร์ตขับดู มันก็ขับได้ เครื่องไม่มีปัญหาอะไร ผมจึงขับไปต่อ แต่กระจกหน้าแตก พอดีไปเจอด่านตรวจก่อนจะเข้าภูเก็ตเพราะตอนที่ผมหนีไปนั้นเขาก็ประกาศจับผมด้วย ข่าวเกี่ยวกับการที่ผมปฏิวัติก็ถูกประโคม

ผมเอาแว่นตาคนแก่มาใส่ ผมนั่งอยู่ในรถ ตำรวจก็มอง รู้สึกว่าเขาก็จะสงสัยเหมือนกัน เขาก็ชำเลืองดู ผมก็ถามว่ามีอะไรไหม เขาก็บอกว่าไม่มีอะไร ผมจึงบอกไปว่ารถคว่ำมากำลังจะเอาไปซ่อม เขาก็ปล่อยให้ไป

ผมไปอยู่ที่นั่นได้ 3 คืนก็รู้สึกสงสารเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจคนนั้น (คุณซงคี้) เพราะทางการประกาศว่าใครให้ที่พักพิงกับผมก็ถือว่าเป็นกบฏ

เพื่อนรักผมคนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีชื่อ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ น้องชายเขาเดี๋ยวนี้เป็น ส.ว.หนองคาย ชื่อ นิตินัย นาครทรรพ ผมก็ติดต่อกับเขา ผมขอลี้ภัยไปประเทศลาว เขาก็แจ้งให้เรียบร้อย จากนั้นก็ตีรถจากภูเก็ตขึ้นไปโดยเขาให้ลูกน้องของเขาคือ คุณมณฑล ต่างใจ ให้เป็นคนพาผมขึ้นไปที่หนองคายและก็พาผมข้ามเรือจากหนองคายไปประเทศลาว ประมาณ 01.00 น.

ในตอนนั้นก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน ผมก็นุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียว เตรียมพร้อมที่จะกระโดดเรือเช่นกัน หากมีอะไรผิดพลาด เขานัดกับทางโน้นไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าพวกเราไปขึ้นผิดจุดนัดพบ

พอขึ้นฝั่งทหารลาวก็จับตัวผม กว่าที่จะรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร ทางทหารลาวก็จับตัวผมสอบสวนอยู่นานเหมือนกัน จากนั้นก็นำตัวไปกักไว้ที่บ้านรับรอง ไม่ใช่ขัง เขาไม่ให้ไปไหน ในแต่ละวันก็จะมีคนแวะมาคุยกับผมเรื่อยๆ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศลาว

ระหว่างนั้นผมก็ทำเรื่องเพื่อที่จะขอลี้ภัยไปประเทศเยอรมนี อยู่ที่นั่นได้ประมาณ 2 เดือน หลังจากทำเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศเยอรมนีเสร็จเรียบร้อยแล้วทาง UN เขาก็ยินดีรับเรื่องพร้อมให้ผมไปลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี

ผมก็แอบติดต่อมาทางภรรยาผมที่อยู่กรุงเทพฯ ให้เอาลูกออกจากโรงเรียนและให้ขายบ้านเตรียมลี้ภัยไปอยู่เยอรมนี

 

จดหมายถึงป๋า

ครั้นทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วกำหนดวันที่จะเดินทางไปประเทศเยอรมนี แต่ปรากฏว่าไม่ได้ไป เพราะทางประเทศไทยได้ประกาศนิรโทษกรรม เพราะเหตุผลที่ว่าในการปฏิวัติครั้งนั้นไม่มีการสูญเสียชีวิต และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกผมยอมถอนกำลังโดยปราศจากการนองเลือด และก่อนที่ผมจะหนี ผมก็เขียนจดหมายถึงป๋า (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ว่า

“กราบเรียนป๋าที่เคารพและนับถือ ผมขอรับข้อหากบฏ แต่ข้อหาขัดพระบรมราชโองการผมไม่ขอรับ ขอความกรุณาป๋าช่วยผมด้วย”

หลังจากเขียนเสร็จ ผมให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นำไปมอบให้ป๋า เพราะความจริงผมไม่ได้เกี่ยว ผมพยายามบอกให้ พล.อ.สัณห์ เข้าเฝ้าฯ ผมบอกจะไปเป็นเพื่อน ท่านก็ไม่ยอมไปเข้าเฝ้าฯ สุดท้ายไม่รู้ทำอีท่าไหน เขาก็เลยตั้งข้อหาผมว่า ขัดพระบรมราชโองการ ผมก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่า ทำไม พล.อ.สัณห์ ท่านจึงไม่ยอมเข้าเฝ้าฯ แต่ท่านก็บอกไม่มีอะไร ขอรอให้เรื่องเรียบร้อยก่อนจึงค่อยเข้าเฝ้าฯ

แต่หลังจากเกิดเหตุอย่างที่บอก ผมหนีไปอยู่ภูเก็ต และไปอยู่ประเทศลาว ส่วน พล.อ.สันต์ หนีไปอยู่ที่ประเทศพม่า หลังจากทางประเทศไทยประกาศนิรโทษกรรมแล้ว ผมก็กลับมา

ในช่วงนั้นผมคิดว่าชีวิตนี้จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้กลับเข้ารับราชการทหารอีก

 

นิรโทษกรรม
: “เห็นด้วย แต่ให้เอาเท่านั้นไปก่อน”

“สองนายพลเป็นนายกฯ” โดย “วิเทศกรณีย์ สมบูรณ์ คนฉลาด” บันทึกการดำเนินการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิด หลังจากที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้วว่า

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน โดยมี พล.อ.สายหยุด เกิดผล เสนาธิการทหาร เป็นประธาน

แต่ต่อมาก็ได้ยกเลิกคำสั่งนี้แล้วมอบการสอบสวนคดีให้กับ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานในการสอบสวนต่อไป

ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ก่อนที่จะมีการประกาศนิรโทษกรรมในวันเดียวกันนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 คน จาก 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคสยามประชาธิปไตย และพรรคชาติประชาชน ไปพบที่บ้านรับรองผู้บัญชาการทหารบก สี่เสาเทเวศร์ เพื่อปรึกษาหารือในการที่จะให้นิรโทษกรรมแก่คณะผู้ก่อความไม่สงบเมื่อ 1-3 เมษายน 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมานสามัคคีภายในชาติและเป็นการป้องกันความแตกแยกในวงการทหาร ตำรวจ และพลเรือน

ความแตกแยกเหล่านี้เป็นความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดมาในอดีต ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามกฎหมายแล้วจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและเอกราชของประเทศ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มองเห็นมหาภัยจะบังเกิดขึ้นแก่ชาติจึงได้มีความเห็นเป็นการส่วนตัวว่าควรจะมีการนิรโทษกรรมพวกก่อความไม่สงบนั้นเสีย

รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 เห็นชอบด้วยกับแนวความคิดของนายกรัฐมนตรี และเห็นพ้องกันด้วยว่า การนิรโทษกรรมในวันฉัตรมงคลถือเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระมหาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยเอกฉันท์แล้ว พระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงได้ประกาศใช้ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้คือ ตามที่ได้มีผู้ก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ 2524 โดยใช้กำลังอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง อันเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

ในการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดการต่อสู้กันขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและทรัพย์สินของทางราชการและเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประเทศชาติและราชบัลลังก์ได้ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธและกลับคืนสู่หน่วยที่ตั้งตามปกติของตนภายในระยะเวลาที่กำหนดและรัฐบาลจะไม่เอาความผิด ซึ่งปรากฏว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เชื่อฟังและปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลด้วยดีมิได้มีการต่อต้านหรือขัดขืนหรือใช้กำลังอาวุธให้ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วรัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนดเพื่อให้ชี้แจงถึงการกระทำของตน

ในขณะเดียวกันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจึงต้องกระทำไปตามกระบวนการแห่งกฎหมายควบคู่ไปด้วย

บัดนี้จากผลแห่งการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลโดยครบถ้วน เป็นการสมควรที่จะนิรโทษกรรมการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นให้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศที่มีศัตรูของประเทศชาติและประชาชนอยู่รอบด้านทั้งภายใน ทั้งภายนอก และภายในราชอาณาจักร ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรค์ให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด

ฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศและกรณีเป็นเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจปล่อยให้เนิ่นช้าได้จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้”

 

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ แม้ในภาพรวมจะมีเนื้อหาตามเจตจำนงของนายกรัฐมนตรีที่พยายามสมานบาดแผลของคนในชาติ แต่ก็มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำการ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิด และถ้าผู้กระทำดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการสอบสวนให้ปล่อยตัวไป ในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่มิได้ไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติและพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ”

เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้แสดงความเห็นต่อข้อเสนอของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้นิรโทษกรรมทั้งหมดว่า

“เห็นด้วย แต่ให้เอาเท่านั้นไปก่อน”

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2524 รัฐบาลได้เสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ต่อรัฐสภา ซึ่งปรากฏข่าวก่อนหน้านี้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่ให้การรับรองเพราะเห็นสมควรให้นิรโทษกรรมผู้ก่อการทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

แต่ในที่สุดสมาชิกรัฐสภาก็มีมติรับรอง 321 เสียง คัดค้าน 38 เสียง ขณะที่มีการอภิปรายสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อการทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นตามความในมาตรา 3 วรรค 2

ผู้ต้องหาทั้ง 8 อันได้แก่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พ.อ.บวร งามเกษม พ.อ.วีรยุทธ อินวะษา พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.สมบัติ รอดโพธิ์ นายรักศักดิ์ วัฒนพานิช และนายบุญชนะ อัตถากร

จึงยังคงต้องหลบหนีต่อไป