เศรษฐกิจการเมือง ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (5)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

เศรษฐกิจการเมือง

ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (5)

 

ในยุคโลกาภิวัตน์ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จีนยกเลิกนโยบายสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์แล้ว กลุ่มโกกั้งทั้งที่ร่วมอยู่ พคม.และที่ไม่ได้ร่วมก็หันมาเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลเมียนมาจนได้เขตปกครองตนเองเป็นของตนเอง และมีชื่อเรียกว่า “เขตพิเศษ 1 แห่งรัฐฉาน” คนเหล่านี้ล้วนคือคนจีนทั้งสิ้น

อีกขบวนการหนึ่งก็คือ อดีตพลพรรคของ พคม.ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากจีน จนเมื่อจีนยุติการสนับสนุน พลพรรคเหล่านี้ก็แตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเห็นควรให้คงพรรคเอาไว้แล้วดำเนินการปฏิวัติต่อไป อีกกลุ่มหนึ่งเห็นควรยุบพรรคแล้วเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลเมียนมา เมื่อความเห็นไม่ลงรอยกัน การแย่งชิงการนำจึงเกิดขึ้น

ผลก็คือ ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายชนะ และสามารถเจรจากับรัฐบาลเมียนมาเป็นผลสำเร็จจนได้เขตปกครองตนเองที่ค่อนข้างอิสระมาเป็นของตนเอง กลุ่มนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม “ว้าแดง” เพื่อสื่อเป็นนัยว่า พวกเขาคืออดีตพรรคคอมมิวนิสต์

และเขตปกครองตนเองของว้าแดงนี้ก็มีชื่อเรียกว่า “เขตพิเศษ 2 แห่งรัฐว้า”

 

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ทั้งกลุ่มโกกั้งและว้าแดงนั้น ในปัจจุบันต่างใช้ภาษาจีนเป็นภาษาทางการของตน ทั้งนี้ ยังไม่นับวัฒนธรรมประเพณีจีนที่โกกั้งยังคงยึดถือปฏิบัติมานานหลายร้อยปี และโครงสร้างการเมืองการปกครองของจีนที่ว้าแดงได้หยิบยืมมาใช้ ซึ่งต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่มีต่อสองกลุ่มชนชาตินี้อย่างชัดเจน

เป็นที่รู้กันดีว่า แม้ทั้งสองกลุ่มนี้ยอมเข้าด้วยกับรัฐบาลเมียนมาก็ตาม แต่ทั้งสองกลุ่มก็ยังหาได้สลัดตนให้หลุดจากการค้ายาเสพติดไปได้ง่ายๆ ไม่

ยิ่งในกรณีว้าแดงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนด้วยแล้ว กลับเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาเรื่องยาเสพติดให้กับจีนและเมียนมาอย่างมาก ส่วนไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามต่างก็รับปัญหานี้กันไปมากน้อยแตกต่างกันไป

ที่สำคัญก็คือว่า ปัญหายาเสพติดจากสองกลุ่มชนชาติดังกล่าว ต่างล้วนเป็นปัญหาที่แยกไม่ออกจากปัญหาทางการเมืองที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่ชนชาติอื่นๆ ในเมียนมาทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต่างก็มีกัน ไม่ว่าจะเป็นไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฯลฯ

จนเชื่อกันว่า กว่าปัญหานี้จะหมดไปคงใช้เวลาอีกนานหลายสิบปี

 

ในขณะที่ปัญหายาเสพติดที่ส่วนหนึ่งผูกพันกับปัญหาทางการเมืองยังหาที่สิ้นสุดไม่ได้นั้น แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลังจากที่จีนเปิดประตูทางมณฑลอวิ๋นหนันและการยุติลงของสงครามเย็น ก็ได้สร้างสิ่งอันไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนให้แก่ในหมู่ชนชาติสองฝั่งแม่น้ำโขงขึ้นมา นั่นคือ แรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นกับการค้าประเวณีข้ามชาติ

ปัญหาทั้งสองนี้แม้จะไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นปัญหาที่เกิดเคียงคู่กันมา ปัญหาแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ซึ่งแรงงานภายในเริ่มมีราคาแพงขึ้น ดังนั้น พ่อค้านักธุรกิจไทยจึงต้องการแรงงานราคาถูกจากชนชาติอื่น อันมีตั้งแต่พม่า ลาว กะเหรี่ยง ว้า เขมร ไต ฯลฯ

เฉพาะชนชาติที่มาจากเมียนมาแล้ว ชะตากรรมที่ประสบยังมีนอกเหนือไปจากการเป็นแรงงานราคาถูกอีกด้วย ทั้งนี้เพราะมีอีกไม่น้อยที่ต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าวอันเนื่องมาจากสงคราม การถูกกดขี่ ตลอดจนการถูกข่มขืนจากเจ้าหน้าที่เมียนมา หรือมาเป็นแรงงานกิจการของตน

และในหมู่ชนชาติเหล่านี้เช่นกันที่ทั้งได้ยอมตนบ้างและถูกล่อลวงบ้าง ให้ต้องมาค้าประเวณีตามชายแดนและในกรุงเทพฯ กับเมืองใหญ่ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

 

หากปัญหาแรกนำมาซึ่งปัญหาสาธารณสุขมูลฐาน ยาเสพติด อาชญากรรม โรคเอดส์ ฉันใดแล้วไซร้ ปัญหาหลังก็ฉันนั้น จะมีที่แตกต่างไปบ้างก็ตรงที่ปัญหาหลังนั้นได้มีชนชาติจีนรวมเข้ามาด้วยอย่างน่าสนใจ

เพราะนอกจากจะมีที่ถูกล่อลวงมาแล้ว ยังมีที่สมัครใจมาค้าประเวณีอีกด้วย โดยที่สมัครใจนี้ส่วนใหญ่มักจะมีการศึกษาสูงและรูปร่างหน้าตาดีมาก รายได้จากการค้าประเวณีที่หญิงจีนเหล่านี้ได้ต่อเดือนนั้นมากกว่าการทำงานทั้งปีในจีนเสียอีก ซึ่งนับเป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังไม่น้อย

ในกรณีชนชาติจีนอีกเช่นกัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นนั้น ชนชาติจีนจำนวนไม่น้อยนอกจากจะหลบซ่อนทำงานในเมืองไทยแล้ว ที่มักเป็นข่าวใหญ่อยู่เสมอก็คือ การใช้ไทยเป็นฐานพักพิงก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่สาม

และจำนวนไม่น้อยของคนเหล่านี้ต้องประสบชะตากรรมอันเจ็บปวดร้าวและขมขื่น จากขบวนการอาชญากรข้ามชาติหรือที่เรียกกันว่า “แก๊งลูกหมู” ที่ตราบจนปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังมิได้ทุเลาเบาบางลงไป เพียงแต่ชื่อเรียก “แก๊งลูกหมู” มีการใช้น้อยลงเท่านั้น

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงยังต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์อย่างปัญหาโรคเอดส์ โรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนกอีกด้วย ที่ล้วนแต่เป็นโรคร้ายที่ยังหาทางรักษาไม่ได้หรือรักษาได้ยาก นอกจากมาตรการป้องกันและการรักษาในระยะแรกป่วยเท่านั้น

โดยที่โรคเอดส์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามเย็นนั้นก็ตกอยู่ภาวะที่ไม่ต่างกัน

เหตุดังนั้น ถ้าหากปัญหาเศรษฐกิจการเมืองที่กล่าวมาข้างต้นยังดำรงอยู่ ปัญหานั้นก็ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่ว่าได้ไม่ยาก ซึ่งเราคงต้องยอมรับร่วมกันว่า โรคร้ายดังกล่าวได้ทำลายเศรษฐกิจของชนชาติลุ่มแม่น้ำโขงไปมากน้อยแค่ไหน

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้เศรษฐกิจของชนชาติลุ่มแม่น้ำโขงได้เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ในหลายภาคส่วนของรัฐในลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาการเมืองของตนไปได้ และเมื่อแก้ไม่ได้ ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งห่างไกลออกไป

มิหนำซ้ำ บนการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในปัจจุบันนี้ยังได้ส่งผลกระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติต่างๆ อีกจำนวนมาก ดังที่ได้กล่าวมาตลอดบทความแล้ว

การที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานยากที่จะแก้ได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเป็นเพราะมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลายกลุ่มยังได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ ซึ่งหากไม่เป็นกลุ่มที่ต้องการรักษาผลประโยชน์แต่เดิมของตนเอาไว้ ก็เป็นกลุ่มที่พยายามช่วงชิงเอาผลประโยชน์นั้นจากกลุ่มอื่นมาเป็นของตน

ที่น่าเศร้าก็คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้อย่างสำคัญกลับเป็นบรรดาชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไร้อำนาจในการต่อรองเป็นของตนเอง นอกจากการเป็นเหยื่อของความขัดแย้งนั้น

เมื่อความขัดแย้งดำรงอยู่ การแสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวจึงไม่เกิด หรือไม่ก็เกิดขึ้นในอัตราที่ช้าจนตามไม่ทันปัญหา ซึ่งมีทั้งปัญหาที่ขยายใหญ่ขึ้นจากปัญหาเดิม และปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่

เหตุฉะนั้น เมื่อเราเหลียวกลับมามองดูการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว เราก็จะพบว่า กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งก็คือ บรรดาชนชั้นนำที่มีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มชนชาติผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย