กรีดเลือด ‘สีฟ้า’ ‘เก่า’ ไป ‘old blood’ มา

“ผมยืนยันกับทุกท่านที่นี่ ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดผมมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย วันข้างหน้าถ้าในพรรคคิดว่าผมจะเป็นประโยชน์มาช่วยได้ ผมก็คงไม่ปฏิเสธ”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศกลางที่ประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กลางบรรยากาศมาคุ มหากาพย์ศึกชิงหัวหน้าพรรคที่เกิดความชุลมุนวุ่นวายต่อเนื่องมานาน

ยิ่งเพิ่มความร้อนแรง ด้วยการประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในทันที

ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หลังได้รับการเลือกเป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ก็พยายามส่งเสียงแสดงน้ำใจไมตรี

“ผมเชื่อว่าทั้งท่าน (อภิสิทธิ์) และผม กรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า ผมก็รักพรรค ท่านก็รักพรรค”

เล่นเอากองเชียร์พรรคสีฟ้าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวไปตามๆ กัน กับวิวาทะการเมืองในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม

 

รู้กันมานานตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า กลุ่มขั้วในพรรคประชาธิปัตย์แบ่งหยาบๆ ได้เป็น 2 ฝ่าย คือ ขั้วอำนาจเดิมที่นำโดยผู้อาวุโสของพรรคและบรรดาตัวตึงประจำพรรคที่คุ้นเคยกันมานานในสายธารการเมืองไทย นำโดย ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กับกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งเติบโตมาจากการเมืองเชิงพื้นที่ ยึดเก้าอี้ในศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไว้ได้มากสุดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียคะแนนเสียงอย่างหนักจากฐานเสียงเดิม เช่น กทม.

คุ้นหน้ากันดี กลุ่มนี้นำโดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ เดชอิศม์ ขาวทอง และ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรค เรียกกันว่า “กลุ่มเพื่อนต่อ”

 

ในช่วงแรกของศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 มีการเปิดตัว “นราพัฒน์ แก้วทอง” ในฐานะผู้ชิงของฝ่ายขั้วอำนาจใหม่ กับ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า เก้าอี้อาจจะเป็นของฝ่ายหลังเนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่ดี ความเห็นทางการเมืองที่เปิดกว้าง ทั้งยังได้รับการหนุนหลังจากผู้อาวุโสของพรรค

ก่อนวันเลือกหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย หนึ่งในผู้อาวุโสของพรรคถึงกับพูดว่า นี่คือยุคที่ประชาธิปัตย์ตกต่ำที่สุดตั้งแต่ตั้งพรรค เป็นขาลงของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นช่วงเวลาที่มีปัญหา พรรคไม่เคยตกต่ำอย่างนี้มาก่อน แพ้เลือกตั้งในหลายพื้นที่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียง 3 คน และ 77 ปีของพรรคไม่เคยมีที่สมาชิกละเมิดข้อบังคับพรรค แต่ก็เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่มี ส.ส.ได้โหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ใช่มติของพรรค

เมื่อเป็นดังนั้น ฝ่ายขั้วอำนาจใหม่จึงต้องเปิดหน้าสู้

21 ส.ส.ประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ มีมติเอกฉันท์ เชิญ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” นั่งหัวหน้าพรรค แม้เคยประกาศวางมือทางการเมือง จนกระทั่งปิดจ๊อบ ได้รับเลือกตามระบบ ควงคู่มากับ “เดชอิศม์ ขาวทอง” ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้สะท้อนชัดถึงการแสดงพลังงัดข้อกันของทั้ง 2 กลุ่ม ครั้งนี้ ขั้วอำนาจ-ผู้อาวุโส เดิมพ่ายแพ้ ตามมาด้วยการลาออกทันทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่จริงสัญญาณความแตกแยกคุกรุ่นมาตั้งแต่การแหกมติโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แล้ว

คำถามน่าสนใจว่า อะไรทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคซึ่งนักวิชาการรัฐศาสตร์มักพูดกันในตำราเรียนว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุดในประเทศไทย เดินทางมาถึงจุดที่ได้ ส.ส.เพียง 20 กว่าเก้าอี้ จาก 500 เก้าอี้ ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ตั้งพรรคมา

 

ต้องยอมรับว่ายุคแรกของความขัดแย้งการเมืองไทยรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์คือผู้เล่นหลักของขั้วความคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ถูกท้าทายด้วยการเมืองใต้รัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งมีความเป็นเสรีนิยม-ประชานิยมมากกว่า (ในขณะนั้น)

แต่การเข้ามาของทหารในการทำรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง คือปี 2549 และ 2557 กลับทำให้พลังประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแบบอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก

ภายใต้การเมืองอำนาจนิยมและเศรษฐกิจแบบผูกขาด รัฐบาลยิ่งครองอำนาจอยู่นาน การปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเพิ่มความแข็งให้พลังแบบเสรีนิยม

พรรคประชาธิปัตย์เจอกับตัวเองในตำนาน บอยคอตเลือกตั้ง-ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เมื่อปี 2552 แรงสุดคือกรณีการจัดการสลายการชุมนุมปี 2553

ครานั้น ประชาชนจึงได้ตัดสินอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ ดังปรากฏในผลการเลือกตั้ง ปี 2554 แพ้ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ขาดลอย

วิกฤตการเมืองที่ลุกลามจากปี 2556 นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 ก็ได้รับการจุดไฟจากกองทัพพรรคประชาธิปัตย์

นำมาสู่การแช่แข็งในการเมืองไทยกว่า 1 ทศวรรษ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เปิดประตู และเข้าร่วมเป็นส่วนแบ่งแชร์อำนาจในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ด้วย

ขณะที่พลังการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมมีตัวเล่นใหม่ๆ เพียบพร้อมทั้งทรัพยากรและบุคคลดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีความจำเป็นในสงครามการต่อสู้

จึงไม่ต้องแปลกใจกับผลการเลือกตั้งรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงความพ่ายแพ้ในลักษณะที่แทบจะเรียกได้ว่าล่มสลาย

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยครองตำแหน่งมาอย่างยาวนาน การเลือกตั้ง ส.ก. และที่สำคัญคือ ส.ส. ที่ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคสูญพันธุ์ไปเสีย

ส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ที่ชนะเลือกตั้งล้วนเป็น ส.ส.เขต มีลักษณะบ้านใหญ่ทางการเมืองที่รู้จักกันดีในแต่ละพื้นที่ ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้มาแค่ 3 คน

สถานะของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ จึงทำได้เพียง ยุทธศาสตร์การ “แชร์อำนาจ” ดังปรากฏในความชุลมุนช่วงตั้งรัฐบาลเศรษฐา ลามมาจนการเลือกหัวหน้าพรรคที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้เอง

และแม้จะเดินหน้าในยุทธศาสตร์แชร์อำนาจ ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่วงจรอำนาจของขั้วอำนาจเดิมได้ ด้วยเก้าอี้ที่มีส่งผลให้มีอำนาจต่อรองน้อยนิด จนถูกเรียกว่า “พรรคอะไหล่”

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน คณะผู้บริหารชุดใหม่ และ 21 ผู้แทนของพรรค ล้วนมาตามกลไก กติกาที่ถูกต้อง

 

แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังไม่หายไปไหน แต่จะลดบทบาทการต่อสู้ทางความคิด / ไร้บทบาทนำการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และจะไม่ได้เก้าอี้ทางการเมืองแบบเป็นกอบเป็นกำเช่นเดิมจากการเลือกตั้ง

พูดอย่างตรงไปตรงมา การ “เคลื่อน” มาถึงจุดนี้ของพรรคประชาธิปัตย์จากการเมืองไทยรอบหลายปีที่ผ่านมาจึงสะท้อนบทเรียนข้อหนึ่งว่า นี่คือพรรคการเมืองที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตามไม่ทันสมรภูมิการต่อสู้ทางความคิดของประชาชน สถานการณ์จึงเหมือนหลุดจากวงโคจรการเมืองไทย

แม้กลุ่ม “เลือดเก่าดั้งเดิม” จะรู้ตัว และพยายามผลักดันบทบาทของ “นิวเด็ม” ยังบลัด แต่ก็พ่ายศึกเลือกตั้งทั้งปี 2562 และ 2566

ครั้งนี้ก็เช่นกัน กับการพยายามถ่าย “เลือดเก่า” ทิ้ง และพยายามจะผลักดันเลือดใหม่ยังบลัดกันอีกครั้ง

การเกิดขึ้นของ “มาดามเดียร์” น่าสนใจ เพราะเป็นการพยายามผลักดันยังบลัดเลือดใหม่ ที่ไม่ได้ใหม่แค่ชื่อหรืออายุน้อย แต่มาดามเดียร์ มาพร้อมชุดความคิดทางการเมือง และพยายามเชิดชู “จุดยืนที่หายไป” ของพรรคสีฟ้า มากกว่าแค่การขายประชาธิปไตยสุจริต ประชาธิปไตยไม่โกง

แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเหตุเป็นผล สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทางอุดมการณ์ของพรรคนั่นเอง

วิกฤตพรรคสีฟ้าครั้งนี้จึงหนักหนาสาหัสมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา เพราะขนาดคนที่บอกว่าตัวเอง “กรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า” อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังลาออกจากพรรค

ตามมาด้วยบิ๊กล็อต แกนนำพรรคและอดีต ส.ส. ทิ้งพรรคอีกหลายคน อาทิ นายสาธิต ปิตุเตชะ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ให้เหตุผล รับไม่ได้อุดมการณ์พรรคถูกบดบังด้วยคนเฉพาะกลุ่ม

การพยายามถ่าย “เลือดใหม่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำมาตลอดหลายปีจึงไม่ประสบความสำเร็จ

ท้ายที่สุด ก็เป็นเพียงการถ่าย “เลือดเก่าดั้งเดิม” ออก “เลือดเก่ากลุ่มใหม่” เข้ามาแทน