‘เศรษฐา’ คิกออฟ แก้หนี้ทั้งระบบ จบใน 4 ปี รัฐบาลเพื่อไทย

มาตรการเชิงรุกแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และองคาพยพพรรคเพื่อไทย คือการเดินตามแผนการหาเสียงเลือกตั้งก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ด้วยแคมเปญ “คืนความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชน” กำลังขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะในอีก 7 เดือนต่อมา “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ลุยไฟแก้หนี้ ทั้งนอกระบบ และหนี้ในระบบ

เพียงแค่ 11 วันของการแก้หนี้นอกระบบ มีการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบให้รัฐบาลสะสาง กว่า 4,500 ล้านบาท จากลูกหนี้ที่มาลงทะเบียน 8.6 หมื่นราย

คาดว่ากว่าจะปิดโครงการในเดือนมีนาคม 2567 จะมีประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนกว่า 1 ล้านราย

 

ถัดจากการแก้หนี้ในระบบ รัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าแก้หนี้ในระบบทั้งระบบ ที่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่กว่า 16 ล้านล้านบาท สัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพีประเทศ

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และการดูแลหนี้ในระบบ วันนี้เราไม่สามารถปล่อยให้ลูกหนี้ประสบปัญหาเพียงลำพัง ถึงเวลาที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาหนี้ทุกคนให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเศรษฐกิจที่แข็งแรง” นายกฯ เศรษฐากล่าว

สำหรับลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา ครอบคลุมลูกหนี้ 5 ล้านคน 12 ล้านบัญชี แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีวิธีการแก้หนี้ต่างกัน

1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มที่มีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้

จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

ลูกหนี้รายย่อยประมาณ 1.1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่ง ติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป

ลูกหนี้ SMEs จำนวน 1 แสนราย หรือ 99% ของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ จะช่วยเหลือโดยสถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

2. กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ เช่น กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต

แยกเป็นกลุ่ม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

เศรษฐายกตัวอย่างว่า คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาปัจจุบันมีกว่า 900,000 ราย ที่ประสบปัญหาหนี้สิน ผมขอชื่นชมธนาคารออมสินที่ได้มีโครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ โอนหนี้มารวมไว้ที่สหกรณ์ แล้วให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษให้กับลูกหนี้ ถือว่าช่วยลดภาระให้ลูกหนี้เหล่านี้มีพื้นที่หายใจได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น หากหน่วยงานอื่นๆ พบว่า ข้าราชการในสังกัดกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ขอให้ปรึกษาหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อขอสินเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ก็ได้

แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

แนวทางที่สาม คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

ส่วนลูกหนี้บัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ และสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็น “หนี้เสีย” สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้

สำหรับหนี้บัตรเครดิตมีมูลหนี้ 5.4 แสนล้านบาท แต่เป็นหนี้ที่กำลังมีปัญหา 6.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1.1 ล้านใบ

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ย จากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น

โดยผู้มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ผ่านเว็บ debtclinicbysam.com

 

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย

สำหรับลูกหนี้ กยศ. ซึ่งบางส่วนไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษา กยศ.ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ กยศ.ได้กว่า 2.3 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น ในกรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และกรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลดหากลูกหนี้สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ สคบ. อยู่ระหว่างการปรับแนวทางกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ลดความเสี่ยงเชิงระบบ และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมต่อไป

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น

คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

 

เศรษฐาบอกว่า มาตรการที่คลอดมา เป็นเพียงการ “แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ” และ “ในระยะเร่งด่วน”

แต่ในระยะยาว ควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ

เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และกำหนดให้การผ่อนชำระสินเชื่อ ต้องให้ผู้กู้ยืมมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

รวมถึงใช้ประวัติการชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ มาพิจารณาการให้สินเชื่อ

รัฐบาลเพื่อไทย เดิมพันกับการแก้หนี้ใน-นอกระบบ เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญตั้งเป้าให้จบภายใน 4 ปีรัฐบาล