ผู้นำคนใหม่ “พรรคประชาธิปัตย์” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ผู้นำคนใหม่ “พรรคประชาธิปัตย์”

ยืดเยื้อยาวนานจะครบ 8 เดือนอยู่หรัดๆ ผู้นำคนใหม่ “พรรคประชาธิปัตย์” แทน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่ชิงลาออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม หลังพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งใหญ่อย่าง “หมดรูป”

สะดุดปังตอ “เกมล้มโหวต” มา 2 ครั้งซ้อน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม กับวันที่ 6 สิงหาคม แต่ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อเลือก “หัวหน้าพรรคคนที่ 9 กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” ในครั้งที่ 3 สะเด็ดน้ำ พันเปอร์เซ็นต์

ปัญหาว่าด้วยที่ประชุม “ไม่ครบองค์” ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม ทางปีก “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรค ปฏิบัติหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค ที่กุมเสียงข้างมาก ฝั่งสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ คือ 17 ส.ส. จากที่มีอยู่ 25 ที่นั่ง เตรียมหมากแก้มาพลิกเกม

ขนองค์ประชุมโหวตเตอร์ 150 คนมานั่งเป็นตัวสำรอง กรณีที่เมื่อมีการประชุม หากนับองค์แล้วไม่ครบตามข้อบังคับ 250 คนเหมือนครั้งที่ 1 และ 2 จะเข้ามาเติมเต็ม มีข่าวว่า ขนอะไหล่เสริมมาประจำการภาคละ 30 คน

การประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 ธันวาคม จึงรับประกันซ่อมฟรีว่า “จบข่าว” สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของค่ายสีฟ้า มีแน่นอน ลมยังเปลี่ยนทิศ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อพัดผ่านแล้ว จะ “หอบเอาใครมา” กอบกู้ชื่อเสียงกิตติคุณประชาธิปัตย์

ตำนานแห่งวงการเมือง พรรคที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับฉันทานุมัติว่า “อนุรักษนิยม” เบอร์หนี่ง เคยชนะในสนามเลือกตั้งของเมืองไทยได้เป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาลมาหลายครั้ง ในปี 2491-2519-2539 หลังจากนั้นไม่เคยเข้าป้ายที่ 1 แต่ก็พลิกเกมได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในปี พ.ศ.2548 ส่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ได้สำเร็จ

ฐานเสียงหรือที่มั่นของประชาธิปัตย์คือ กรุงเทพมหานครกับภาคใต้ จะเห็นได้ว่าสนามใหญ่ของศึกเลือกตั้งจะพ่ายแพ้ต่อไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย แต่ประชาธิปัตย์ยึดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. สืบสายต่อเนื่องมาได้ถึง 2 คน คือ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” คนละ 2 สมัย น้อยเสียเมื่อไหร่

แต่ยุคหลังๆ พรรคสีฟ้าเสียรังวัด โดยเฉพาะกับศึกเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 และ 2566 ฐานที่มั่นสนามกรุงเทพมหานคร รับประทาน “ไข่” ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียวติดต่อกัน 2 ครั้ง

ขณะที่สนาม “ด้ามขวานทอง” ก็ตกต่ำมาก นักการเมืองพิมพ์นิยมระดับ “นายหัวชวน หลีกภัย” ที่เคยเป็นห้องเครื่องสำคัญ มีบทบาทโดนเด่นกว่าหลายๆ คนร่วมยุคร่วมสมัยในอายุขัยวัยเดียวกันจำนวนมาก ก็เกิดปรากฏการณ์ “เสาไฟฟ้าล้ม” ระเนระนาด สะท้อนถึงบรรยากาศการพังทลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม ใครกันเล่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “คนที่ 9” เพื่อกอบกู้วิกฤตตกต่ำ คนแรก ได้แก่ “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ อดีต ส.ส.พิจิตร ทายาทคนโตของ “ไพฑูรย์ แก้วทอง” บ้านใหญ่เมืองชาละวัน ถือว่าเป็น “เต็งหนึ่ง” หากดูจากองคาพยพที่มีส่วนชี้ขาด ที่เทน้ำหนักให้ ส.ส.พรรค มากถึงร้อยละ 70

ดังที่ทราบกันดีอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.ในสังกัดจากศึกเลือกตั้ง 2566 เพียง 25 ที่นั่ง และในจำนวนที่มีอยู่ปรากฏว่า 17 เสียงอยู่ภายในการคอนโทรลของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” กับ “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรคสายภาคใต้

“เสี่ยต่อ เฉลิมชัย” ในฐานะแม่ทัพใหญ่ของประชาธิปัตย์ในการทำศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า พรรคจะรักษาฐานที่มั่นได้ไม่น้อยกว่าเดิมคือ 52 ที่นั่ง แต่พลิกล็อกวินาศสันตะโร ได้รับเลือกมาเพียง 25 ที่นั่ง ต่ำกว่าประมาณการมาก

“เสี่ยต่อ” เป็นคนจริงจังและจริงใจ คำไหนคำนั้น เมื่อพกพาความมั่นใจสุดขีด จึงทุ่มเทหมดหน้าตัก ด้วยประการดังกล่าว เมื่อใจสปอร์ต ยอดขุนพล “ก้นหีบ” ก็แทบไม่มีเหลือ กลายเป็น “ต่อหมดตูด” มังกรเกยตื้นอีหรอบเดียวกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังไงยังงั้น

ที่ “ขาใหญ่” ทั้งหลายบนเวทีการเมือง พากันเจ็บปวด ยิ่งกว่าถูกควักหัวใจ คือ คนในวงการเดียวกันกะล่อนเหรียญทอง ระดับมะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก พลิกไปพลิกมา ขาดความจริงใจ พอเงินจางพากันสวมบทนายล่องหน ผู้คนไปคารวะก็บางตาลง

อย่างไรก็ตาม “เสี่ยต่อ” แม้จะ “หมดตูด” แต่บารมีเก่าที่สะสมไว้ยังเหลือเฟือ กุมสภาพซีก 70 ไว้ในมือ สามารถชี้เป็นชี้ตายได้อยู่ และได้ลั่นวาจาไปแล้วว่า ประกาศหนุน “นราพัฒน์” โดยวางตัวให้ “เดชอิศม์” เป็นเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่แม่บ้าน คอยประสานงานในสภา เพราะ “นายกชาย” เป็นคนกว้างขวาง และใกล้ชิดกับ ส.ส. 17 คนของพรรคที่อยู่ในสังกัด

ขณะที่ผู้ท้าชิง แน่นอนแล้วชื่อ “มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค” ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ทำพิธีเปิดตัว ด้วยการนำพวงมาลัยไปไหว้สักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม พร้อมเปิดใจและขอเสนอตัวเป็นหนึ่งในทางการเลือก ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าได้รับเลือกตั้ง “มาดามเดียร์” จะสร้างตำนาน เป็นหัวหน้าพรรคหญิงคนแรกของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ชื่อประชาธิปัตย์นับตั้งแต่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 เกือบ 80 ปี ทว่าเมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์ของโหวตเตอร์ “นราพัฒน์” มีแต้มต่อดีกว่า “มาดามเดียร์” แต่ทั้งหมดอยู่ที่ “กลุ่มเสี่ยต่อ-นายกชาย” จะปรับเปลี่ยนเกมอย่างไรในช่วงโค้งสุดท้าย

อีกหนึ่งทางเลือก ยังตัดทิ้งไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกันคือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่แสดงท่าทีก่อนหน้านี้ไม่เด่นชัดมากนัก อาจจะกลับมาทวงบัลลังก์เก่ากลับคืนอีกครั้ง

หรือดีไม่ดี ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ คนที่กุมฐานกำลังไว้มากที่สุด “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อาจจะตัดสินใจกระโดดลงมาเป็นหัวหน้าพรรคขัดตาทัพเอง ไว้แบบชั่วคราว เพื่อให้พรรคได้หาข้อยุติ เริ่มนับหนึ่งก่อน แล้วค่อยปรับใหม่ในโอกาสต่อไป