พระสุริยเทพ : เทวะอันเป็นที่นับถือทั่วสากลตลอดจนถึง ‘ศรีเทพ’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เช้าวันที่ผมจะเขียนบทความนี้ ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งได้โทรศัพท์มาคุยเรื่องพระสุริยเทพและถามถึงบทความเก่าๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่าท่านคงจะนำไปเป็นข้อมูลสำหรับบทความเกี่ยวกับ “ศรีเทพ” ดังนั้น ผมคิดว่าไหนๆ ก็ควรเขียนเรื่องพระสุริยเทพเท่าที่พอจะมีข้อมูลบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านและผู้อ่านเสียเลย

จึงต้องขอแทรกซีรีส์บทความ “ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ” ตอนจบอีกสักครั้ง มิฉะนั้นจะลืมข้อมูลที่ค้นไว้เสียก่อน

ต้องขออภัยด้วยครับ

 

ในบรรดาเทพเจ้าอันเกิดแต่ธรรมชาตินั้น สุริยเทพหรือพระอาทิตย์ จัดเป็น “สากลเทพ” คือเป็นที่นิยมนับถือแพร่หลาย โดยเฉพาะในศาสนาโบราณที่สืบเนื่องมาถึงศาสนาปัจจุบัน

หากถามว่าเป็นเพราะเหตุใด เพียงท่านแหงนหน้าขึ้นฟ้าในเวลากลางวัน ดวงอาทิตย์เองก็เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จในตัว ดวงอาทิตย์มอบแสงสว่าง ความอบอุ่น (ร้อน) ทำให้ชีวิตทั้งหลายก่อกำเนิดและดำรงอยู่ได้ พืชพรรณสังเคราะห์แสงและเติบโต ส่ำสัตว์ก็ได้กินพืชผลเหล่านั้นยังชีพ หากไร้ซึ่งดวงอาทิตย์ ทุกสิ่งก็จะตายลงในที่สุด ไม่มีทั้งชีวิต ไม่มีทั้งกลางวันกลางคืน

วงโคจรของดวงอาทิตย์ยังก่อให้เกิดฤดูและอุตุปักษ์ ซึ่งในสังคมเกษตรบุพกาลสิ่งนี้ช่วยให้ชาวนาชาวไร่รู้เวลาเพาะปลูกหว่านไถและเก็บเกี่ยว พระอาทิตย์จึงเป็นเทพที่สำคัญอย่างยิ่งในทุกวัฒนธรรมเกษตรก็ว่าได้

เพียงแต่เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น เทพเจ้าอื่นๆ ก็อาจมีบทบาทขึ้นมาแทน กระนั้นความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอาทิตย์ก็มิได้หายไปไหน

 

จําเพาะฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู พระอาทิตย์หรือพระสุริยเทพ (สูรฺย) จัดอยู่ในกลุ่มเทพเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทของพราหมณ์ (3,500 ปีโดยประมาณ) และเป็นเทพเจ้าที่สำคัญยิ่งของพวกอารยัน

พระองค์เป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต สติปัญญาและทิพยภาวะ และบางครั้งยังถูกนับถือเป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ก็เช่นเดียวกับเทพเจ้าทุกองค์ของฮินดู สุริยเทพเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนเทวตำนาน ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าองค์อื่นๆ ถูกหยิบยืมคุณสมบัติตลอดจนถูกลดบทบาทเป็นเทพชั้นรอง

สุริยเทพในสมัยพระเวทมีหลายองค์หรืออาจเรียกว่าเป็นกลุ่มคณะอาทิตยเทพ (Solar deities) และมีพระนามต่างกัน ซึ่งที่จริงอาจหมายถึง “แง่มุม” ต่างๆ เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ซึ่งโดยมากเกี่ยวข้องกับความสว่าง เช่น พระสาวิตฤ พระมิตระ พระอาทิตย์ พระปูษัน พระวิวัสวันต์ พระมรีจิ ฯลฯ แต่ในสมัยหลังมักถือว่าเป็นเพียงพระนามที่ต่างกันเท่านั้น

บทสวดภาวนาถึงพระสาวิตฤซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ในสมัยพระเวท นับเป็นบทสวดที่ชาวฮินดูโดยเฉพาะผู้สวมสายยัชโญปวีตจะสวดประจำวัน สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ รู้จักกันในชื่อ “คายตรีมนต์” (คายตรีเป็นชื่อฉันท์ และได้ถูกยกเป็นเทพอีกองค์) ถือเป็นมนต์ที่สำคัญมากที่สุดมนต์หนึ่งในศาสนาฮินดู

นอกจากนี้ สุริยเทพยังถูกนำไปเกี่ยวข้องกับเทพอื่นๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มบรรดาเทพที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น พระอัคนี พระวายุ พระวรุณ ฯลฯ โดยถือว่า พระสุริยเทพเป็นหนึ่งในกลุ่มเทวะเหล่านี้ และอีกกลุ่มคือ “พระวิษณุ” ซึ่งในสมัยพระเวทมีความเกี่ยวข้องกันในฐานะอาทิตยคณะเทพกลุ่มหนึ่ง จนปรากฏมีพระนาม “สูรยนารายณ์” (พระนารายณ์ในฐานะสุริยเทพ) ยังคงกราบไหว้กันในทุก “สงกรานต์” (สังกรานติ หรือพระอาทิตย์ย้ายราศี)

เมื่อศังกราจารย์สถาปนานิกายสมารตะ (ตกราว ค.ศ.ที่ 5-6) ได้จัดวิธีการบูชาเทพเสียใหม่ โดยรวมเอาเทพเจ้าในแต่ละนิกายหลักของฮินดูมากราบไหว้ด้วยกันเป็นจำนวนห้าพระองค์ เรียกว่า “ปัญจายตนเทวตา” พระสุริยเทพก็ถูกจัดเข้าในกลุ่มนี้ร่วมกับพระคเณศ เทวี พระนารายณ์ และพระศิวะ

ดังนั้น ในนิกายที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ พระสุริยเทพก็ย่อมได้รับการบูชาในรูปสูรยนารายณ์ หรือในฐานะเทพชั้นรอง ส่วนในนิกายสมารตะซึ่งมีอิทธิพลมาก ก็ย่อมเป็นหนึ่งในเทพห้าองค์หลักของการบูชาร่วมกัน

 

ที่จริงความสำคัญของพระสุริยเทพยังมีอีกหลายแง่มุม อย่างแรก พระอาทิตย์หรือสุริยเทพมี “นิกาย” ของตนเอง เรียกว่า นิกาย “เสาระ” นับถือพระองค์เป็นเทพสูงสุด โดยปรากฏโบราณสถานหลายแห่งในอินเดียที่สร้างอุทิศถวายแด่พระสุริยเทพโดยเฉพาะ เช่น โกณารกะเทวาลัย (Konarka temple) อันมีชื่อเสียงในแคว้นโอริสสา

เสาระนิกายแพร่หลายมากในอินเดียเหนือ รวมไปถึงฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเพราะเป็นพื้นที่ที่รับวัฒนธรรมการนับถือสุริยเทพจากภายนอกอินเดียได้ง่าย เช่น จากเปอร์เซียหรือเอเชียกลาง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

อย่างที่สอง พระสุริยเทพยังเป็นเทวะที่มีบทบาทในทางดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ด้วย พระอาทิตย์ถูกกล่าวถึงในฐานะศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล และอยู่ในฐานะประธานมณฑลแห่งดวงดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า รวมทั้งการโคจรของพระอาทิตย์ไปตามระบบจักรราศีต่างๆ ก่อให้เกิดฤดูกาลและเชื่อว่าจะส่งผลต่อชะตาของผู้คนและบ้านเมือง

นอกจากนี้ บางครั้งพระอาทิตย์ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเทพทิคปาลหรือเทพประจำทิศ สถิตในทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ส่วนใหญ่หลายตำราจะระบุเป็นพระนิฤตติ)

 

ในทางการเมืองการปกครอง พระอาทิตย์ถูกอ้างถึงในตำนานวงศ์กษัตริย์ว่าเป็นต้นแห่ง “สุริยวงศ์” ซึ่งเริ่มจากพระราชาอิกษวากุ โดยมีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้คือ “พระราม”

ขณะที่พระกฤษณะ (ซึ่งมักได้รับการบูชาคู่กับพระราม) กลับเกิดใน “ยฑุวงศ์” ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ “จันทรวงศ์” หรือวงศ์แห่งพระจันทร์

นอกจากเหล่าวงศ์กษัตริย์ฮินดู บรรดาพระศาสดาในศาสนาสำคัญของอินเดีย (ซึ่งเคยเป็นกษัตริย์) ล้วนอ้างว่าสืบสายมาจากสุริยวงศ์ทั้งสิ้น พระราชาโอกกากราช บรรพชนของเจ้าชายสิทธัตถะที่จริงคือพระราชาอิกษวากุตามตำนาน (คำว่าโอกกากะ เป็นบาลี) ฝ่ายศาสนาไชนะก็อ้างว่าพระราชาอิกษวากุได้ออกบวชเป็นพระตีรถังกรพระองค์แรก (ฤษภนาถ) ของศาสนา

สุริยเทพจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรและการสืบทอดอำนาจราชวงศ์จากพระสุริยเทพอันไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ได้มีเพียงอินเดียที่อ้างเช่นนั้น แต่อาณาจักรอื่นๆ ก็มักอ้าง หรือเชื่อมโยงไปสู่สุริยเทพคล้ายๆ กัน เช่น ญี่ปุ่น และจีน

 

อันที่จริงความสำคัญอีกอย่างซึ่งปรากฏในศรีเทพของเราด้วย คือสุริยเทพมักมีสัญลักษณ์และตำนานที่สะท้อนความเป็นนานาชาติ

เทวรูปพระสุริยะที่พบในศรีเทพมีพระพักตร์อย่างคนเอเชียกลางหรือตะวันออกกลาง ไม่ใช่รูปอุดมคติอย่างอินเดีย มีดวงตาปูดโปน เคราหยักศก ที่สำคัญยังมีร่องรอยของสายรัดเอว ซึ่งอาจเป็นสาย “อวยังคะ” และอาจสวมรองเท้าบู๊ต หรือรองเท้าหนังยาว (สันสกฤตเรียกว่า อุปนห์ หรือ อุปนัต) เหมือนกับเทวรูปพระสุริยเทพยุคแรกๆ ของอินเดีย ทว่า แตกหักไปไม่ปรากฏ

ทั้งที่เป็นเทพฮินดู แต่พระสุริยเทพยังมีสัญลักษณ์แปลกๆ อื่นอีก เช่น สวมสายอวยังคะหรือกุฏฏิ อันเป็นสายเชือกในเชิงพิธีกรรมของศาสนาโซโรอัสเตอร์ (บูชาไฟหรือแสงสว่าง) โดยผูกไว้ที่เอวเหมือนเข็มขัดเมื่อเด็กชายและหญิงผ่านพิธีรับเข้าศาสนาแล้ว (เช่นเดียวกับสายยัชโญปวีตของพราหมณ์) แสดงถึงความบริสุทธิ์สะอาด สวมรองเท้าบู๊ต (ซึ่งน่าจะเริ่มในสมัยกุษาณะ) บางครั้งก็สวมเสื้อตัวนอกแขนกุดเหมือนแจ๊กเก็ต

คัมภีร์พฤหัตสัมหิตาซึ่งเป็นคัมภีร์โหราศาสตร์ ก็กล่าวว่า เทวรูปพระสุริยเทพพึงแต่งกายอย่าง “ชาวเหนือ”

ในคัมภีร์สัมพะปุราณะเล่าว่า พระสัมพะบุตรของพระกฤษณะได้สถาปนาเทวาลัยสุริยเทพขึ้น (มารตัณฑะเทวาลัย) เพราะพระองค์ได้รับคำแนะนำให้บูชาสุริยเทพเพื่อจะพ้นจากโรคเรื้อน (เกิดจากคำสาป) แล้วทรงนำพวกพราหมณ์มคะ (maga) จากศากทวีป (shaka dvipa) มาประจำเทวาลัย พวกพราหมณ์มาคะสวมอวยังคะ สวดงึมงำ และเล่าว่าเทวรูปสุริยเทพก็มาจากศากทวีปด้วยเช่นกัน

มีผู้สันนิษฐานว่าพวกพราหมณ์มคะนี้น่าจะเป็นมาคี (magi) หรือพระของศาสนาโซโรอัสเตอร์โบราณ

 

ผมไม่ทราบว่า ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นจะพอช่วยตอบคำถามว่า เหตุใดศรีเทพจึงค้นพบเทวรูปพระสุริยเทพจำนวนมากและมีลักษณะพิเศษ (แม้แต่ในอินเดีย หน้าตาแบบแขกอิหร่านแบบบ้านเราก็หาได้ยาก) ท่านอาจจะมาพร้อมกันกับพระกฤษณะ (ตามอิทธิพลสัมพะปุราณะและไวษณวะนิกาย) รึเปล่า หรือจะมาพ่วงกันกับเทพอื่นๆ หรือจะเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ผมก็มิทราบได้

ผมยังนึกได้อีกว่า เมืองจีนเองก็มีการนับถือสุริยเทพแบบพื้นบ้าน ด้วยอิทธิพลของศาสนามาณีจากเอเชียกลางตั้งแต่สมัยถัง และหากศรีเทพได้รับอิทธิพลจากจีนด้วย เรื่องนี้ก็ยิ่งน่าสนุกไปใหญ่

แต่ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับศรีเทพครับ จึงขอเสนอแค่เรื่องสุริยเทพเอาไว้

เท่าที่สติปัญญาจะพอมี •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง