การต่างประเทศไทย 2566 ‘มุ่งการค้า-เลี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์’

รายงานพิเศษ | พาราตีรีตีส

 

การต่างประเทศไทย 2566

‘มุ่งการค้า-เลี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์’

 

แม้ดูจะไม่แฟร์นักกับรัฐบาลพันธุ์ผสม “เพื่อไทย-พรรคขั้วอำนาจเดิม” ที่ทำงานกันไม่ถึงครึ่งปี แต่เรื่องการต่างประเทศไทยในปี 2566 เราได้เห็นการเปลี่ยนชุดรัฐบาลจาก ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่ยุคของ เศรษฐา ทวีสิน ที่เกิดภาพเปรียบเทียบได้

สถานการณ์โลกปีนี้ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะปลายปีที่จัดแต่เรื่องร้อนให้กับรัฐบาลเศรษฐา ที่กำลังชุลมุนกับนโยบายภายในประเทศที่ยังสับสน วันหนึ่งตอบแบบหนึ่ง อีกวันตอบมาอีกแบบ ทีมโฆษกรัฐบาลต้องคอยตามแก้ข่าวไม่มีหยุดพัก ก็ยิ่งอยากรู้ว่าจะแก้ยังไง แต่ขอเว้นนโยบายการเมืองภายในไปก่อน

ถ้าจะให้นิยามการต่างประเทศไทยในปี 2566 จากประยุทธ์สู่เศรษฐา คงเรียกได้ว่า “จากโดดเดี่ยวคืนสู่วิถีพ่อค้า แต่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังช้าและใจไม่ถึง”

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะย้ำชัดถึงนิยามดังกล่าว

 

ทูต (เศรษฐกิจ) เชิงรุก

: เดินตามหลักคิดทักษิณในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งเศรษฐาและปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ ได้ประชุมกับทูตทุกระดับ เพื่อมอบนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” โดยแนะปรับกระบวนทัศน์ และกรอบงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การเป็น “การต่างประเทศที่คนไทยจับต้องได้” เน้นสร้างความกินดีอยู่ดี ยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ถ้ามาพินิจพิเคราะห์แบบเร็วๆ จะนึกได้ทันทีว่า นี่เป็นหลักคิดแบบเดียวกับยุครัฐบาลไทยรักไทยที่ปรับบทบาททูตไทยให้ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมน หาลูกค้าทั่วโลก ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี

ปัญหาเดียวคือ แนวคิดนี้มันสอดรับกับกระแสโลกในช่วงเข้าสหัสวรรษใหม่ที่เป็นกระแสโลกาภิวัตน์ และระบบโลกตอนนั้นก็ยังอยู่ใต้การนำของสหรัฐ แต่ว่าในปี 2023 ระเบียบโลกอยู่ในภาวะหลายขั้ว ประเทศมหาอำนาจใหญ่และกลางออกมาแข่งขันชิงอำนาจนำ เกิดสงครามหรือข้อพิพาทมากขึ้น

การดันทูตเศรษฐกิจเชิงรุกหาตลาดในภาวะแบบนี้ เหมือนแล่นเรือไม่ดูทิศทางลมคลื่นว่าปั่นป่วนขนาดไหน

มองในอีกด้าน แม้จะเห็นภาพเศรษฐาสวมบทพ่อค้า ไปจับมือกับเจ้าของธุรกิจต่างๆ แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ อย่าคิดว่าบริษัทเหล่านี้จับมือปุ๊บแล้วเซ็นสัญญาทันที เผลอๆ บางบริษัทเล็งประเทศไทยก่อนที่เศรษฐาบินไปพบด้วยซ้ำ แต่พวกเขามีข้อมูลในมือชนิดลึกกว่าที่รัฐบาลไทยคิด

แล้วข้อมูลต่างชี้ไปในทิศทางคล้ายกันคือ ไทยยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงปะทุอีกรอบ

ยิ่งการเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 และจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วออกมาแบบนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะเห็นต่างชาติตั้งฐานผลิตแล้วอยู่ยาวๆ

 

ไทยกับชาติมหาอำนาจ

การเปลี่ยนที่ไม่เปลี่ยน

เรื่องความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ ไทยขึ้นชื่อมากในนโยบายไผ่ลู่ลม จากใต้ปีกพญาอินทรี มาสู่ใต้เงามังกร พอเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเศรษฐา แม้มีบทวิเคราะห์ที่กล่าวถึงโอกาสการจัดความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างไทยกับสหรัฐ และได้เห็นภาพเศรษฐายืนชิดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐ อาจกลับมาสนใจไทย

แต่ระดับความสัมพันธ์ยังบอกไม่ได้ว่า จะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ในขณะที่สหรัฐยกระดับกับชาติอาเซียนอื่นอย่างเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ชนิดใกล้ชิดมาก เพราะมองถึงการสร้างแนวปิดล้อมอิทธิพลจีน

แม้ล่าสุดทั้งไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้หารือกันและเห็นตรงกันว่าจะไม่ให้การเผชิญหน้าบานปลาย แต่ก็ไม่รับประกันว่าจะรักษาสภาวะนี้ได้นานแค่ไหน

พอมาดูความสัมพันธ์ของไทยกับจีน จัดว่ากินพื้นที่สื่อเยอะและหลายมุมมอง แต่ไปในทางวิจารณ์รัฐบาลเศรษฐาถึงความไร้จุดยืนและปฏิบัติไม่ต่างกับยุคของประยุทธ์ โดยเฉพาะข้อเสนอการนำตำรวจจีนมาลาดตระเวนในไทย สาธารณชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องการสื่อสารผิดพลาด เพราะแนวคิดดังกล่าวผุดขึ้นหลังจากเศรษฐาร่วมประชุม BRF ที่ปักกิ่งและหารือกับสี จิ้นผิง ด้วย

หรือกรณีสถานทูตจีนในไทยมีพฤติกรรมแทรกแซงเสรีภาพสื่อไทยจากกรณีสำนักข่าวแห่งหนึ่งสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝั่งไต้หวันจนทำให้สำนักข่าวนั้นต้องลบเนื้อหาออก รัฐบาลไทยกลับไม่ทำอะไรที่แสดงถึงการปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชนไทย

ไม่นับถึงความไม่เสมอต้นเสมอปลายในฐานะผู้นำของประเทศ

เพราะในขณะที่เศรษฐาโพสต์เล่าถึงการร่วมประชุม BRF ของจีนลงทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เศรษฐาก็ไปร่วมประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐที่จัดพร้อมกับประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโกด้วย

แต่เศรษฐากลับไม่เล่าเรื่องนี้

มาพบเจอว่าเศรษฐาร่วมประชุมคือ ภาพหมู่ที่เผยแพร่ในทวิตเตอร์ POTUS หรือประธานาธิบดีสหรัฐ

สงสัยกลัวทำพี่สีเคือง?

แม้เป็นเรื่องต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองเมื่อไหร่ รัฐบาลไทยก็จะหลีกเลี่ยง ไม่อยากมีปัญหา ทั้งที่จริง ไทยมีอำนาจต่อรอง แค่ไม่รู้ว่าตัวเองมี แต่ยังคงย้ำภาพจำว่าไทยเป็นประเทศเล็ก ซึ่งสะท้อนได้จากปัญหาการเมืองภายในของไทยที่มีส่วนหล่อหลอมวิธีคิดแบบนี้

และเห็นชัดตอนเศรษฐาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นโยบายต่างประเทศกล่าวเพียงกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียดว่า ไทยจะวางตัวกับระเบียบโลกยังไงกับชาติมหาอำนาจแต่ละประเทศต้องเป็นแบบไหน กับภูมิภาคและประเทศเพื่อบ้านเป็นยังไง ไม่มีปรากฏ

เพราะความไม่มีแผนหรือยุทธศาสตร์ที่เป็นเหมือนเข็มทิศที่ชัดเจน หรือมีแต่ไม่บอกตรงๆ กับประชาชน เวลารับมืออะไร ประชาชนจะมองด้วยสายตาไม่เชื่อมั่น (ยกเว้นกองเชียร์รัฐบาล)

เช่นกรณีคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันในช่วงอิสราเอลปะทะกับกลุ่มฮามาส แม้ในที่สุดจะสามารถพาตัวประกันชาวไทยกลับมาได้บางส่วน แต่ถ้าติดตามมาตลอด เราจะเห็นความล่าช้าและสื่อสารเกินจำเป็นในช่วงแรก

หรือกรณีพม่า ที่สมัยประยุทธ์มีแนวโน้มสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่ามาก แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน ฝ่ายต่อต้านโต้กลับจนยึดพื้นที่ตอนเหนือได้และรัฐบาลทหารพม่าเข้าตาจน รัฐบาลเศรษฐายังไม่มีท่าทีกับเรื่องนี้ให้เห็นเป็นแผนนัก

ขณะที่เรื่องอาเซียน ไทยก็ยังไม่แสดงความจริงจังทั้งที่อาเซียนเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ไทยกลับมามีบทบาท ในฐานะองค์กรภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองไปงัดกับประเทศใหญ่ๆ

แต่อาเซียนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากกรณีพม่า ที่ไทยปฏิบัติตัวนอกแถวจากเพื่อนอาเซียน

ยิ่งกรณีจีนกับอาเซียนที่ดูมีปัญหา ไม่ว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้หรือปัญหาแม่น้ำโขง ยังไงรัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนก็หนีไม่พ้น หรือการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมที่ต่างชาติมาลงทุนไม่ว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม

นี่ก็เป็นโอกาสที่ไทยควรแสดงความเป็นผู้นำ ชวนชาติสมาชิกอาเซียนสร้างกรอบความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจแบ่งปันแบบกลุ่มใหญ่ แทนที่จะแข่งขันกันเอง

 

ถ้าถามว่า สิ่งที่ควรทำในปี 2567 คืออะไร? การต่างประเทศของไทยต้องคิดใหญ่ และใจต้องใหญ่กับเรื่องไม่ถูกต้องแม้ไม่อยากยุ่งก็ตาม แค่ต้องสื่อสารให้ชาญฉลาด ย้ำว่า “การมีจุดยืนเป็นของตัวเอง” ไม่เท่ากับ “ชักศึกเข้าบ้าน” ผลประโยชน์กับหลักการที่ยึดมั่นต้องทำควบคู่กัน เพราะนั่นคือที่สิ่งประชาคมระหว่างประเทศอยากเห็น และไทยต้องทำให้เห็น

นอกจากนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการรับมือภาวะโลกเดือด ดูเหมือนสิ่งที่รับปากกับสิ่งที่ทำ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ดูได้จากดัชนีสิทธิมนุษยชนต่างๆ หรือ Climate Action Tracker ไทยยังห่างไกลจากเป้าหมายอีกมาก

สรุปคือการต่างประเทศไทย ถ้าไม่รีบปรับยุทธศาสตร์ ไม่เคลียร์ตัวเองให้ชัดแต่เนิ่นๆ ก็จะลงเอยแบบเดียวกับดิจิทัลวอลเล็ตที่ต้องคอยชี้แจงรายวันอยู่เรื่อยๆ ไป