ความขมีขมันของ ส.ส.เลือกตั้งชุดแรก ในการปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญในชนบท ปาฐกถาเผยแผ่รัฐธรรมนูญของ ส.ส.

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ความขมีขมันของ ส.ส.เลือกตั้งชุดแรก

ในการปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญในชนบท

ปาฐกถาเผยแผ่รัฐธรรมนูญของ ส.ส.

 

ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลมุ่งสร้างสำนึกพลเมืองให้แก่ราษฎรทุกภาคให้ยึดโยงเป็นส่วนหนึ่งของชาติตามรูปแบบรัฐประชาชาติ ที่มีองค์ประกอบและอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น การเผยแพร่ระบอบการปกครองและสร้างสำนึกพลเมืองผ่านช่องทางต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก

รัฐบาลคณะราษฎรพยายามผลักดันให้สำนักงานโฆษณาการส่งบุคลากรไปเผยแพร่ระบอบใหม่ให้กับชาวบ้านตามชนบทในทุกจังหวัด รวมถึงมีผู้แทนราษฎรบางพื้นที่ก็อาสาไปช่วยชี้แจง ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงแรก ส.ส.มาช่วยปาฐกถา 24 คน มีการวางแนวทางในการพูดให้เป็นแนวเดียวกับสำนักงานโฆษณาการ (สุวิมล พลจันทร์, 24)

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของปาฐกถาของผู้แทนฯ จังหวัดต่างๆ แก่ราษฎรในครั้งนั้นเป็นการปาฐกถาสด ที่เจ้าตัวอาจมิได้บันทึกไว้จึงมิอาจทราบรายละเอียดได้ ทราบแต่เพียงว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และจำนวนประชาชนที่มารับฟังปาฐกถานั้น อย่างไรก็ตาม ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ฉบับวันที่ 23 และ 25 กรกฎาคม 2477 ได้รายงานข่าวไว้ดังนี้

ภาคตะวันตก

สําหรับบทบาทของ ส.ส.ในการช่วยเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคตะวันตกนั้น นายดาบหยู่เกียง ทองลงยา ส.ส.กาญจนบุรี (2476-2480) เขาปาฐกถาเผยแพร่ฯ ต่อราษฎรในเดือนมิถุนายน ที่ อ.วังขนาย ต.ท่าเสา มีราษฎรฟัง 500 คน ต.วังขนาย 300 คน ต.ท่าล้อ 300 คน ต.หนองขาว 1,000 คน อ.บ้านทวน ต.บ้านทวน 300 คน

ที่ จ.เพชรบุรี แข ยูนิพันธ์ ส.ส.เพชรบุรี (2476-2480) ได้พูดที่ อ.คลองกระแชง 28 มิถุนายน 2478 สนามหน้าโรงเรียนสตรีเบญจมเทพอุทิศ มีราษฎรและนักเรียนฟัง 1,500 คน

ส่วนที่สมุทรสาครนั้น ขุนสุคนธวิทย์ศึกษากร (สำอางค์ สุคนธวิท, 2545-2505 ส.ส.สมุทรสาคร (2475-2480, 2480-2481, 2484-2488) ปาฐกถาเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ อ.กระทุ่มแบน มีราษฎรเข้าฟัง 900 คน วัดหนองพะอง ต.หนองแขม 400 คน วัดท่ากระบือ ต.บางยาง 400 คน (สยามราษฎร์, 25 กรกฎาคม 2477)

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ 25 กรกฎาคม 2477 ลงข่าวการปาฐกถาของผู้แทนฯ จังหวัดต่างๆ

ภาคใต้

ที่พัทลุงนั้น ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ อดีตสมาชิกคณะ ร.ศ.130 ส.ส.พัทลุง (2476-2480, 2481-2487) แสดงปาฐกถาเมื่อเดือนมิถุนายน พ่อค้าที่ตลาดคูหาสวรรค์ 40 คน ข้าราชการสโมสร 70 คน ที่ อ.ควนขนุน วัดสุวรรณวิชัย 1,500 คน วัดเกาะยาง ต.นาขนาด 900 คน ศาลาการเปรียญ วัดปรางหมู่ 1,000 คน อ.คูหาสวรรค์ แสดงแก่ครูโรงเรียนโสภณพัทลุง 80 คน วัดดู่เรียง 800 คน (สยามราษฎร์, 25 กรกฎาคม 2477) อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานถึงสาระในการปาฐกถาแต่น่าจะมีความดุดันด้วยภูมิหลังของเขาเป็นหนึ่งในคณะ ร.ศ.130

พระบริรักษ์ราชอักษร ส.ส.กระบี่ (2476-2480) พูดเมื่อเดือนพฤษภาคม ศาลากลางจังหวัด แสดงแก่พ่อค้า ราชการ และราษฎร ที่วัดแก้วโกรวาราม มีผู้ฟังจำนวนมาก (สยามราษฎร์, 25 กรกฎาคม 2477)

งานปาฐกถายังคงดำเนินงานในช่วงรัฐนิยม แจกภาพรัฐธรรมนูญ อธิบายรัฐธรรมนูญ แจกหนังสือกระทู้ถามของสมาชิกสภา เปิดหีบเสียงเพลงชาติในช่วงเริ่มต้นกิจกรรม และปิดท้ายด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการเพิ่มเนื้อหาในส่วนของนโยบายสร้างชาติ เช่น รัฐนิยม 1-12

นายดาบหยู่เกียง ทองลงยา ส.ส.กาญจนบุรี และแข ยูนิพันธ์ ส.ส.เพชรบุรี

ภาคตะวันออก

หลวงประสานนฤชิต (เดิม อนุกระหานนท์) ส.ส.ระยอง (2476-2480) แสดงเมื่อพฤษภาคม อ.แกลง ต.วัดเพลงสวาย ต.ชากพง จำนวน 300 คน วัดกลาง ต.ชากพง จำนวน 695 คน วัดเขาโดน จำนวน 252 คน วัดเนินค้อ ต.เนินค้อ 383 คน ที่ว่าการอำเภอแกลง จำนวน 800 คน วัดบ้านนา ต.บ้านนา วัดหนองตะเพ้อ ต.ทุ่งควายกิน จำนวน 800 คน วัดคลองปูน ต.คลองปูน จำนวน 200 คน วัดท่ากง ต.พังราด จำนวน 200 คน วัดตะเคียนงาม ต.ปากน้ำประแส 280 คน

(สยามราษฎร์, 23 กรกฎาคม 2478)

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ 23 กรกฎาคม 2477 ลงข่าวการปาฐกถาของผู้แทนฯ จังหวัดต่างๆ

ภาคกลาง

พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาท (หร่าย รัตกสิกร, 2426-2511) ส.ส.นครนายก (2476-2480) แสดงปาฐกถาในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ อ.บ้านนา ต.บ้านนา ต.อาษา ต.ป่าขะ ต.พิกุล จำนวน 998 คน ต.บ้านพริก 330 คน ต.บ้านอ้อ ต.ทองหลาง 508 คน ต.พรหมณี 238 คน ต.เขาพระ ต.บ้านบุ้ง จำนวน 238 คน ที่ อ.ปากพลี ต.เกาะหวาย ต.เกาะโพธิ์ จำนวน 299 คน ต.โคกกรวด ต.หนองแสง จำนวน 643 คน

อ.วังกระโจม ต.หินตั้ง จำนวน 356 คน อ.องครักษ์ ต.บางปลากด 151 คน ต.องครักษ์ ต.ทรายมูล จำนวน 285 คน ต.บางลูกเสือ ต.พระอาจารย์ จำนวน 345 คน ต.ศีรษะกระบือ ต.บึงสาร จำนวน 285 คน (สยามราษฎร์, 23 กรกฎาคม 2477)

ในหนังสืองานศพของ พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาทให้ภูมิหลังว่า เขาเป็นนายทหารที่สนิทสนมกับ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ควรบันทึกด้วยว่า พระยาเสนาสงครามเป็นแกนนำในพรรคชาติและแกนนำในเหตุการณ์กบฏบวรเดช (2476) ด้วย หนังสืองานศพเขาบันทึกต่ออีกว่า เมื่อครั้งเขาเป็น ส.ส. เขาเคยเสนอกระทู้ขอให้รัฐบาลลดหย่อนผ่อนโทษนักการเมืองคราวกบฏบวรเดช อันเป็นกระทู้ที่ครึกโครมเรื่องหนึ่งในสมัยนั้นด้วย

(พระยาวิเศษสิงหนาท, 2511)

พระบริรักษ์ราชอักษร ส.ส.กระบี่ (2476-2480) และคู่มือพลเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติ 2475 มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกันขึ้น เช่น สมาคมคณะราษฎร อันเป็นฝ่ายสนับสนุนคณะราษฎร กับสมาคมคณะชาติ ประกอบด้วยเจ้านายและเหล่าขุนนาง ทว่า การจัดตั้งสมาคมการเมืองนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ แต่สะท้อนให้เห็นถึงว่าในช่วงเวลานั้นในสังคมไทยมีการแบ่งเป็น 2 ความคิดใหญ่ๆ คือ ฝ่ายที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง กับฝ่ายอนุรักษนิยม

ทั้งนี้ เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ อดีตข้าราชการสำนักงานโฆษณาการ ผู้เดินทางปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบทตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้งครั้งแรกว่า การที่ราษฎรในชนบทเลือกผู้เคยเป็นข้าราชการตำแหน่งสูงจากระบอบเก่าผู้มีอิทธิพลในท้องที่เข้ามายังสภา อาจด้วยเหตุเพราะพวกเขาเกรงกลัวอำนาจของบุคคลผู้เป็นใหญ่ในถิ่นเหล่านั้นที่สืบอำนาจกันมานั้น (เขมชาติ, 2478)

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลารอยต่อของการเปลี่ยนผ่านระหว่างระบอบเก่า-ใหม่ และการเปลี่ยนผ่านความสำนึกทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งแรกจึงปรากฏอดีตข้าราชการจากระบอบเก่าได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาได้ ด้วยความไม่กระจ่างของราษฎรในการเลือก “ตัวแทน” ของตนไปเป็นปากเป็นเสียง กับการยืนยันว่าบุคคลใดเป็นผู้มีอำนาจในท้องที่นั้น

(จากซ้ายไปขวา) หลวงประสานนฤชิต ส.ส.ระยอง กิมทะ นิรันต์พานิช ส.ส.ตราด หลวงนรินทร์ประสาตร์เวช ส.ส.จันทบุรี เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

แม้นว่ารัฐบาลเริ่มโครงการเผยแพร่ระบอบใหม่ให้กับราษฎร โดยมี ส.ส.บางพื้นที่อาสาไปช่วยชี้แจงด้วย ในช่วงแรก ส.ส.มาช่วยปาฐกถา 24 คน มีการวางแนวทางในการพูดให้เป็นแนวเดียวกับสำนักงานโฆษณาการ มีการให้เอกสารการปาฐกถา เอกสาร คู่มือที่จะอธิบายเรื่องต่างๆ เช่น หนังสือเรื่อง “งานเรียนรัฐธรรมนูญ” ของหลวงวิจิตรวาทการ “แบบสอนอ่านของราษฎร” เล่ม 1 และ 2 ของกระทรวงธรรมการ แล้วก็ตาม

แต่ปรากฏว่าผลที่ได้รับกลับเป็นความเสียหายแก่รัฐบาลคณะราษฎร กล่าวคือ ปรากฏว่า ส.ส.บางคนนำเรื่องส่วนตัว หรือบางคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็นำประเด็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลไปปาฐกถาให้ราษฎรรับฟังแทน ปาฐกถาจาก ส.ส.บางคนจึงกลายเป็นการสร้างความแตกแยกในหมู่ราษฎรมากกว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อระบอบประชาธิปไตยและการสานสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาลใหม่ภายหลังการปฏิวัติ และด้วยเหตุที่โครงการ ส.ส.อาสาปาฐกถาติดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ การสื่อสารที่ไม่ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งการติดภารกิจของ ส.ส.เองด้วย (ประวิทย์, 226-227)

ต่อมา โครงการนี้จึงเลิกไป และรัฐบาลมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานโฆษณาการดำเนินการในฐานะตัวแทนอย่างมีเอกภาพต่อไป (สุวิมล พลจันทร์, 24)

พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาถ ส.ส.นครนายก และ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม
พระยาฤทธิอัคเนย์ พระยาศรีสรศักดิ์ พระยากำแพงรามภักดี พระยาวิเศษสิงหนาท และพระยาราชอัคนิรักษ์