Skipping Culture จาก TikTok ถึง Spotify ทำให้ ‘เพลงยุคใหม่’ สั้นลงเรื่อยๆ

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

แม้ว่า “แกรมมี่” จะไม่ได้ประกาศตรงๆ ว่าการเปิดค่าย GMM SAUCE ผลิตเพลงความยาว 55 วินาที เพื่อตอบสนองความเฟื่องฟูของ TikTok

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยาวของเพลงยุคใหม่กำลังหดสั้นลงเรื่อยๆ ผ่านอิทธิพลของ TikTok ที่มียอดผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคนต่อเดือน

เพราะนอกจาก TikTok ยังมี Shorts ของ YouTube ยังมี Reels ของ Intagram และ Facebook ที่ขับเคลื่อน Content สั้น

และแน่นอน “เพลงสั้น”

 

อันที่จริง ข้อจำกัดของการ “ทำเพลงให้สั้น” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุค TikTok แต่มีวิวัฒนาการมานานแล้ว จากเหตุผลทางเทคโนโลยี และธุรกิจ

ในเชิงธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงหรือดนตรีคือพาณิชย์ศิลป์ยุคปัจจุบัน ต่างจากในยุคโบราณที่เพลงเป็นศิลปะบันเทิง และเป็นบริการสาธารณะ

เห็นได้จากสถานีวิทยุในยุคแรก จะมีศิลปินมาบรรเลงเพลงให้ฟังที่สถานี และถ่ายทอดสด ผู้ดำเนินรายการที่มีชื่อเสียงนอกจากพูดเก่ง ยังมีจิตอาสา

จนกระทั่งแผ่นเสียงทรงกระบอกได้ปรากฏตัวขึ้น เพื่อบันทึกเสียงเพลงเล่นซ้ำได้ไม่รู้จบ ถูกนำไปเผยแพร่ในรายการวิทยุ ตามด้วยเครื่องเล่นแผ่นครั่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของแผ่นเสียง 10 นิ้ว 1 หน้าจะมี 1 Tracks บรรจุเพลงความยาวประมาณ 3 นาที ตามด้วยแผ่นเสียง 7 นิ้วและ 12 นิ้ว

การเกิดขึ้นของแผ่นเสียง 12 นิ้ว หรือ Long Play ทำให้เพลงกลับไปมีขนาดยาวขึ้นได้ แต่เพลงความยาวเกิน 3 นาที กลายเป็นของแสลงสำหรับธุรกิจไปเสียแล้ว

แม้เพลงดังหลายเพลงจะยาวถึง 5-6 นาที บางเพลง 7 นาที แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม และยากที่จะดัง เพราะไม่สามารถบันทึกลงแผ่น Single ขนาด 7 นิ้วได้

เพราะความกว้างของ Tracks เพลงบนแผ่น 7 นิ้ว ที่จำกัดความยาวของเพลงราวๆ 3 นาที ไปสอดคล้องกับความยาวของเพลงที่นักจัดรายการวิทยุต้องการ

เพราะนักจัดรายการวิทยุ หรือ DJ (Disc Jockey) รู้ถึงจิตวิทยาคนฟังเพลง ว่าจะมี Focus หรือ “ใจจดใจจ่อ” ต่อเพลงหนึ่งเพลงได้ไม่เกิน 3 นาที หรือเกินได้นิดๆ

นั่นหมายความว่า มาตรฐานความยาวของเพลงสำหรับคนฟังวงกว้างควรอยู่ที่ประมาณ 3 นาทีนิดๆ ไม่เกิน 4 นาทีกำลังดีสำหรับสมาธิในการฟังเพลง

 

อย่างไรก็ดี ในหมู่นักฟังเพลงสายลึก ความยาวของเพลงไม่ใช่อุปสรรคในการฟัง คุณภาพทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และดนตรี คือปัจจัยในการฟังเพลง ไม่ใช่ความยาว

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยในเรื่องความสั้น-ยาวของเพลง คือการเกิดขึ้นของ “ธุรกิจตู้เพลง” ที่เฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว และส่งอิทธิพลกลับมายังวงการเพลงอีกตลบ

เพราะหากเพลงมีความยาวเกิน 3 นาที จำนวนเหรียญหยอด ก็จะน้อยลงในเวลาเท่ากัน ดังนั้น ธุรกิจตู้เพลงจึงกดดันค่ายเพลงด้วยวิธีต่างๆ ให้ทำเพลงสั้นๆ

จุดเปลี่ยนอีกประการที่ทำให้เพลงสั้นลง คือธุรกิจเทป ที่มีระบบกรอเทปเลื่อนไปข้างหน้า หากเพลงยาวยืดเยื้อ ไม่ถูกหู แต่เมื่อมาถึงยุค CD เป็นปุ่มเลื่อนทั้งเพลง

แม้จะเป็นยุครุ่งเรืองของ MP3 ที่ CD สามารถบรรจุเพลงได้นับพันเพลง แต่ก็จะมีการเลือกเฉพาะเพลงฮิตมารวม และแน่นอนเพลงฮิตในยุคนั้น ยาวประมาณ 3 นาที

ยิ่งโลกเข้าสู่ยุค Digital มากยิ่งขึ้น การทำเพลงใหม่ๆ ก็ยิ่งสั้นลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ สามารถใช้นิ้วสไลด์หรือจิ้ม เพื่อเลือกฟังเฉพาะท่อน

สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า Skipping Culture เริ่มต้นจากการกรอเทป มาถึงการกดเลื่อน Track ของ CD และปัจจุบันกับวัฒนธรรม “ถ่าง-เขี่ย-จิ้ม” ของ Smart Phone

 

ตั้งแต่สหัสวรรษใหม่มาถึง หรือปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ความสนใจในการฟังเพลงของคนทั่วไปลดลงจาก 12 วินาที เหลือเพียงแค่ 8 วินาทีเท่านั้น

เป็นที่มาของ Skipping Culture ที่ไม่อยากเรียกว่า “ฟังเพลง” เรียกว่า “ได้ยินเพลง” ก็แล้วกัน คือเมื่อได้ยินแล้วไม่เข้าหู ก็จะกดข้ามทันที เพราะเพลงไม่ดึงดูด

ดังนั้น ศิลปินจำนวนมากจึงย้ายท่อนฮุกมาไว้ต้นเพลง และตัดอินโทรออก ไม่ก็ลดความยาวอินโทร เพื่อให้เข้าเนื้อเพลงท่อนแรกเร็วขึ้น หรือย้ายคอรัสมาอยู่ข้างหน้า

ดังนี้ โจทย์ของศิลปินทุกวันนี้ก็คือ ต้องทำให้เพลงติดหูคนฟังตั้งแต่ 5 วินาทีแรก และเร่งเพลงให้ถึงท่อนฮุกภายใน 30 วินาที เพื่อให้เพลงเข้าไปอยู่ใน Playlist ให้ได้

เพราะ Spotify จะไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ หากมีการกดหนีเพลงก่อน 30 วินาที นี่จึงเป็นเหตุผลให้ศิลปิน และค่ายเพลง ต้องฝ่าด่านปราการ 30 วินาทีทองไปให้ได้

 

หลายคนจึงทำนายว่า เมื่อถึงปี ค.ศ.2030 รูปแบบของเพลงจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน อัลบั้มเต็มไม่ต้องพูดถึง ไม่มีการออกอีกต่อไป ทุกคนจะทำแค่ Single สั้นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงป๊อปจะเหลือความยาวเพียง 2 นาทีเท่านั้น ทำให้เพลงบัลลาดที่ต้องใช้เวลาเล่าเรื่อง เพื่อดื่มด่ำในความหมายที่ลึกซึ้ง หายไปจากโลก

ตัวอย่างเพลงแห่งอนาคต คือ Concept อัลบั้ม Whack World ของ Tierra Whack จำนวน 15 เพลง เพลงละ 1 นาที โดยสามารถฟังจบอัลบั้มได้เพียง 15 นาที

นี่คือความคิดสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบใหม่ของศิลปินในอนาคต ที่ใช้เงื่อนไขความสั้นของเพลง ที่ธุรกิจและเทคโนโลยีต้องการ เป็นโจทย์ในการทำงาน

เพราะคนในยุคหน้าจะยิ่งมีความอดทนต่ำ และเบื่อง่ายยิ่งกว่าคนยุคนี้ การตัดสินใจจะลดลงยิ่งกว่าทุกวันนี้ คือต่ำกว่า 30 วินาที การทำเพลงสั้น 1 นาทีจึงพอดี

 

แต่ทุกสิ่งในโลกมีข้อยกเว้น เพราะไม่ใช่ศิลปินทุกคนจะสนใจโลกธุรกิจหรือโลกเทคโนโลยี ยิ่งเป็นศิลปินดังก็ยิ่งมีความเป็นศิลปินสูงกว่าสัญชาตญาณพ่อค้าแม่ขาย

ตัวอย่างที่ดีก็คือ ไม่มีเพลงใดเลยในอัลบั้ม 30 ของ Adele ที่มีความยาวน้อยกว่า 3 นาที มี 6 เพลงยาวระหว่าง 6-8 นาที อีก 5 เพลง ยาว 4-5 นาที

Adele บอกว่า เดิมเธอเขียนเพลง I Drink Wine ยาวถึง 15 นาที แต่ทางค่ายเพลงได้ห้ามเธอไว้ เนื่องจากเพลงมีความยาวมากเกินไปที่จะเปิดในรายการวิทยุ

เช่นเดียวกับ Taylor Swift ที่ได้ทำเพลง All Too Well ความยาว 10 นาที 13 วินาที สร้างประวัติศาสตร์เป็นเพลงยาวที่สุดที่ขึ้นอันดับ 1 บน Billboard Hot 100

แต่จะว่าไป ทั้ง Adele และ Taylor Swift แม้จะเป็นศิลปินชื่อดัง แต่ก็เป็นศิลปินส่วนน้อย ที่จะนำมหากาพย์เพลงยาวไปประสบความสำเร็จในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

เพราะทุกวันนี้ ทั้ง Spotify และ TikTok ได้กลายมาเป็นตลาดหลักของธุรกิจเพลงในปัจจุบัน ที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทำให้อดีตคงไม่อาจหวนคืน

และแน่นอนว่า ศิลปินที่ยังอยากยืนหยัดกับวัฒนธรรมการทำอัลบั้ม 10 เพลง เพื่อนำไปขายให้กับเจ้าของเครื่องเล่น CD หรือแผ่นเสียง ก็คงจะยังคงมีอยู่ แต่น้อยลง

และการหันกลับมาเน้นที่ความไพเราะของเพลง และเสียงเครื่องดนตรี กระทั่งระบบการบันทึกเสียง และการส่งต่อคุณภาพเสียงลงใน CD และแผ่นเสียง ก็น้อยลง

แม้กระทั่ง “คาราบาว” ที่มีฐานแฟนเพลงหลายล้านคน ก็ยังต้องโบกมือลา บ๊ายบาย!