ประเมินความเชื่อมั่นพึงพอใจตำรวจ พบคนยังหวาดกลัวอาชญากรรม แนะปราบภัยไซเบอร์ก่อนเป็นเหยื่อ

รายงานผลการศึกษาโครงการประเมินผลความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2566

คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา รศ.ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ รศ.พ.ต.ต.ดร.ชวนัสถ์ เจนการ สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดูเหมือนสร้างความพึงพอใจให้เหล่าบรรดาบิ๊กสีกากี เพราะผลประเมินออกมาดีกว่าที่ผ่านมา

การประชุมบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สัญจร ที่ภาค 5 เมื่อวันก่อน ที่ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุม ได้มีการรายงานประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 ตร. โดยมี รอง ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้บัญชาการหน่วยต่างๆ เข้าร่วม แจ้งผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ

พบว่าความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนลดลง และจุดแข็งในการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น ตลอดจนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนสถานีตำรวจและนอกสถานีตำรวจ

 

งานวิจัยได้ใช้แบบสอบถามความเชื่อมั่นและความพึงพอใจกลุ่มตัวอย่าง 6 ชุด สํารวจ ความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชน พนักงานสอบสวน ผู้เสียหาย พยาน และผู้ต้องหา ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ จํานวน 13,941 คน จากสถานีตํารวจ 90 แห่งใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ

ตัวชี้วัดใช้มาตรวัด 1 (น้อยที่สุด) ถึง 4 (มากที่สุด)

ผลการศึกษานี้พบว่า ภาพรวม สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.80 คิดเป็นร้อยละ 59.90 สําหรับตัวชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตํารวจในการตั้งจุดตรวจ ในภาพรวมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ

สําหรับความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.23 คิดเป็นร้อยละ 41.13

ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.33 คิดเป็นร้อยละ 77.80

ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ (ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการบริการ) ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.92 คิดเป็นร้อยละ 64.06

ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ (ด้านอํานวยความยุติธรรม) ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.91 คิดเป็นร้อยละ 63.67

ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการอํานวยความยุติธรรมทางอาญาของตํารวจ (ด้านการบริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม) ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.18 คิดเป็นร้อยละ 72.75

สําหรับตัวชี้วัดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนในพื้นที่โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.23 คิดเป็นร้อยละ 41.13

ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.83 คิดเป็นร้อยละ 60.85

ความพึงพอใจของชุมชนและภาคีเครือข่ายต่อการเข้ามามีส่วนร่วม ในกิจการตํารวจ ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.24 คิดเป็นร้อยละ 74.64

ความเชื่อมั่นของพนักงานสอบสวนและประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่งานตรวจพิสูจน์หลักฐานและงานทะเบียนประวัติอาชญากร ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.84 คิดเป็นร้อยละ 61.08

และได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 2.78 คิดเป็นร้อยละ 59.37 สําหรับความพึงพอใจของผู้เสียหาย พยาน และผู้ต้องหา ต่อการดําเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมของตํารวจ

 

โฟกัสเฉพาะหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน และความหวาดกลัวอาชญากรรมของประชาชนในพื้นที่โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ที่ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากัน คือ 2.23

ในความหวาดกลัวอาชญากรรมของประชาชน มีประเด็นที่ได้ค่าค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ บ้านหรือที่พักอาศัย ขณะไม่มีคนอยู่บ้าน พบมีหวาดกลัวว่าจะถูกขโมยทรัพย์สินในเวลากลางคืน มีค่าคะแนนเฉลี่ย 2.43 คิดเป็นร้อยละ 47.67 และประเด็นที่ค่าคะแนนเฉลี่ยตํ่าสุด คือ ขณะอยู่บ้านหรือที่พักอาศัยตามลําพัง มีความหวาดกลัวว่าจะถูกข่มขืน ถูกกระทําอนาจารในเวลากลางวัน มีค่าคะแนนเฉลี่ย 2.05 คิดเป็นร้อยละ 35.00

ผู้วิจัยได้อภิปรายผลว่า ประชาชนมีความหวาดกลัวว่าจะถูกขโมยทรัพย์สินในเวลากลางคืนมากที่สุด สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทําให้อัตราการลักขโมยทรัพย์สิน มีมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนมีความหวาดกลัวในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ หรืออาชญากรรมทางเทคโนโลยีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับความหวาดกลัวภัยจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมโดยทั่วไป และประเด็นความรู้สึกหวาดกลัวภัยจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในย่านที่พักอาศัย สะท้อนให้เห็นถึงความสําคัญของการป้องกันและปราบปรามความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทําผิดอย่างรวดเร็ว

ในประเด็นเกี่ยวกับความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน พบว่า สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 41.13 ซึ่งเกณฑ์การประเมินตามแผนปฏิบัติราชการ ประจําปีงบประมาณ 2566 คือ 40

ซึ่งแม้จะไม่บรรลุตามเป้าหมาย แต่หากสํานักงานตํารวจแห่งชาติรักษามาตรฐานการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และให้ความสําคัญกับการป้องกันและปราบปรามความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ในปีงบประมาณต่อไป ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนก็จะมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนในพื้นที่โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 มีค่าคะแนนเฉลี่ยในประเด็นนี้ไม่แตกต่างจากค่าคะแนนเฉลี่ยความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนในภาพรวม

จึงสามารถอนุมานได้ว่า โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ไม่ได้ส่งผลในการลดระดับความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน

เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาที่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปปรับปรุงในการทำงานเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น