จากไก่ชน ถึงรัฐนาฏกรรม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อราว 65 ปีที่แล้ว ตรงกับเรือน พ.ศ.2501 อเมริกันชน พ่วงตำแหน่งนักมานุษยวิทยานามอุโฆษอย่าง คริฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz, พ.ศ.2469-2549) กับภรรยาของเขา ได้เดินทางเข้าไปยังเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อทำงานวิจัยทางด้านวัฒนธรรมบางอย่าง

แต่ในระยะแรกนั้น เกียร์ซกลับต้องพบว่า ตัวเขาเองถูกชาวเกาะจัดวางไว้ในฐานะของ “คนนอก” ไม่มีใครใคร่จะให้ความร่วมมือ หรือช่วยเหลือให้งานของเขาก้าวหน้าเลยสักนิด

ทุกคนบนเกาะต่างเฉยเมย หมางเมิน ทำราวกับเขาไม่มีตัวตน และพยายามหลบหน้าเขา แต่ในขณะเดียวกันทุกความเคลื่อนไหวของเขาก็ตกเป็นเป้าสายตา สำหรับการซุบซิบนินทา จนกระทั่งเมื่อผ่านไปได้ 10 วัน ในบริเวณหมู่บ้านที่เกียร์ซพำนักอยู่ได้มีการจัดให้มีงาน “ชนไก่” ขึ้น

ในยุคที่เกียร์ซเดินทางเข้าไปในเกาะบาหลีนั้น การชนไก่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และน่าละอายไม่ต่างไปจากการเปลือยนมของหญิงสาว การเสพฝิ่น หรือแม้กระทั่งการบูชาเทพเจ้า เพราะกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ดูดีมี “อารยะ” สำหรับสังคมที่เพิ่งจะปลดแอกอาณานิคมมาหมาดๆ และกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศที่ทันสมัยอย่างอินโดนีเซียในครั้งนั้นเอาเสียเลย (แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนแต่พบเห็นได้อยู่ทั่วไปบนเกาะแห่งนี้ ในช่วงเวลาที่เกียร์ซเข้าไปทำงานวิจัย)

แน่นอนว่า นักมานุษยวิทยาโดยจิตวิญญาณอย่างเกียร์ซ ย่อมไม่ยอมพลาดที่จะเข้าร่วมงานชนไก่ในคราวนั้นด้วย เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “ไก่” บนเกาะบาหลีที่ในสายตาของนักมานุษยวิทยาอย่างเขาสังเกตเห็นนั้น ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

 

คําว่า “ซาบุง” (sabung) ในภาษาถิ่นบาหลี แปลความหมายอย่างง่ายได้ว่าคือ “ไก่” ธรรมดาๆ นี่เอง แต่คำเดียวกันนั้นก็สามารถหมายถึง “วีรบุรุษ” “ผู้กล้า” หรือ “นักรักผู้ยิ่งใหญ่” ได้อีกด้วย

ชายผู้กระทำการเกินตัวอย่างเต็มฝืนจนท้ายสุดต้องเสียชีวิตมักจะถูกชาวบาหลียกย่อง และนำไปเปรียบเทียบกับ “ไก่ชน” ที่โถมเข้าต่อรบกับอีกฝ่ายจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย

ในขณะที่หนุ่มน้อยที่ไม่ประสาในความรัก ก็จะถูกชาวบาหลีนำไปเปรียบเปรยว่าเป็นพวกไก่อ่อน ไม่ต่างไปจากในสำนวนไทย

ว่ากันว่าชาวบาหลีในยุคก่อนสมัยใหม่แทบจะใช้เวลาทั้งหมดไปในการฟูมฟักไก่ของพวกเขา เรียกได้ว่าแทบจะกินนอนอยู่ด้วยกัน

เกียร์ซถึงขนาดเล่าเอาไว้ว่า ถ้าเห็นกลุ่มชายชาวบาหลีนั่งล้อมวงกันตามถนน แล้วก็จะต้องเห็นไก่อยู่ในอ้อมแขนของพวกเขาด้วยเสมอ ถ้าไม่นั่งลูบขน ก็จะต้องนวดขา หรือยั่วให้พวกมันปลดปล่อยสัญชาตญาณนักสู้ต่อไก่ของคนอื่น

ชาวบาหลีไม่ได้ปฏิบัติต่อไก่ของพวกเขาเหมือนอย่างสัตว์เลี้ยงโดยทั่วไป แต่ปฏิบัติต่อพวกมันราวกับเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกายของตนเอง เกียร์ซว่าเอาไว้อย่างนั้นเลยแหละครับ

 

เสียงระฆังยกที่ 3 เพิ่งจะดังขึ้น แต่เกียร์ซไม่มีโอกาสได้อยู่ดูไก่คู่นั้นในสังเวียนจนจบ เช่นเดียวกับทุกคนในงานชนไก่ที่ถูกจัดขึ้นอย่างลับๆ ในครั้งนั้น บรรดาตำรวจในสภาพอาวุธครบมือปรากฏตัวขึ้น เหล่านักพนัน ไก่ รวมไปถึงเกียร์ซและภรรยาวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต

เฉพาะเกียร์ซและภรรยา รอดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ได้ด้วยการเปิดเผยว่าตนเองเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอเมริกา ซึ่งเข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมบางอย่างในบาหลี ซึ่งก็เป็นด้วยข้อแก้ตัวอย่างนี้ของเกียร์ซนี่แหละครับ ที่ทำให้ในวันรุ่งขึ้นชาวบาหลีไม่เห็นว่าเกียร์ซเป็นคนนอกอีกต่อไป

เช้าวันนั้นผู้คนมากหน้าหลายตาผลัดกันมาทักทายเกียร์ซ ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเกียร์ซเองก็ใส่ตีนหมาโกยอ้าว เช่นเดียวกับพวกเขาเมื่อตำรวจปรากฏตัวขึ้นเมื่อวาน

บางคนถามว่าทำไมเกียร์ซจึงไม่บอกตำรวจไปว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย? ทำไมไม่บอกว่าเขาแค่มายืนดูอยู่เฉยๆ? บางคนแกล้งล้อเลียนเขาว่ากลัวปืนตำรวจใช่ไหม?

แต่ทั้งหมดเป็นคำถามที่ทำให้เกียร์ซรู้สึกได้ถึงการยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

เกียร์ซได้รับเกียรติให้กลายเป็น “คนใน” หรือพวกเดียวกันกับชาวบาหลีในครั้งนั้น ก็เพราะเขาเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิพิเศษของการเป็นคนนอก เมื่อตำรวจบุกเข้าจับกุมการลักลอบชนไก่นั่นเอง

 

ทั้งหมดที่ผมเล่ามาข้างต้นเป็นจุดกำเนิดของข้อเขียนที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของเกียร์ซ ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมบทความของเกียร์ซที่ชื่อ “การแปลความทางวัฒนธรรม” (The Interpretation of Cultures) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2516 และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานเขียนที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกวิชาการมานุษยวิทยาก็ได้ด้วยซ้ำไป

และหลังจากนั้นเกียร์ซก็สามารถทำการวิจัยเรื่องการชนไก่ในบาหลีได้อย่างลึกซึ้ง อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เกียร์ซอธิบายความหมายของไก่ชนและความหมายของการชนไก่อย่างเป็นระบบ ไก่ชนไปเชื่อมโยงกับความเป็นชายได้อย่างไร? วิธีการพนันไก่ชนของชาวบาหลีเป็นอย่างไร?

ที่สำคัญที่สุดคือเกียร์ซสามารถชี้ให้เห็นว่า ระบบการพนันไก่ชนสอดคล้องกับระบบสังคมของบาหลี

หนึ่งในบรรดาข้อสังเกตมากมายของเกียร์ซที่ชี้ให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างการชนไก่และระบบสังคมในบาหลีก็คือ การที่ผู้พนันจะต้องไม่แทงเดิมพันไปยังไก่ฝั่งตรงข้ามของญาติพี่น้องตนเอง

ผู้พนันสามารถทุ่มแทงได้เฉพาะไก่ของพี่น้องหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น

ผู้พนันจะต้องแทงสนับสนุนไก่ที่มาจากหมู่บ้านของตนเอง หากมีการชนเข้ากับไก่ที่มาจากต่างถิ่น และจะต้องร่วมมือกันหาไก่ที่ดีที่สุดสำหรับการรับมือกับไก่ต่างถิ่น เพื่อรักษาเกียรติภูมิของหมู่บ้าน

การชนไก่ในสมัยเก่าก่อนที่บาหลี จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การพนัน เพื่อการมหรสพ เพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีส่วนที่สนับสนุนและธำรงไว้ซึ่งระบบในสังคมอีกด้วย

The Interpretation of Cultures

แต่ระบบสังคมของบาหลียุคก่อนสมัยใหม่ ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เราเข้าใจกันจากภาพตัวแทนแบบของรัฐชาติสมัยใหม่หรอกนะครับ อย่างน้อยงานวิจัยชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเกียร์ซที่ได้กรณีตัวอย่างมาจากบาหลีก็คือ “นคร : รัฐนาฏกรรมของบาหลี ช่วงศตวรรษที่ 19” (Negara : The Theatre State in Nineteenth-Century Bali) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเรือน พ.ศ.2523 ก็บอกเอาไว้อย่างนั้น

คำไม่คุ้นหูอย่าง “รัฐนาฏกรรม” (theatrical state/theatre state) หมายถึง “รัฐ” ที่เป็นเหมือน “โรงละคร” มีหน้าที่แสดง ซึ่งก็แสดงไปเรื่อยตั้งแต่ความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง บารมีอันเปี่ยมล้นของกษัตริย์ ความมีพลังอำนาจในการอุปถัมภ์ค้ำจุน รวมทั้งการจำลองอำนาจในจักรวาลออกมาเป็นรูปธรรมบนพื้นโลกในขนาดที่ย่อส่วนลงมา (เช่น มีพระศิวะ หรือพระอินทร์ และเหล่าเทพบริวารคอยรับใช้)

รัฐจึงเป็นแบบจำลองของจักรวาลอันมีพระเจ้าถือเกียรติยศ และอำนาจสูงสุด ความยิ่งใหญ่อลังการต่างๆ ของกษัตริย์ ก็คือแบบจำลองของพระเจ้านั่นเอง

 

และหากจะว่ากันตามความหมายที่เกียร์ซพยายามจะบอกเราแล้ว “รัฐ” ก็คือตัว “นาฏกรรม” เองนั่นแหละ

เพราะในสังคมบาหลีโบราณ รัฐนั้นเกือบจะไม่ใช่เนื้อเดียวกันกับอำนาจทางการเมือง เนื่องจากอำนาจในการจัดการชีวิตคนนั้น มีหลายสถาบันหรือองค์กร ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับอำนาจทางการเมืองเท่านั้น และสถาบัน หรือองค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเด็ดขาดสักอย่างเดียว หลายองค์กรนั้นไม่เกี่ยวกับรัฐเลยด้วยซ้ำไป

สถาบันหรือองค์กรเหล่านั้น (ไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางศาสนา องค์กรทางสังคมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งระบบราชการของรัฐเอง) จึงเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐ และกษัตริย์อยู่เสมอ ไม่มีก็ไม่ได้ มีก็ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว เพราะรัฐ และกษัตริย์เอง ก็ไม่มีเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐอย่างที่จะทำให้พระองค์มีพระราชอำนาจจริงๆ เหมือนกับรัฐชาติสมัยใหม่แบบโลกตะวันตกเลยสักอย่างเดียว

อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดง หรือเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ หนึ่งในการแสดงที่สำคัญคือ พระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมกันเป็นประจำ และก็นี่แหละครับ คืออะไรที่เกียร์ซเรียกว่า “รัฐนาฏกรรม”

(ไทยเราก็เป็นรัฐนาฏกรรมเช่นกัน เช่นเดียวกับนักวิชาการอีกหลายท่าน) เห็นได้ชัดๆ จาก “กฎมณเฑียรบาล” ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งกำหนดให้มีพระราชพิธีต่างๆ ครบทุกเดือนเลยทีเดียว โดยเกียร์ซเองก็บอกอยู่ทนโท่ว่ารัฐโบราณในอุษาคเนย์ทั้งผืนภูมิภาคเป็นรัฐนาฏกรรม

“นาฏกรรม” ที่มี “เวที” เป็นตัวของรัฐทั้งรัฐเอง (ซึ่งหมายถึง ขอบข่ายของผู้คน มากกว่าขอบเขตของดินแดน) จึงเป็นสิ่งที่อำนาจที่อ้างสิทธิธรรมจากจารีตของรัฐโบราณอุษาคเนย์พึงต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะการแสดงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ด้วยนาฏกรรมบนเวทีที่เรียกว่ารัฐนั่นแหละ คืออำนาจที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของรัฐแบบนี้ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ