จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (3)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (3)

 

เฟอร์ดินันด์ เทินนีส์ (นักสังคมวิทยาเยอรมัน, 1855-1936) อรรถาธิบายบุคลิกลักษณะของ Gemeinschaft (เกไมน์ชาฟต์) หรือชุมชนหมู่บ้านอันเป็นจินตนากรรมชาติไทยในอุดมคติของรัฐสยาม กับ Gesellschaft (เกเซลล์ชาฟต์) หรือสังคมเมืองสมัยใหม่ ไว้อย่างพิสดารว่า :

Gemeinschaft (เกไมน์ชาฟต์) หรือชุมชนหมู่บ้าน

– หมายถึงชุมชนท้องถิ่นซึ่งเน้นความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นกันเอง คลุกคลีตีโมงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สมาชิก (จึงเรียกหานับญาติกันเป็นพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา) มีการย้ายถิ่นและเลื่อนชั้นทางสังคมน้อยหรือแทบไม่มีเลย ชุมชนจึงเป็นบ้านเกิดและที่เติบใหญ่ของบุคคล ภาพชุมชนในอุดมคติจะหยุดนิ่ง สงบเรียบร้อยและยึดรากเหง้าของตน

– สมาชิกชุมชนจะสวมรับบทบาทและดำเนินวิถีชีวิตตามที่ชุมชนมอบหมายสืบทอดกันมาแต่ไหนแต่ไร ชาวบ้านจะเคร่งครัดขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยมของชุมชน เน้นระบบเครือญาติ ผูกติดอยู่กับแบบวิถีและลำดับชั้นทางฐานะอำนาจอันแน่นอนตายตัว พฤติกรรมของพวกเขาจะถูกกำกับด้วยความยึดมั่นชุมชนท้องถิ่นอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยสัญชาตญาณ เรียกได้ว่าบุคคลกับชุมชนแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวจนเจ้าตัวแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวจากผลประโยชน์ชุมชนไม่ออก จึงง่ายและจำเป็นที่จะต้องสมานฉันท์ รู้รักสามัคคี ประนีประนอมปรองดองกันในชุมชน

– สรุปแล้ว Gemeinschaft ก็คือวิถีชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้านเกษตรกรรมชนบทเล็กๆ ที่พึ่งตนเอง พอเพียงในตนเอง ชาวบ้านค่อนข้างละม้ายเหมือนกลมกลืนกัน คือยังไม่ทันแบ่งแยกแตกต่างหลากหลายออกจากกันเป็นปัจเจกบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งยังเป็น pre-individuals หรือมนุษย์ชุมชนที่ไม่ทันขาดด้วนจากชุมชนสังกัดของตนนั่นเอง

– ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านความเป็นไทยในอุดมคติ ซึ่งก็คือครอบครัว/ตระกูลเดียวกันหรือไม่กี่ตระกูลที่แผ่ขยายใหญ่ออกไปกลายเป็นชุมชนหมู่บ้านนั่นเอง

ร้านโชห่วย & ร้านสะดวกซื้อ : เรียบเรียงจากคำพูดคุยของผู้เขียนในงานรำลึกอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ณ ลานหน้าโรงละคร หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 พฤศจิกายน 2566

Gesellschaft (เกเซลล์ชาฟต์) หรือสังคมเมืองสมัยใหม่

– ก็คือสังคมเมืองสมัยใหม่โดยเฉพาะนครใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าที่ต่างคนอยู่โดดๆ ต่างหากจากกันแบบตัวใครตัวมัน (จึงเรียกหากันอย่างสุภาพด้วยสรรพนามผม-คุณ-เขา-เธอ), จะคบค้ากันก็เพื่อเป็นเครื่องมือไปบรรลุเป้าประสงค์ที่แน่นอน (instrumental relationship ต่างใช้กันและกันเป็นเครื่องมือไปบรรลุเป้าประสงค์ของตัวเอง), สัมพันธ์กันแบบเป็นทางการ, ตามกฎหมาย หรือพันธสัญญา, ด้วยความสมยอมสมัครใจ, ท่วงทำนองความสัมพันธ์จะตรงไปตรงมา, ฉับไวและเน้นความชำนัญพิเศษ

– อาทิ เวลาเราว่าจ้างรถแท็กซี่เดินทาง เราก็ต้องการไปถึงจุดหมายแล้วก็จบ แยกย้ายจากกันไป มิได้คาดหมายว่าโชเฟอร์แท็กซี่จะมาละลาบละล้วงคอมเมนต์รูปร่างหน้าตาทรวดทรงน้ำหนักของเรา หรือซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนเรื่องส่วนตัวหรือทรรศนะทางการเมืองและศาสนาของเรา

– หรืออย่างเวลาเราขึ้นรถไฟเดินทางไปยังสถานีจุดหมาย เราก็ไม่คาดหมายว่าพนักงานขับรถจะออกรถล่าช้าเพื่อรอผู้โดยสารที่เป็นญาติของตัว หรือจู่ๆ พนักงานขับจะหยุดขบวนรถกลางทางให้ชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันลงตรงปากทางเข้าหมู่บ้านอย่างสะดวกโดยดึงหวูดสัญญาณฉุกเฉินเรียกให้รถไฟจอด เป็นต้น

– สรุปแล้ว นี่เป็นโลกของ “อินดิวิดวล” หรือปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่แปลกหน้าแปลกแยกไร้ราก หลุดลอยขาดด้วนจากชุมชนดั้งเดิม แล้วดันมาอยู่ร่วมกันเป็น “สังคม”

– ตัวอย่างเช่น เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ฯลฯ สถานการณ์จริงที่เสมือนจำลอง Gesellschaft เอาไว้อย่างใกล้เคียงคือการจราจรบนถนนหลวงที่เต็มไปด้วยรถแน่นขนัด คนขับและผู้โดยสารในแต่ละคันล้วนเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันโดยส่วนตัว อยู่ต่างหากจากกัน แต่ก็มาชุมนุมสุมกันอย่างเนืองแน่นบนท้องถนนสายเดียวกัน และทางเดียวที่จะไม่ขับรถขวักไขว่ชนประสานงากันจนโกลาหลวุ่นวายคือทุกคนรู้และเคารพกฎจราจร

(สรุปสังเคราะห์ข้อมูลจาก พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2524; Daniel Bell, Communitarianism and Its Critics, 1993; & นิธิ เอียวศรีวงศ์, “แห่นางแมวกับ ‘วิกฤต’ ใน วัฒนธรรมชาวนา,” ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2532)

 

ตัวอย่างเปรียบเทียบ [Gemeinschaft/ชุมชนหมู่บ้าน] กับ [Gesellschaft/สังคมเมือง] ที่ใกล้ตัวดีคือร้านโชห่วยกับร้านสะดวกซื้อ

จะเห็นได้ว่าร้านสะดวกซื้อ (ไม่ว่ายี่ห้อไหนที่ใด) ออกแบบมาสำหรับลูกค้าที่เป็นคนแปลกหน้า ให้สามารถเดินเข้าไปซื้อหาของที่ต้องการแล้วเสร็จโดยมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานขายของในร้านน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (เช่น “สวัสดีค่ะคุณลูกค้า” – “สวัสดีครับ” ตอนเข้าร้านตามมารยาท-จบ) โดยแทบไม่ต้องพูดหรือสอบถามอะไรกับใครเลย เพราะวางผังการจัดชั้นสินค้าและออกแบบร้านมาเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ ลูกค้าแปลกหน้าพอจะคาดเดาได้ว่านมกล่อง กาแฟกระป๋อง ขนมปัง อาหารกล่อง ยาสีฟัน หลอดไฟ ผ้า อนามัย ฯลฯ อยู่ตรงไหน เดินตรงรี่เข้าไปหาเดี๋ยวเดียวก็เจอได้และติดป้ายระบุราคาพร้อม เป็นต้น

ในทางกลับกัน ร้านโชห่วย (ไม่ว่ายี่ห้อไหนย่านใด) มีไว้ขายของให้ลูกค้าที่มักจะเป็นคนคุ้นเคยกัน อยู่ในละแวกบ้านเดียวกันเป็นหลัก เวลาลูกค้าเดินเข้าร้าน จะหาซื้อน้ำปลา บะหมี่สำเร็จรูป หรือปลาร้าปลาแห้ง ปกติก็ต้องออกปากถามเจ้าของร้านก่อนว่ามีขายไหม? อยู่ที่ใดในร้าน? สนนราคาเท่าไหร่? ยี่ห้อไหนดี? เพราะแต่ละร้านก็จัดวางข้าวของในตู้หรือชั้นแตกต่างหลากหลายกันไป ไม่เหมือนกัน

คำสอบถามหาสินค้า ย่อมนำไปสู่การโอภาปราศรัยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของลูกค้ากับเจ้าของร้านถึงครอบครัวญาติมิตรโดยเป็นไปเอง เช่น “อ้าว คุณแม่สบายดีหรือเปล่า? ไม่เห็นมาซื้อของพักใหญ่แล้ว” หรือ “ลูกชายเข้าเรียนหรือยังจ๊ะ เปิดเทอมแล้วนี่” ฯลฯ

และถ้าหากลูกค้าเผลอลืมติดกระเป๋าตังค์มาหรือพกพาเงินมาไม่พอ ก็อาจขอต่อรองราคาข้าวของ กระทั่งซื้อเชื่อกับเจ้าของร้านไว้ก่อนได้ฐานคนคุ้นเคยไว้เนื้อเชื่อใจกัน…

ขณะที่ถ้าเราเกิดเหตุพลั้งเผลอฉุกเฉินคล้ายกันในร้านสะดวกซื้อ แล้วขืนไปต่อรองราคาของหรือขอซื้อเชื่อไว้ก่อนกับพนักงานขายเข้า ก็ยุ่งตายห่… พอดี แหะๆ

 

ทว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือจินตนากรรมของรัฐสยามว่าชาติไทยเป็นหมู่บ้านหรือ Gemeinschaft นั้นเป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริงไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แต่มันกลับถูกรัฐใช้มากดทับสังคมไทยสมัยใหม่ Gesellschaft เอาไว้อย่างแปลกแยกย้อนแย้ง ทำให้จินตนากรรมเกี่ยวกับชาติของทางราชการไม่ขยับขยายคลี่คลายสอดรับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปตามธรรมชาติของสังคม ดังที่อาจารย์นิธิชี้ว่า :

“อุดมคติของหมู่บ้านในอดีต…เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะพบได้ในที่ใดของประเทศไทยปัจจุบัน (พ.ศ.2534) และในอีกแง่หนึ่งก็ไม่อาจพบได้ในที่ใดของประเทศไทยในอดีตด้วย ทั้งนี้เพราะลักษณะดังกล่าวเป็นการนึกฝันย้อนไปสู่อุดมคติที่ไม่มีจริงของคนกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นการสร้างลักษณะตัวแบบที่เป็นอุดมคติ (ideal type) ของนักวิชาการเพื่อวัดความเปลี่ยนแปลงในระยะหลังเท่านั้น”

“ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา”,

ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ฯ, น.57

(ต่อสัปดาห์หน้า)