‘เสาอินทขีล’ สร้างสมัยยุคทองของล้านนา หรือสมัยพระเจ้ากาวิละ? (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เสาอินทขีลต้นล่าสุดของนครเชียงใหม่

ฉบับที่แล้วกล่าวถึง “เสาอินทขีลป่าซาง” ลำพูนที่พระเจ้ากาวิละน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสาหลักเมืองที่ข่วงนอกวัดแสงเมืองมา ลำปาง และเสาอินทขีลป่าซางนี่เองที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้พระเจ้ากาวิละนำไปสถาปนาต่อที่เชียงใหม่

เกี่ยวกับประเด็นนี้มีผู้ตั้งคำถามว่า พระเจ้ากาวิละนำเสาอินทขีลป่าซางไปที่เชียงใหม่จริงล่ะหรือ เป็นการเอาไปแบบไหน?

หนังสือ “อธิบายระยะทางล่องน้ำพิง” บันทึกโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2464 (นับแบบปัจจุบันคือ 2465) กล่าวถึงตอนที่พระองค์เสด็จผ่านไปยังป่าซางแถบลุ่มน้ำแม่ทาว่า

“เวียงป่าซางเดี๋ยวนี้มีตลาดใหญ่ มีวัดเก่า 2 วัด เรียกวัดอินทขีล คือหลักเมือง แต่หลักอินทขีลได้ถอนไปรวมไว้กับหลักเมืองเชียงใหม่วัด 1”

คำว่า “หลักอินทขีลได้ถอนไปรวมไว้กับหลักเมืองเชียงใหม่” หมายถึงอะไรกันแน่ สมเด็จในกรมท่านทรงนิพนธ์ไว้สั้นๆ ไม่ได้ขยายความต่อ ทำให้เราอนุชนรุ่นหลังต้องมานั่งตีความว่า

เป็นการขุดรากถอนโคนแท่งเสาแบบเป็น “รูปธรรม” จริงๆ แล้วแบกโยกย้ายไปไว้ที่เชียงใหม่ หรือว่าเป็นการทำแค่พิธี “ถอนเชิงนามธรรม” ว่า ณ บัดนี้ขอย้าย “หลัก” ที่ประทับของพระเจ้ากาวิละจากเวียงป่าซางไปอยู่นครเชียงใหม่ จึงกระทำการบอกกล่าวต่อฟ้าดิน ว่าจักขออัญเชิญหลักบ้านหลักเมืองไปอยู่ราชธานีแห่งใหม่แล้ว

ทว่าในความเป็นจริงนั้น เสาอินทขีลป่าซางยังอยู่ที่เดิม ไม่มีการรื้อถอน ไม่มีการย้ายตัวเสา เพียงแต่เสาต้นนี้ไม่ได้มีสถานะเป็น “ราชธานีสำรอง” ดุจเดิมอีกต่อไป?

หากแนวคิดนี้ถูกต้อง ก็น่าสงสัยเช่นกันว่า ใครเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อร้อยปีก่อนว่ามีการ “ถอน” หลักอินทขีลป่าซางไปรวมกับหลักเมืองเชียงใหม่แล้ว?

ซึ่งหลักเมืองเชียงใหม่ที่ว่านั้น ก็คือวัดเจดีย์หลวงนั่นเอง ทำไมจึงเอาเรื่อง “ผี” ไปปะปนกับเรื่องของ “พุทธ” นี่เป็นอีกคำถามสำคัญ

เรื่องนี้ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา อธิบายว่า การที่พระเจ้ากาวิละเลือกเอาพื้นที่ที่ฝังเสาอินทขีล (ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง) สามารถกระทำการได้อย่างสะดวกโดยไม่ถูกต่อต้านจากทางวัด หนุนเนื่องมาจากในช่วงเวลานั้น วัดเจดีย์หลวงยังมีสภาพเป็นวัดร้าง (เพิ่งได้รับการบูรณะฟื้นขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาไม่นานมานี่เอง) ทำให้ไม่มีผู้ทัดทาน

พระเจ้ากาวิละเห็นว่า ทำเลที่ตั้งที่จะฝังเสาอินทขีลนี้ถือว่าอยู่ค่อนข้างในใจกลางเมืองพอสมควร โดยไม่จำเป็นต้องเลือกเอาจุดกึ่งกลางเมืองเชียงใหม่เป๊ะ (คือวัดชัยพระเกียรติ) ทั้งยังไม่เลือกเอาจุดที่เคยเป็นสะดือเมืองเก่า (ซึ่งยังมีการถกเถียงกันไม่จบว่าสมัยล้านนาเคยฝังเสาอินทขีล ณ จุดนั้นด้วยหรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าไม่) มาฝังเสาอินทขีลต้นใหม่ ที่พระองค์ได้แรงบันดาลใจมาจากอินทขีลป่าซาง

คติการบูชา “เสาใจบ้าน” ของกลุ่มคนตระกูลลื้อ ขึน ยอง จากรัฐฉานและ 12 ปันนาที่เมื่อมาอยู่ในลำพูน เชียงใหม่ ยังคงปักเสา 5 ต้นไว้ตามแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ เชื่อว่าเสาใจบ้านนี่เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการควบรวมให้เกิดเสาอินทขีลยุคฟื้นเมืองเชียงใหม่

จากเสาใจบ้านสู่เสาอินทขีล

อาจารย์เกริกมองว่า ที่เชียงใหม่เองก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไม่ต่างไปจากเวียงป่าซาง มีทั้งลัวะดั้งเดิม คนไทโยนพื้นถิ่น มอน ม่าน เงี้ยวที่ยังตกค้างนับแต่เชียงใหม่ถูกปกครองโดยพม่า พระเจ้ากาวิละยังต้องรับมือกับประชากรผู้มาใหม่ที่พระองค์กวาดต้อนลงมาจากทางเหนือ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องมีการ “ถือปฏิญญาใหม่ร่วมกัน” ผ่านการปักหลักบ้านหลักเมืองด้วยเสาอินทขีล

หลังจากที่ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่แล้ว อาจารย์เกริกตั้งข้อสังเกตว่าพระเจ้ากาวิละได้เปลี่ยนชื่อเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง จากเดิมที่เคยใช้ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ตั้งแต่สมัยพระญามังราย 729 ปีก่อน (เชียงใหม่สร้างปี 1839) ซึ่งแปลว่า นครแห่งใหม่ ณ ลุ่มน้ำแม่ปิง

กลายมาเป็น “ตาวติงสาอภินวบุรี” (ตาวติงสา = ดาวดึงส์) แปลว่า “เมืองใหม่ที่ใหญ่ยิ่งกว่าเมืองเก่า” เป็นเมืองที่ประกอบด้วยดวงแก้ว 30 ดวง เพราะได้อพยพเอาผู้คนมาจาก 30 หมู่บ้าน ทั้งจากเขต 12 ปันนา รัฐฉาน แว้นแคว้นต่างๆ มารวมไว้ในที่เดียวกัน

เมื่อเอาคนต่างหมู่แผกภาษาหลากชาติพันธุ์มาไว้รวมกันแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละกลุ่มชนมิอาจทิ้ง “ฮีตฮอย” เดิมของตัวเองได้ ย่อมนำเอาความเชื่อติดตามมาด้วย

กลุ่มชนที่พระเจ้ากาวิละอพยพมาไว้ในล้านนามากที่สุด คือกลุ่มลื้อ ขึน ยอง (ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาจัดให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ทว่า คนในพื้นที่มองเห็นความแตกต่างแยกย่อยของทั้งสามกลุ่ม จึงเรียกแยกเป็นลั้อ ขึน ยอง)

คนกลุ่มนี้มีความเชื่อเรื่องการบูชา “เสาใจบ้าน” ไว้กลางหมู่บ้านเหมือนๆ กัน มีลักษณะเป็นการฝังเสา 5 ต้นรวมเป็นกลุ่มคล้ายคติการบูชาเขาพระสุเมรุซึ่งมี 5 ยอด เสาต้นใหญ่ประธานอยู่กลาง แวดล้อมด้วยเสาอีก 4 ต้น

อาจารย์เกริกเชื่อมั่นว่าพระเจ้ากาวิละได้แรงบันดาลใจ ในการฝังเสาอินทขีลของวัดเจดีย์หลวงว่ารับอิทธิพลมาจาก “เสาใจบ้าน 5 ต้น” ของชุมชนกลุ่มลื้อ ขึน ยอง ก็เนื่องมาจากเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงที่เราเห็นเป็นเสาแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่นี้ ภายในประกอบด้วยเสา 5 ต้น มีต้นกลางสูงใหญ่ กับอีก 4 ต้นรายรอบ

การมาครอบหรือควบรวมเสา 5 ต้นให้รวมเป็นหนึ่งเดียวนี้ มากระทำกันในยุคหลัง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ อาจจะใกล้เคียงกับยุคที่มีการฟื้นวัดเจดีย์หลวงแล้วสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางนิกายธรรมยุติ หรืออาจเป็นช่วงที่มีการนิมนต์ให้ครูบาอภิชัยขาวปีมาเป็นแม่กองในการบูรณะหออินทขีล ก็เป็นได้

เราควรตั้งข้อสังเกตว่า เสาอินทขีลก่อนที่จะถูกควบรวมให้เหลือเพียงต้นเดียวนั้น เคยมีเป็นชุดอยู่ 5 ต้น และแน่นอนว่าเสาต้นใดต้นหนึ่งในกลุ่มนี้ ย่อมเป็นต้นเดียวกันกับที่พระเจ้ากาวิละย้ายไปจากเวียงป่าซาง (จะย้ายโดยรูปธรรม หรือย้ายโดยนามธรรมก็แล้วแต่ ยังต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป) ตามบันทึกของสมเด็จในกรม

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเสาอีก 4 ต้นที่เหลือเล่า พระเจ้ากาวิละย้ายมาจากแว่นแคว้นแดนใดอีกด้วยหรือไม่ ฤๅสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด?

เห็นได้ว่า รูปแบบการฝังเสาอินทขีลของพระเจ้ากาวิละนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่าง “เสาใจบ้าน 5 ต้น” ของกลุ่มลื้อ ขึน ยอง ซึ่งเดิมเคยฝังอยู่ตามหมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน สามารถพบได้กลาดเกลื่อน แต่คตินี้ยังเป็นแค่ระดับชุมชนหมู่บ้านเท่านั้น ไม่ได้เป็น “เสาใจเมือง” อีกทั้งขนาดที่เราพบเห็นก็เป็นเสาต้นเล็กๆ

เสาสะกัง (เสาสะก้าง) ใจกลางหมู่บ้านของชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยง ที่นับถือบูชาในลักษณะ Totem ก็เป็นอีกส่วนที่ถูกพระเจ้ากาวิละนำมาควบรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกับเสาอินทขีล

พระเจ้ากาวิละนำมาผนวกรวมกับความเชื่อของคนลัวะและคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่นับถือ “เสาสะก้าง” (เสาสะกัง) ซึ่งพัฒนามาจากสังคม Primitive Society ลักษณะ Totem หรือเสาแกะสลักรูปสัตว์ประจำตระกูล พระองค์ได้นำความเชื่ออันหลากหลายทั้งหมดนี้มาผูกรวมกัน

ด้วยเหตุนี้ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม จึงได้ผูกเรื่องราวเป็นนิทานในทำนองว่ามีการหลอมรวมมนุษย์เผ่าต่างๆ บ้างไหลออกมาจากน้ำเต้าปุง บ้างถูกหลอมในกระทะ (ขาง) ใบใหญ่ใบเดียวกัน และคนเหล่านี้ถูกควบคุมโดย 1.พระอินทร์ 2.กุมภัณฑ์ 3.ฤๅษี และ 4.เสาอินทขีล

มีการโยงว่า พระอินทร์ได้ประทานเสาต้นหนึ่งมาค้ำฟ้าให้แก่ชาวลัวะ อันเป็นที่มาของคำว่า “อินทขีล” อินท์ = พระอินทร์, ขีล = เสา แล้วให้กุมภัณฑ์สองตนของเฝ้าเสาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ มีฤๅษีเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม โดยเน้นเรื่อง “ความอุดมสมบูรณ์” ว่าเมื่อมนุษย์ช่วยกันบูชาเสาอินทขีลแล้วจะเกิด “น้ำฟ้าสายฝน”

ปฏิญญาใหม่นี้เอง ที่ช่วยกำกับให้คนหลายชาติพันธุ์หลอมรวมอาศัยอยู่ด้วยกันได้อย่างผาสุก ประกอบกับในเมืองเชียงใหม่เองก็เคยมีการฝัง “เสาอินทขีล” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากไม่ได้ฝังกลางเมือง กระจายตัวในฐานะที่เป็น “เสาเขื่อนเมือง” พบตามแจ่ง ตามประตูเมือง ซึ่งมีหลายต้นที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยล้านนา (แต่จะเก่าถึงสมัยพระญามังราย/สมัยพระเจ้าติโลกราชหรือไม่นั้น ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป)

กล่าวโดยสรุปตามความเห็นของปราชญ์ล้านนาคนสำคัญ “อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ” ก็คือแนวคิดเรื่องการฝังเสาอินทขีลต้นหลักที่วัดเจดีย์หลวงนั้น เกิดขึ้นจาก

1. คติการหลอมรวมคนหลากหลายชาติพันธุ์ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งโมเดลนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วที่อินทขีลป่าซาง

2. ผสมกับคติการบูชาเสา Totem ของชาวลัวะชาวกะเหรี่ยง แล้วโยงกับเรื่องผีบรรพบุรุษ ผนวกกับเทพปกรณัมที่ชาวพื้นถิ่นเคารพคือ พระอินทร์ กุมภัณฑ์ ฤๅษี ว่าท่านเหลานี้จะช่วยปกปักคุ้มครองผู้คน

3. การยกระดับ “เสาใจบ้าน 5 ต้น” ที่กระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกหมู่บ้านให้เหลือเพียง 1 เดียว

4. การผสมเอา “เสาเขื่อนประตูเมือง” หรือ “เสายันต์” ที่เคยฝังตามแจ่งรอบคูเมืองต่างๆ ทำหน้าที่เป็นยันต์ป้องกันภัย ปราบศัตรูให้แก่เมืองเชียงใหม่ อันมีมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านนา (มีชื่อเรียกว่า “อินทขีล” เช่นเดียวกัน เพราะอย่างน้อยเสาต้นหนึ่งที่ประตูท่าแพก็มีคำจารึกว่า “อินฺทขีลํ”) นำชื่อนี้มาปรับใช้เรียกใหม่ให้เป็นชื่อของ “เสาใจเมือง-เสาหลักเมือง” แทน

5. เพิ่มเรื่อง “น้ำฟ้าสายฝน” ว่าเมื่อบูชาเสาต้นนี้แล้วบ้านเมืองจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร อันเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า

หออินทขีลที่วัดเจดีย์หลวง ผลงานการก่อสร้างของครูบาอภิชัยขาวปี มีต้นยางนาขนาดใหญ่อยู่เคียงคู่กันด้วย

การกระจายตัวของเสาอินทขีล

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีสถาปนาเสาอินทขีล ณ ใจกลางเมืองเชียงใหม่บริเวณวัดเจดีย์หลวงแล้ว ได้เกิดการกระจายตัวของเสาอินทขีลอีกหลายต้น ซึ่งควรมีการศึกษาเจาะลึกกันให้กระจ่างชัดเจนในทุกๆ ต้นไป

อาทิ พ่อหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว นักภาษาโบราณแห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้ที่เคยอ่านข้อความในเสาอินทขีลประตูท่าแพตั้งแต่ 40 ปีก่อน) ได้กระทำการปักเสาอินทขีลต้นหนึ่งที่ใจกลางเมืองพร้าว (อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) ทำให้ที่เมืองพร้าวก็มีเสาอินทขีล

อาจารย์ภูเดช แสนสา ให้ข้อมูลว่า ที่ อ.แม่พริก จ.ลำปาง มีเรื่องราวการบูชาเสาอินทขีลอยู่สองหมู่บ้าน คือบ้านแม่พริกบนและบ้านแม่พริกลุ่ม (หมายถึงแม่พริกล่าง) คนเฒ่าคนแก่ที่นั่นเล่าให้อาจารย์ภูเดชฟังว่า บรรพบุรุษของพวกเขาหนีทัพพม่ามาในยุคเจ้าหลวงคำฝั้นผู้เป็นทั้งเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์แรก และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 คนกลุ่มนี้จึงได้นำคติการบูชาเสาอินทขีลมาด้วย ที่บ้านแม่พริกลุ่มมีการตั้งเสาอินทขีลแบบเป็นรูปธรรม แต่แม่พริกบนไม่มีตัวเสามีเพียงหอโล่งๆ แบบหอ Spirit เชิงนามธรรม และพวกเขายังคงเชื่อว่า เสาอินทขีลที่นี่คือส่วนหนึ่งที่สืบเชื้อสืบรากมาจากลำพูนเชียงใหม่ แต่ถูกแบ่งภาคมาให้ชาวแม่พริกได้บูชา

เสาอินทขีลภายในวัดเจดีย์หลวง ถือเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ มีการควบรวมเสา 5 ต้นไว้ด้านใน ให้เหลือเพียงเสา 8 เหลี่ยมต้นเดียว และมีการนำพระพุทธรูปมาครอบทับคติเสาหลักบ้านหลักเมืองอีกชั้นหนึ่งในยุคหลังๆ

เรื่องราวพัฒนาการพิธีบูชาเสาอินทขีลยังไม่จบ จากที่เคยมีการเลี้ยงผี ทำไมจึงเหลือแค่โปรยข้าวตอกดอกไม้ พิธีกรรมดั้งเดิมเขาทำกันที่ไหนอย่างไรบ้าง รออ่านฉบับหน้า

และเราจะปิดท้ายกันด้วยการกลับไปโฟกัสตัวจารึกอินทขีลประตูท่าแพอีกครั้ง ในประเด็นยันต์คาถาไก่เถื่อน ไก่ซุกลูก ว่าตกลงแล้วเก่าหรือใหม่ ล้านนาเอาไปจากสยาม หรือสยามรับจากล้านนา? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ