อเมริกัน ศึกษา ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อเมริกัน ดรีม

บทความพิเศษ

 

อเมริกัน ศึกษา

ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

อเมริกัน ดรีม

 

ต้องยอมรับว่า สภาพการณ์ทางการเมืองของ “สหรัฐอเมริกา” ดำเนินไปในลักษณะอันเป็นเงาสะท้อนของการเมือง “โลก”

เนื่องจากสหรัฐอเมริกา คือ มหาอำนาจหมายเลข 1

เรียกตามสำนวนของซ้ายยุโรปนี่คือ “จักรวรรดินิยม” เรียกตามสำนวนของซ้ายในแบบเหมา-เหมา นี่คือ “จักรพรรดินิยม”

เมื่อสหรัฐอเมริกา “ขยับ” ย่อมหมายถึง “โลก” ต้องขยับตามไปด้วย

กล่าวสำหรับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 ต่อทศวรรษที่ 1970 ไม่มีสถานการณ์ ณ แห่งใดร้อนแรงไปยิ่งกว่า “อินโดจีน”

โดยเฉพาะ “เวียดนามใต้” อันแวดล้อมด้วยกัมพูชา ลาว

นี่ย่อมเป็นความละเอียดอ่อนยิ่งหากมองจากทางด้านของ “ไทย” หากมองจากด้านความรู้สึกของ “คนไทย”

โดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐอเมริกา

 

จังหวะก้าว นิกสัน

แยงกี้ โกโฮม

ในคืนปลายเดือนเมษายน 2514 ปรากฏกายขึ้นผ่านทางทีวีซึ่งตั้งประจำอยู่ ณ ตึกอันเป็นแหล่งที่นักศึกษามหาวิทยาลัยคอร์แนลใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนอารมณ์

“แกมักออกมาตอนกลางๆ เดือนแต่เดือนนี้ล่ามาปลายเดือน คงเป็นพิเศษ”

เป็นพิเศษทั้งในแง่ “การแถลง” เป็นพิเศษทั้งในแง่การให้ “สัมภาษณ์” เป็นข้อสังเกตจากนักศึกษาไทยคนหนึ่งซึ่งกำลังทำปริญญาโททางสังคมศาสตร์

และอรรถาธิบายจากการติดตามมาอย่างต่อเนื่องว่า

“ส่วนมากเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนักหนังสือพิมพ์ที่จะซักถาม ผมชอบมาดูทีวีที่นี่วันที่นิกสันออกสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทางโทรทัศน์ เพราะได้เห็นและได้ฟังนักศึกษาที่เขาถกกันหลังจากให้สัมภาษณ์”

และแล้วการตอบของ ริชาร์ด นิกสัน ก็มาถึงประเด็นสำคัญ

“เรากำลังจะถอนทหารออกจากเวียดนาม และเราจะถอนทหารออกจากเวียดนามทันทีที่เราเห็นว่า 1 เราตกลงกับเวียดนามเหนือได้เกี่ยวกับทหารอเมริกันที่ถูกจับ และ 2 เวียดนามสามารถที่จะช่วยตัวเองได้อย่างดี”

คำตอบนี้ “ท้าทาย” ต่อบรรยากาศแห่งการเคลื่อนไหว “เดินขบวน” อย่างแหลมคม

สุจิตต์ วงษ์เทศ สะท้อนถ่ายภาพ “การเคลื่อนไหว” ออกมาอย่างไร

 

แคมเปญ การเมือง

ต่อต้าน สงคราม

โปสเตอร์เรียกร้องให้นักศึกษารวมกำลังกันต่อต้านสงครามเวียดนามเกลื่อนมหาวิทยาลัย และทะลักออกไปตามร้านอาหาร ตลอดจนร้านซักผ้าด้วยเครื่องอัตโนมัติ

“ให้มันรู้กันมั่งซีโว้ยว่า คนอเมริกันกับคนเวียดนามน่ะไม่ได้เป็นคู่อริกัน”

“ก็อีกนั่นแหละ” ผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) คิดว่าอารมณ์หงุดหงิดของเขาถลกคำพูดออกมาได้อย่างนี้

“หยุดฆ่ากันเสียทีเถอะน่า”

ประโยคนี้เขียนติดอยู่บนผนังตึก ซึ่งบางที่ บางแห่งจะมีต่อท้ายว่า “ไอ้กร๊วก” หนังสือพิมพ์ฉบับแทรกซ้อนเล่มหนึ่งพาดหัวจนเต็มหน้าแรกว่า

“ฤดูหนาวสำหรับการคิดค้นไตร่ตรองอันหนาวเย็นและยาวนานได้ผ่านพ้นไปแล้ว ต่อไปนี้ก็ถึงวาระที่เราจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อการต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อมนุษยชาติและสันติภาพทั้งมวล”

ถามว่า “บรรยากาศ” โดยรวมดำเนินไปอย่างไร

 

รูปแบบ เคลื่อนไหว

เจ้าหนุ่มสาว เอย

จุลสาร / วารสาร / ใบปลิว / ใบแทรก / เอกสาร และสารพัดสารตลอดจนโปสเตอร์ ล้วนแล้วแต่จัดทำและจัดพิมพ์ขึ้นโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

บ้างก็จัดขึ้นด้วยทุนเรี่ยไร บ้างก็จัดพิมพ์ขึ้นอย่างดีด้วยทุนขององค์กรนักศึกษา

และถ้าหากที่ไหนพิมพ์มากก็จำหน่ายจ่ายแจกไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่จำเพาะแต่จะขายหรือแจกในมหาวิทยาลัยของตนแต่เพียงอย่างเดียว

บางทีก็ค้นข้อความของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทางใต้มาตีพิมพ์ซ้ำ

บางทีมหาวิทยาลัยทางใต้ก็ตัดบทความของนักศึกษามหาวิทยาลัยทางเหนือไปตีพิมพ์ซ้ำ

ราคาตั้งแต่ 2 บาท ถึง 5 บาท

ฝีมือการจัดทำหนังสือของเขาเก่งทีเดียว ทั้งรูปเล่ม การจัดหน้า ภาพประกอบ การ์ตูนล้อเลียน ตลอดไปจนถึงการปรู๊ฟตัวผิด

ทำกันอย่างเป็นอาชีพทีเดียว แต่แท้จริงแล้วเขาทำกันเอง

“เทียบกับนักศึกษาบ้านเราแล้วเป็นยังไง” ผู้ถามเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตที่สุดแห่งหนึ่งใน 2 แห่งของกรุงเทพฯ

“คุณลองวิจารณ์ตรงไปตรงมาซิ”

“เอ๊ะ คุณถามบ้าๆ พรรค์ยังงั้น” ผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ตอบซื่อๆ “จะเอานักเรียนชั้นมัธยมต้นมาเปรียบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองไอ้กันได้ยังไง

คนละเรื่องกันครับ ผมไม่เอาด้วยหรอก”

 

ใน ความหงุดหงิด

ความสับสน ระคนเคล้า

หากจะว่ากันไปแล้ว ก็น่าเห็นใจความหงุดหงิดที่นักศึกษาอเมริกันไม่สามารถจะดับมันได้ จะเพราะเหตุอะไรก็ตามที หรือจะเพราะความโง่เขลา หรือความอยากดังของเขาก็เถอะ

แต่จุดมุ่งหมายของเขาก็น่าจะได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรม

บางคนอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าอะไรคือ “เวียดนาม” แต่อย่างน้อยที่สุดเขาได้รับความรู้จากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ว่ามีการรบราฆ่าฟันกันขึ้นที่นั่น และการรบราฆ่าฟันกันนั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไร

นอกจากจะพอกพูนปัญหา และทำคนเป็นๆ ให้ตาย

เขาไม่ต้องการให้มนุษย์ฆ่ากันตาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอเมริกันกับคนเวียดนามไม่เคยเป็นศัตรูกัน และไม่น่าจะต้องเป็นศัตรูกัน

ก็ทั้งโลกนั่นแหละไม่ควรจะฆ่ากัน

 

ก้าวย่าง ฮะเร กฤษณะ

พระเจ้า องค์ใหม่

วันสิ้นเดือนเมษายน นักศึกษาพลุกพล่านกันเป็นพิเศษเพราะคืนนี้จะออกเดินทางไปวอชิงตันเพื่อไปสมทบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่จะเดินทางไปถึงพร้อมกัน

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

นักศึกษาจากรัฐต่างๆ จะตั้งแคมป์กลางกรุงวอชิงตัน และวันที่ 3 พฤษภาคมจึงจะเป็นกำหนดปฏิบัติการ

ฮะเรกฤษณะ 5 คนเดินทางมากรีดกรายอยู่หน้าตึกกิจกรรมของนักศึกษา

พวกนี้เป็นมนุษย์เผ่าใหม่หรือเก่าอะไรไม่ทราบได้แต่เป็นพวกโกนหัวเหลือผมจุกคลุกน้ำปลาไว้ตรงกลางกระหม่อม นุ่งห่มจีวรสีค่อนข้างไปทางชมพู ลักษณะการตัดเย็บกระเดียดไปทางจีวรของพระจีน

ฮะเรกฤษณะชาย 5 หญิง 1 กำลังเผยแพร่ธรรมของพระกฤษณะ

“ถ้าคุณถามคนทั่วๆ ไปว่า ใคร อะไร ที่ไหน จะเอายังไง จะเป็นยังไง ต้องการอะไร เขาจะตอบไม่ได้ แต่เราตอบได้ เพราะชีวิตเรา ความคิดเรา สังขารเรา วิญญาณ เราเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อพระกฤษณะ

เราเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีจุดหมายปลายทาง เราไม่เบียดเบียน สังขารของเราไม่มีค่า เพราะสังขารเราเป็นของพระผู้เป็นเจ้า”

นี่คือภาพสะท้อนแห่งความหลากหลายที่เห็นและเป็นอยู่

 

เดินไปสู่ หนไหน

เดินไป ให้ตำรวจจับ

นักศึกษาทั้งหญิงทั้งชายมากมายก่ายกองเตรียมเครื่องเคราเต็มที่ที่จะไปตั้งค่ายพักแรมกลางกรุงวอชิงตัน เตียงสนาม กระติกน้ำ เสื้อผ้า โอเวอร์โค้ต ผ้าห่ม ที่นอนยาง อาหาร ถุงพลาสติกเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา

และสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติกันเคร่งครัดโดยอัตโนมัติก็คือ ไม่พกอาวุธ

และครั้นถึงคืนสุดท้ายของเดือนเมษายนเขาเดินทางไปโดยรถยนต์ซึ่งต่างคนต่างรวมกัน

ใครมีรถก็เอารถไป ใครไม่มีรถก็อาศัยเพื่อนไป

รถไม่พอ อาจารย์ที่สนับสนุนความคิดนี้ก็อาสาที่จะขับรถไปส่ง

“คุณรู้ไหมว่านักศึกษาพวกนี้เตรียมตัวไปทำอะไร” เป็นคำถามจากเพื่อนคนไทยต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ไม่รู้ซี มีอะไรหรือ ก็ไหนว่าไปเดินขบวนประท้วงสงคราม”

“ถูกละ” เขาตอบ “แต่ที่แน่นอนที่สุด ก็คือ เขาเตรียมตัวไปถูกตำรวจจับกันทั้งนั้น”

จำเป็นต้องติดตาม จำเป็นต้องรอคอย