โศกนาฏกรรมซ้ำซาก เหนือผืนน้ำอันดามัน

(Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)

หมดหน้ามรสุมที่ทำให้ท้องทะเลคลั่ง ก็ถึงเวลา โรฮีนจา (ตามบัญญัติของราชบัณฑิตยสภาบางทีก็ใช้ โรฮิงญา หรือภาษาถิ่นบางแห่งใช้เป็น รูไอง์กา ก็มี) พากันเสี่ยงตายลงเรือไล่ล่าหาฝันที่ไม่เคยเป็นจริงอีกครั้ง

แล้วก็ถึงเวลาแห่งโศกนาฏกรรมซ้ำซาก ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เหนือผืนน้ำสีครามเข้มของท้องทะเลอันดามัน

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือไม้ที่อัดแน่นด้วยโรฮีนจาหนุ่มสาว หรือทั้งครอบครัว เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้งนอกฝั่งอาเจะห์ จังหวัดเหนือสุดบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

เป็นสัญญาณให้เห็นว่า โรฮีนจากำลังเริ่มต้นโศกนาฏกรรมบทใหม่ของตนเองอีกครั้ง หลังจากเคยสร่างซาลงไปหลังการหลบหนีการลงทัณฑ์ครั้งใหญ่ของรัฐบาลเมียนมาเมื่อปี 2017

ที่แตกต่างออกไปจากเรื่องเล่าชวนสลดเดิมๆ เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็คือ พวกเขาไม่ได้ออกเดินทางจากยะไข่ ดินแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมโรฮีนจาอยู่มากที่สุดอีกต่อไป

แต่เป็นการเดินทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัยคูตูปาลอง ที่ตั้งอยู่ในอำเภอค็อกซ์ บาร์ซาร์ จังหวัดจิตตะกอง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ที่อยู่ห่างออกไปจากอาเจะห์ไม่น้อยกว่า 1,000 ไมล์ทะเล หรือ 1,852 กิโลเมตร

 (Photo by Munir uz zaman / AFP)

เมื่อปี 2017 โรฮีนจาไม่น้อยกว่า 750,000 คน หอบลูกจูงหลาน เดินเท้าข้ามแดนจากเมียนมาเข้าสู่บังกลาเทศ พร้อมกับโศกนาฏกรรมเล่าขานกันมากมายในทุกรูปแบบ ถูกเผาไล่ทั้งชุมชน, ถูกทารุณกรรมข่มขืนกระทำชำเรา และถูกฆาตกรรมอย่างทารุณราวกับไม่ใช่มนุษย์

นับตั้งแต่บัดนั้น คูตูปาลอง กลายเป็นค่ายผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายเกกือบ 1 ล้านคน บางส่วนของผู้ลี้ภัยเหล่านี้นี่เองที่ตัดสินใจเลือกที่จะหลบหนีออกมาอีกครั้ง หลังเผชิญกับสภาพสิ้นหวัง ไร้อนาคตและถูกคุกคามที่คูตูปาลอง

อับดูร์ ราห์มาน หนุ่มใหญ่วัย 36 ปีพร้อมครอบครัวคือ ภรรยากับลูกๆ อีก 4 คน คือตัวอย่างของโศกนาฏกรรมใหม่หมาดในปีนี้

เขารวมเงินที่หยิบยิมจากญาติๆ รวมๆ แล้วราว 3,000 ดอลลาร์ จ่ายให้กับนายหน้าที่ให้สัญญาว่าจะพาเขากับครอบครัวขึ้นเรือมุ่งหน้าสู่อาเจะห์ กำหนดเดินทางคือ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เมื่อราห์มานพาครอบครัวลอบหลบๆ ซ่อนๆ ลงมายังริมฝั่งเพื่อรอขึ้นเรือได้ ก็พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ที่คาดหวังและวาดฝันถึงชีวิตใหม่ในอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย

แต่ขณะที่ทุกคนกำลังขึ้นเรือ แก๊งติดอาวุธของนายหน้าอีกกลุ่มก็เข้าล้อม เรียกร้องเงินเป็นค่าไถ่ เรื่องลงเอยด้วยการที่ตำรวจต้องยกพลเข้ามาช่วยเหลือ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ราห์มานไม่เพียงสูญเงินทั้งหมด แต่ยังต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายชนิดหายใจไม่ทั่วท้องต่อ

ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยที่ราห์มานบอกว่าราวกับอยู่ใน “นรก” และเป็นเหตุให้ต้องหลบหนีออกทะเลอีกครั้ง

 

ผู้สันทัดกรณีระบุว่า เชื่อกันว่ามีโรฮีนจาจากคูตูปาลอง มากกว่า 3,700 คน หลบหนีข้ามอันดามันหลังหมดมรสุมไปแล้วในปีนี้ ไปกับเรือใหญ่น้อยที่ต้องยัดทะนานรวม 8 ลำ อีกไม่น้อยกว่า 400 คนอาจกำลังล่องลอยอยู่ตรงไหนสักแห่งเหนืออันดามัน

ประเมินกันว่า อย่างน้อยที่สุด 225 คนสังเวยชีวิตไว้กับอันดามันเฉพาะในปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ตัวเลขการสูญเสียที่แท้จริงมีมากกว่านี้มาก เพราะมีคนที่หายไปแบบไม่รู้ชะตากรรมอีกมากมาย

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นที่ค่ายคูตูปาลอง?

. (Photo by Munir uz zaman / AFP)

คําตอบก็คือ ปัญหาที่ค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มีสารพัด เริ่มตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ซึ่งใช้โครงสร้างเป็นไม้ไผ่ กรุด้วยผ้าใบ ที่ความจริงแล้วเป็นที่อยู่อาศัย “ชั่วคราว” เหมาะสำหรับค่ายผู้ลี้ภัยที่ใช้งานในระยะสั้นๆ ไม่ใช่ค่ายผู้ลี้ภัย “กึ่งถาวร” อย่างที่เห็นกันอยู่ในคูตูปาลอง

ผลลัพธ์ก็คือ หลายๆ ส่วนของค่ายเริ่มกลายเป็น “สลัม” ไม่มีสุขอนามัยและเผชิญกับภาวะน้ำท่วมได้โดยง่ายเป็นประจำ ว่ากันว่า ประชากรของค่ายถึง 2 ใน 5 เป็น “หิด” เรื้อรังอยู่ในเวลานี้

แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือวิกฤตการณ์ทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป ด้วยเหตุที่ว่า การรักษาความมั่นคงและปลอดภัยในค่ายล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง

ไม่เพียงมีการค้าประเวณีในค่าย จำนวนการบังคับแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก

เกิด “แก๊งติดอาวุธ” ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัจจัยคุกคาม สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ลี้ภัยด้วยกันด้วยการ “ข่มขืนกระทำชำเรา” และการ “ลักพาตัว”

เพียงแค่ครึ่งแรกของปีนี้ เชื่อกันว่า แก๊งติดอาวุธเหล่านี้เป็นต้นเหตุของการสังหารที่เกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ไปอย่างน้อย 16 ราย

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจของบังกลาเทศคือผู้ที่รับผิดชอบงานทางด้านความมั่นคงและปลอดภัยของค่าย “กองพันตำรวจติดอาวุธ” คือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แล้วก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในค่ายอย่างแท้จริง เพราะเป็นที่มาของการกรรโชกทรัพย์เพื่อแลกกับความ “เป็นธรรม” ในคดีต่างๆ รวมทั้งบรรดา “แก๊ง” ทั้งหลายอีกด้วย

รัฐบาลบังกลาเทศพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกกฎ ห้ามไม่ให้ผู้อยู่อาศัยในค่ายออกไปทำงานภายนอกค่าย และห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนเกิดขึ้น

ปัญหาหลักก็คือ รัฐบาลบังกลาเทศพยายามบริหารจัดการค่ายลี้ภัยแห่งนี้ในรูปแบบของค่าย “ชั่วคราว” โดยคาดหวังว่า รัฐบาลเมียนมาจะเริ่มต้นมาตรการรับโรฮีนจากลับประเทศ ตามที่เคยทำความตกลงกันเอาไว้กับหน่วยงานของสหประชาชาติ

เป็นความคาดหวังที่เลื่อนลอย ราวกับความฝัน ไม่มีทางเป็นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมายืนกรานว่า ไม่ได้ให้สัญญาว่าจะมอบสัญชาติให้กับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับประเทศ แต่อย่างใด

โดยเฉพาะเมื่อสงครามกลางเมืองเมียนมาทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที การเลือกเดินทางกลับเมียนมายิ่งนันวันยิ่งไม่ดึงดูดใจมากขึ้นเท่านั้น