ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา บริบทก่อนที่ไทยเข้าร่วมสงคราม | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

82 ปีที่แล้ว เมื่อเข็มนาฬิกาผ่านเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพียงไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นกองทัพเรือและกองทัพบกของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้รุกเข้าดินแดนไทยทางภาคตะวันออกและทางอ่าวไทย เกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยและยุวชนทหารกับกองทัพผู้รุกรานตามชายแดนและชายทะเลหลายแห่ง ญี่ปุ่นยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านไทยไปยังพม่าและมลายาของอังกฤษ

ในเช้าวันนั้น รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีด่วน ในที่สุดไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนตามคำขอ

จากนั้นไทยก็เข้าพัวพันกับสงครามมหาเอเชียบูรพาในครั้งนั้นเป็นเวลาหลายปี

บริบทของสภาพการณ์ที่ส่งผลกระทบให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ในเอเชียเกิดขึ้นจากการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จวบถึงทศวรรษ 2470 ประกอบกับลัทธิทหารในญี่ปุ่นเฟื่องฟูอันนำไปสู่การขยายดินแดนในเอเชียและเริ่มต้นปลุกกระแสขับไล่มหาอำนาจผิวขาวออกจากเอเชียเพื่อให้เอเชียปกครองโดยชาวเอเชียเอง (Pan Asia) (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2551, 13-20)

อีกทั้งการปฏิวัติ 2475 ที่เกิดขึ้นผนวกกับกระแสชาตินิยม (Nationalism) ที่ก่อตัวขึ้นในไทยขณะนั้นทำให้การต่างประเทศของไทยหลัง 2475 เปลี่ยนแปลงแนวทางที่ไทยเคยโอนอ่อนตามมหาอำนาจตะวันตกมาเป็นการรักษาความเป็นกลาง

ต่อมาไทยเปลี่ยนแนวทางด้านต่างประเทศมาสู่การเลือกข้าง ด้วยการเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านทัพไปยังพม่า อินเดียและมลายาเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 และติดตามด้วยการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ (25 มกราคม 2485) ในท้ายที่สุด (โทชิฮารุ โยชิกาวา, 2525; กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 2532)

การต่างประเทศไทยในช่วงนั้น หมายถึง ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐพันธมิตรกับฝ่ายอักษะนั่นเอง แม้นการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวทางด้านการต่างประเทศของไทยครั้งนี้ทำให้ไทยรอดพ้นจากหายนะจากการทำสงครามกับญี่ปุ่น

และได้ดินแดนคืนจากมหาอำนาจตะวันตกอังกฤษและฝรั่งเศส เช่น ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณของฝรั่งเศส กับกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิสของอังกฤษ (สี่รัฐมาลัย)

ตลอดจนได้ทั้งดินแดนคืนและเพิ่มทางเหนือของไทย คือ ดินแดนในรัฐฉาน (สหรัฐไทยเดิม) ของอังกฤษก็ตาม

แต่เมื่อเหตุการณ์พลิกผันไปและสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยย่อมได้รับผลร้ายจากการต่างประเทศช่วงสมัยดังกล่าวด้วย

ภาพการ์ตูนวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา

การต่างประเทศไทย
หลัง 2475-ก่อนสงคราม

การต่างประเทศของไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 จากเคยโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจตะวันตก มาสู่ความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจ ด้วยญี่ปุ่นก้าวขึ้นมามีอำนาจในเอเชีย ผนวกกับคณะราษฎรรู้สึกไม่พอใจต่อมหาอำนาจตะวันตกที่กระทำกับไทยในอดีต

เห็นได้จากไทยงดออกเสียงในการประณามญี่ปุ่นกรณีบุกแมนจูเรียในสันนิบาตชาติ (2476) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความคิดที่จะปลดปล่อยประเทศออกจากการผูกพันกับมหาอำนาจตะวันตก และไทยมีความต้องการตัดสินใจด้วยตนเอง (Iida Junzo, 1991, 229)

การต่างประเทศไทยภายหลัง 2475 เริ่มถอยห่างออกจากผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตกมาสู่การรักษาความอิสระในการตัดสินด้วยการรักษาความเป็นกลาง (2475-2484) ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจที่เริ่มปะทุตัวขึ้น ในขณะที่ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น (Edward Thadeus Flood, 1967; Junzo, 1991; ยาสุกิจิ ยาตาเบ, 2550)

ช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นปลุกเร้ากระแสชาตินิยมด้วยเผยแพร่แนวคิด “เอเชียสำหรับชาวเอเชีย” ขึ้นตั้งแต่ 2477 (Charivat Santaputra, 1985, 152) ระเบียบใหม่ของเอเชียของญี่ปุ่นมีส่วนกระตุ้นความรู้สึกกระแสชาตินิยม (Nationalism) ให้กับกลุ่มผู้นำการเมืองใหม่ของไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นอันมาก (Charnvit Kasertsiri, 1974, 58)

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจใหม่ที่ในเอเชียถูกมองเป็นสองด้าน กล่าวคือ ด้านหนึ่งเป็นลัทธิทหารที่ต้องการรุกรานดินแดนของมหาอำนาจตะวันตกในเอเชีย เช่น อินเดียและพม่าของอังกฤษ ฟิลิปปินส์ของสหรัฐ และอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจใหม่กับเก่า

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็น “ประทีปแห่งเอเชีย” (New Light of Asia) โดยผู้นำขบวนการชาตินิยมในดินแดนอาณานิคมเห็นว่าญี่ปุ่นมีฐานะเป็นผู้ปลดปล่อยให้พ้นจากลัทธิอาณานิคม ทำให้ผู้นำขบวนการชาตินิยม เช่น สุภาส จันทรโภส (อินเดีย) ซูการ์โน (อินโดนีเซีย) อองซาน (พม่า) ฯลฯ ต่างร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อปลดแอกและกู้ชาติของตน

และผู้นำไทยหลังการปฏิวัติ 2475 ก็อาจมีความคาดหวังที่ไม่แตกต่างไปจากผู้นำขบวนการชาตินิยมคนอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ตาม บทบาทของญี่ปุ่นในสงครามมีผลกระทบต่อการพังทลายลงของลัทธิอาณานิคมตะวันตกที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามในที่สุด (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2549, 274-277)

กองทหารญี่ปุ่นที่หน้าพระบรมมหาราชวังในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2481-2485) รัฐบาลของเขาช่วงก่อนสงครามโลก (2481-2484) รักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งในเอเชียระหว่างจีน-ญี่ปุ่น (2480) และจากเยอรมันบุกโปแลนด์ (2481)

เมื่อเกิดสงครามในยุโรป ไทยยังพยายามรักษาความเป็นกลางและเป็นมิตรกับทุกชาติ (สดใส ขันติวรพงศ์, 2520, 119; กอบเกื้อ, 19)

ดังเห็นจากไทยลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษและฝรั่งเศส (12 มิถุนายน 2483) และลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพต่อบูรณภาพอาณาเขตต์แห่งกันและกันกับญี่ปุ่น ณ โตเกียว (12 มิถุนายน 2483)

รวมทั้งไทยส่งคณะทูตสันถวไมตรีไปเยือนมหาอำนาจหลายประเทศ เช่น การส่งหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เยือนเครือจักรภพอังกฤษที่อินเดียและออสเตรเลีย และการแต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม ผู้นิยมอังกฤษ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 19; เพ็ญศรี ดุ๊ก, 192)

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะเปิดประตูให้ญี่ปุ่นโจมตีพม่า อินเดีย และมลายูของอังกฤษได้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นจับตามองไทยมากขึ้น (โทชิฮารุ, 2525, 1)

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น คือ การเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศสในช่วงปี 2483-2484 ไทยและฝรั่งเศสในอินโดจีนปะทะกันทางการทหารตามชายแดน

จอมพล ป.ร้องขอให้ญี่ปุ่นช่วยไกล่เกลี่ยสถานการณ์ดังกล่าว (อิชิอิ โยเนโอะ และโยชิกาวา โทชิฮารุ, 2542, 216) เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสส่งผลให้การต่างประเทศของไทยช่วงครึ่งหลังของ 2483 ถึงกลางปี 2484 นั้น ไทยเริ่มโน้มเอียงไปทางญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น (กอบเกื้อ, 49)

นับตั้งแต่กลางปี 2484 เป็นต้นมา ไทยเริ่มประจักษ์ชัดแล้วว่าบรรยากาศคุกรุ่นระหว่างมหาอำนาจเก่า อังกฤษ ฝรั่งเศส กับญี่ปุ่น-มหาอำนาจใหม่ในเอเชีย เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งอังกฤษและสหรัฐไม่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทย หากเกิดเหตุการณ์ญี่ปุ่นรุกรานไทยขึ้น

จอมพล ป.เห็นว่าญี่ปุ่นจะต้องขยายอำนาจมาทางอินโดจีนและไทยอย่างแน่นอน และไทยไม่มีศักยภาพทางการทหารเพียงพอที่จะต่อกรกับญี่ปุ่นได้ (กอบเกื้อ, 25-26)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การที่ไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่า อินเดีย และมลายานั้น ในสายตาของโยชิกาวา โทชิฮารุ นักวิชาการญี่ปุ่นเห็นว่า คือยุทธวิธีในการรับมือการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในภูมิภาคของจอมพล ป. ที่ทำให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนไหวห่างออกจากไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ (โทชิฮารุ, 14)

ทั้งนี้ เออิจิ มูราชิมา เห็นว่าในช่วงแรกญี่ปุ่นยังไม่ไว้วางใจไทยมากนักด้วยเกรงว่าจะมีการต่อต้าน แต่ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือมหาอำนาจตะวันตกในภูมิภาคทำให้ไทยมีความมั่นใจมากขึ้นจนนำไปสู่การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรของไทย (2485) ด้วยไทยหวังว่าจะได้ประโยชน์จากสภาพสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตกเป็นรอง เช่น การเรียกร้องดินแดนที่ไทยเสียไปคืน และไทยพยายามแสดงความเป็นรัฐอิสระที่ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติญี่ปุ่น

แต่ยิ่งผ่านไปนานเข้า ญี่ปุ่นกลับเรียกร้องทางเศรษฐกิจต่อไทยมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ที่ยุทธภูมิกัวดัลคาเนล (2486) ส่งผลให้ไทยเริ่มหันเข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร

ในช่วงปลายสงครามญี่ปุ่นและไทยมีความระแวงกันมากจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ราบรื่นจวบจนสงครามสิ้นสุดลง (มูราชิมา, 2558, 6-16)

ภาพการ์ตูนสะท้อนบทบาทของญี่ปุ่นในกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทย-ฝรั่งเศส