อัฐิบรรพบุรุษ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อวานผมเพิ่งอ่าน Facebook และได้พบความเห็นของท่านผู้หนึ่งซึ่งนัยว่ามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องฮวงจุ้ย อันเป็นความเชื่อส่วนบุคคลและมีทางดำเนินเบื้องต้นมาจากประเทศจีน

ท่านผู้นั้นอธิบายให้ความเห็นว่า ไม่ควรเก็บอัฐิหรือกระดูกของบรรพบุรุษไว้ในบ้าน เนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่ของคน มิหนำซ้ำอัฐิหรือกระดูกที่นำมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านยังอาจปนเปื้อนด้วยกระดูกหรือเถ้าอัฐิของคนอื่นอีกด้วยในเวลาเก็บมาจากวัด

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ไม่เป็นมงคลสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้เป็นลูกหลานทั้งสิ้น

เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ เพื่อจะได้ไม่ต้องเถียงกันยาว เรามาสรุปไว้ตรงบรรทัดนี้เลยก็แล้วกันว่า ใครอยากเชื่ออย่างไรก็ทำอย่างนั้น จะได้ไม่ต้องตีกัน

ตกลงนะครับ

 

แต่ไหนๆ เมื่อพูดกันถึงเรื่องการเก็บอัฐิไว้เป็นที่เคารพบูชาของลูกหลานแล้ว เรามาคุยกันถึงเรื่องนี้ต่อไปอีกสักนิดดีไหม

ในส่วนครอบครัวของผมเองทั้งข้างฝ่ายพ่อและแม่ แต่เดิมมามีธรรมเนียมการนำอัฐิของบรรพบุรุษไปเก็บรักษาไว้ที่วัดต่างๆ โดยบรรจุไว้ที่ฐานพระ

เช่น ครอบครัวของแม่ได้นำอัฐิของบรรพบุรุษเหนือชั้นกว่าแม่ขึ้นไปอีกสี่ชั้น ไปบรรจุไว้ที่ฐานพระพุทธรูปในระเบียงคดวัดโสมนัสราชวรวิหาร

แรกทีเดียวก็บรรจุอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปเพียงหนึ่งองค์ ต่อมาสมาชิกในครอบครัวมีจำนวนแน่นเกินพื้นที่แล้ว ก็ต้องขยับขยายไปอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก

เวลาบำเพ็ญกุศลประจำปี ก็ใช้วิธีโยงสายสิญจน์เชื่อมเข้าหากันแล้วบังสุกุล

ส่วนข้างพ่อผมนั้น เดิมทีเดียวคุณย่าเก็บรักษาอัฐิของคุณปู่และบรรพบุรุษท่านอื่นอยู่ที่บ้าน ครั้นเมื่อท่านอายุมากขึ้น ท่านดำริว่าต่อไปลูกหลานจะรักษาธรรมเนียมอย่างนี้ได้ยาก ท่านจึงเป็นผู้นำเชิญอัฐิของคุณปู่และผู้อื่นไปบรรจุอยู่ห้องชั้นล่าง ของอุโบสถวัดตำหนักใต้ ตรงตำแหน่งกับฐานพระประธานพอดี

ด้วยวิธีนี้ผู้ที่กราบพระอยู่ที่ชั้นบนของอุโบสถก็ไม่ต้องตะขิดตะขวงใจว่ากราบพระแล้วต้องแถมกราบบรรพบุรุษของผมไปด้วย เพราะอยู่คนละระนาบระดับกัน

ครั้นมาถึงครอบครัวของผมเองโดยตรงบ้าง พ่อกับแม่ได้เอ่ยวาจาไว้ชัดแจ้งว่าเมื่อถึงคราวพ่อกับแม่ไม่อยู่แล้ว ให้นำอัฐิและอังคารของพ่อแม่ไปลอยน้ำเสียทั้งหมด

หากนึกถึงกันจะบำเพ็ญกุศลให้แก่กันเมื่อไหร่ก็ทำได้หลายวิธี เช่น ถ้าจะบังสุกุลก็ใช้กระดาษเขียนชื่อหรือใช้รูปของท่านทั้งสองเป็นเครื่องหมายแทนก็ได้

และเมื่อถึงคราวเข้าจริงๆ ผมกับน้องชายก็ได้ทำตามที่ท่านกำหนดแนวทางไว้ทุกประการ

 

ที่เกริ่นมานี้เพื่อจะสรุปความว่า ตามธรรมเนียมบ้านเมืองไทยเราแล้ว เราอาจเลือกปฏิบัติกับอัฐิของบรรพบุรุษบุพการีได้เป็นสามอย่าง

อย่างที่หนึ่ง คือเก็บรักษาไว้ที่บ้านเรือนของตัวเอง

อย่างที่สอง นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดโดยบรรจุหรือฝากฝังไว้ตามที่ต่างๆ ที่วัดยินยอมอนุญาต

และอย่างที่สาม คือการนำไปลอยน้ำเสีย เป็นอันหมดกังวล

ตามความเข้าใจของผม ถ้าย้อนหลังขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยา ประเพณีชาวบ้านชาวเมืองปกติจะทำอย่างไรผมไม่มีหลักฐานแน่นอน

แต่ทราบชัดว่าสำหรับพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาแล้วย่อมนำพระอัฐิไปประดิษฐานหรือรักษาไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นวัดสำหรับพระบรมมหาราชวังเหมือนวัดพระแก้วของกรุงเทพฯ

ดังนั้น ถ้าเราไปเยี่ยมชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงเก่า ย่อมสังเกตเห็นว่ามีเจดีย์หรือฐานเจดีย์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวสามองค์ที่ตั้งเรียงกันอยู่บนฐานสูงตรงกลางวัด ก็เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต่อมาอีกสององค์

บริเวณโดยรอบวัดก็มีพระวิหารน้อยสร้างสลับกับพระเจดีย์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระวิหารสำหรับประกอบพิธีบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายเจ้านายที่มีพระอัฐิบรรจุอยู่ในพระเจดีย์ใกล้เคียงกันนั้นเอง

 

เมื่อมาถึงคราวเสียกรุงพุทธศักราช 2310 ทุกอย่างก็อันตรธานหายไปในพริบตา

พระอัฐิซึ่งแน่นอนว่าต้องประดิษฐานอยู่ในพระโกศที่สร้างและประดับประดาด้วยทองคำและอัญมณีสวยงามจะถูกใครพาไปไหนแล้วไม่มีใครรู้ได้ และพระอัฐิจะถูกทอดทิ้งหรือเททิ้งอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครรู้อีกเหมือนกัน

ถ้านึกเดาต่อไปว่า ธรรมเนียมชาวบ้านก็น่าจะอนุโลมเหมือนกับธรรมเนียมของหลวง เสียกรุงคราวนั้นเป็นเวลาฉุกละหุก ขณะหลบหนีเอาชีวิตรอดย่อมไม่มีใครมีความสามารถและเวลาเพียงพอที่จะไปนำกระดูกของปู่ย่าตายายติดตัวไปได้ เป็นอันว่าต้องทิ้งไว้เบื้องหลังเหมือนกันทั้งนั้น

นี่เอง ข้อมูลในทางประวัติศาสตร์จึงกล่าวตรงกันหลายแห่งว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเมื่อพุทธศักราช 2325 การศึกสงครามยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากสงครามเก้าทัพที่ติดตามมาในเวลาอีกไม่กี่ปีภายหลังจากนั้น

จึงมีพระราชปรารภว่า แบบธรรมเนียมการเก็บรักษาอัฐิของบรรพบุรุษไว้ตามวัดวาอารามต่างๆ มีข้อเสียข้อจำกัด ว่าเมื่อบ้านเมืองเป็นจลาจลแล้วลูกหลานไม่สามารถเก็บรักษากระดูกของบรรพบุรุษไว้ได้

ดังนั้น เมื่อทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น ในส่วนที่เป็นพระราชมณเฑียรสถานคือที่ประทับส่วนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างหอน้อยขึ้นสองหลัง หลังด้านทิศตะวันออก ชื่อหอพระสุราลัยพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อทรงสักการบูชาเป็นประจำ อย่างชาวบ้านทั่วไปย่อมมีห้องพระไว้ประจำบ้าน

ส่วนหลังทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิของพระบรมราชบุพการีและพระญาติพระวงศ์ทั้งปวง

ทั้งนี้ ด้วยความไม่ประมาทพระทัย ฉวยว่าเกิดศึกเหนือเสือใต้ขึ้นมาเมื่อใด จะได้ทรงเชิญพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิเหล่านั้นรอดพ้นภัยไปได้

 

ผมเข้าใจว่าพระบรมอัฐิแรกที่ได้ประดิษฐานอยู่ที่หอพระธาตุมณเฑียรแห่งนี้ คือพระบรมอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

กล่าวอย่างง่าย คือพระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อคราวเสียกรุง ได้เสด็จขึ้นไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกพร้อมด้วยพระอนุชาของในหลวงรัชกาลที่หนึ่งอีกหนึ่งพระองค์ ปรากฏพระนามภายหลังว่า เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไปสวรรคตที่เมืองพิษณุโลกนั้น เจ้าฟ้าลาได้จัดการถวายพระเพลิงและรักษาพระบรมอัฐิไว้

จนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว จึงเชิญพระบรมอัฐิซึ่งเก็บรักษาไว้ มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระเมรุใหญ่สนองพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเชิญพระบรมอัฐิออกถวายพระเพลิง จบงานแล้วก็รักษาพระบรมอัฐิไว้ที่หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง

หอพระธาตุมณเฑียรได้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิของเจ้านายมาจนถึงรัชกาลที่ห้า จำนวนพระบรมอัฐิและพระอัฐิมีเพิ่มมากขึ้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 2425 ที่บนชั้นสามของพระที่นั่งซึ่งมีพื้นที่ว่างพอสมควร

จึงโปรดให้สร้างพระวิมานขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิของเจ้านายที่สวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ภายหลัง และยังได้ใช้ในราชการสืบมาจนทุกวันนี้

 

สมควรกล่าวเพิ่มเติมให้สิ้นกระแสด้วยว่า นอกจากหอพระธาตุมณเฑียร และหอพระอัฐิที่บนชั้นสามของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว ยังมีแบบธรรมเนียมเกี่ยวกับพระอัฐิอีกอย่างหนึ่ง

คือ ภายในบริเวณวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีอาคารขนาดกลางหลังหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของบริเวณวัดมีนามว่า หอพระนาก

เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระอัฐิเจ้านายวังหน้า คือฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลทุกพระองค์

ถ้าเราติดตามดูข่าวในพระราชสำนักเป็นประจำ จะเห็นว่าในวันพระราชพิธีสงกรานต์ซึ่งกำหนดในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี จะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลช่วงเช้าในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มีการสดับปกรณ์และสรงพระบรมอัฐิ พระอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหลวง เป็นการจบการพระราชพิธีไปขั้นตอนหนึ่ง

เวลาบ่าย โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์ไปสรงพระพุทธรูปสำคัญในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ และสรงพระบรมอัฐิและพระอัฐิเจ้านายวังหน้า ที่หอพระนากด้วย

 

หากย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรกของข้อเขียนของผมในวันนี้ ท่านจะพบว่าผมได้เกริ่นกล่าวแล้วว่า ความคิดที่บอกว่าไม่ควรเก็บอัฐิของบรรพบุรุษไว้กับบ้านเรือน เป็นความเชื่อตามธรรมเนียมจีน เพราะจีนนั้นเขาไม่เผาศพ หากแต่ใช้วิธีฝังศพดังที่เรารู้กันอยู่แล้ว ภายในบ้านเรือนซึ่งเป็นที่อยู่ของลูกหลานจึงเป็นไปไม่ได้อยู่เองที่จะมีกระดูกของบรรพบุรุษมาเก็บรักษาไว้

มีก็แต่เพียงการทำป้ายชื่อของบรรพบุรุษประดิษฐานบนหิ้งในบ้านไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้ ถึงเวลาตรุษจีนก็มีพิธีเซ่นป้ายนั้นเป็นมงคลตอนเริ่มต้นปี ส่วนการไปเคารพศพที่ฮวงซุ้ยก็แยกไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งและต่างเทศกาลกัน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่าไม่ต้องทะเลาะกันครับ ใครชอบแบบไหนเชื่อแบบไหนก็ทำแบบนั้น

ถ้าเราคิดอย่างนี้ได้ อีกหลายเรื่องที่กำลังทะเลาะกัน หรือมีความเห็นต่างกันอยู่ในบ้านเมืองก็สบายครับ

อย่าไปคิดว่าเราถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมด

คิดแบบนั้นแล้วเหนื่อยจังเลย