จับตาเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ สนองนโยบาย ‘บิ๊กอุ้ม’ ลดภาระครู?

ทําเอาครูสับสนกันอีกรอบ หลัง “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศปรับเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา…

ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพิ่งประกาศและเริ่มใช้เกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทันทีที่รับนโยบาย ต้นสังกัดอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สั่งเดินเครื่องตั้งคณะทำงาน

พร้อมจัดทำการสำรวจความคิดเห็น เพื่อยกร่างหลักเกณฑ์เสนอ ก.ค.ศ.พิจารณา

 

ผลการสอบถามความคิดเห็น ได้ข้อสรุปว่า

“ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้ สพฐ. และ ก.ค.ศ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ อันดับแรก คือ ลดระยะเวลาในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามมาด้วย อยากให้ปรับหลักเกณฑ์ประเมินให้มีความเหมาะสม มีทางเลือกที่หลากหลาย และอยากให้ลดภาระงานครู ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน และมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบการประเมิน ดังนี้

ลดเกณฑ์ระยะเวลาในการประเมิน เช่น เหลือ 1-4 ปี เลื่อนวิทยฐานะตามอายุราชการ เช่น 10 ปีขึ้นไปมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท สายบริหารการศึกษา สามารถลดหย่อนได้เหมือนสาขาอื่นๆ ลดระยะเวลาในการตรวจ ให้กระชับรวดเร็วขึ้น ให้ผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้รับรองการตรวจได้ ให้คณะครูและนักเรียนสามารถร่วมประเมินได้ รวมถึงอยากให้ปรับระบบการเข้าใช้ง่ายให้ง่ายขึ้น”

การสำรวจความเห็นครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 53,043 ราย จากครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ กว่า 4 แสนราย แบ่งเป็นเพศชาย 14,591 ราย หญิง 38,452 ราย ช่วงอายุระหว่าง 25-45 ปี อายุราชการ 5-15 ปี โดยเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดำเนินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ 29,222 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการขอ 7,873 ราย ได้รับอนุมัติการขอในปี 2565-2566 จำนวน 9,770 ราย

ประเด็นหลัก คือ

1. การประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง ควรใช้แนวทางที่ไม่เพิ่มภาระงาน และลดการสิ้นเปลืองในการใช้กระดาษ มีผู้เห็นด้วย 88.80%

2. คณะกรรมการประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละวิชา/สาขา ควรมีความรู้ความเข้าใจในการประเมินเป็นมาตรฐานเดียวกัน เห็นด้วย 86%

และ 3. ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้มีทางเลือกการเสนอขอมากกว่าปัจจุบัน เห็นด้วย 83.60%

ส่วนการประเมินโดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (ระบบ Digital Performance Appraisal : DPA) นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า เป็นระบบที่มีความเหมาะสม 58.89% ควรปรับปรุง 33.32% และเห็นว่าไม่เหมาะสม 7.79%

 

ส่วนหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะที่มีความเหมาะสม ดังนี้ การปะเมินตามหลักเกณฑ์ PA (ว 9/2564) 54%, ว17/2552 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ 19%, ว21/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ 14% และ ว13/2556 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง 13%

ล่าสุด ก.ค.ศ.มีข้อสรุปให้เดินหน้าใช้เกณฑ์ PA เช่นเดิม แต่จะปรับปรุงระบบการประเมินฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้สอดคล้องกับนโยบาย ใน 6 ข้อ คือ

1. เพิ่มห้องเรียนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำหรับข้าราชการครูฯ ที่สอนในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น แนะแนว ลูกเสือ เนตรนารี รวมทั้งปรับปรุงภาระงานสอน ในส่วนของชั่วโมงสอน ให้เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานจริง

2. เพิ่มทางเลือกในการยื่นคำขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับครูที่มีความถนัดในการสร้างและใช้นวัตกรรม

3. เพิ่มตัวชี้วัดการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

4. เพิ่มช่องทางการแนบหลักฐานการได้รับรางวัลหรือได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐหรือเอกชน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยเป็นการแนบตามความสมัครใจไม่เป็นเงื่อนไขบังคับ

5. พัฒนาระบบประเมินโดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Performance Appraisal : DPA Version3) ให้สะดวกต่อผู้ใช้งานมากขึ้น

และ 6. จัดทำ Application สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ.กับกรรมการประเมินในระบบ DPA

 

นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ย้ำว่า การปรับปรุงระบบการประเมินในครั้งนี้ ฝ่ายนโยบายและผู้บริหารระดับสูงทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันแล้ว และให้ความคิดเห็นตรงกันว่าควรเปิดกว้างและเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายในการประเมินให้ข้าราชการครูฯ ได้เลือกประเมินตามความเหมาะสมและความถนัดโดยได้เพิ่มห้องเรียนรวมถึงทางเลือกในการยื่นคำขอเพิ่มขึ้น และใช้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเข้ามาเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติม เนื่องจากเกณฑ์ PA ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไปพร้อมๆ กับเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนของครู

ซึ่งขอยืนยันและให้ความมั่นใจกับข้าราชการครูฯ ว่า ศธ.เดินหน้าใช้เกณฑ์ PA ในการประเมินวิทยฐานะฯ ต่อไป และขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการประเมินฯ และปรับระบบ DPA ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินการทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว และจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทุกท่านทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ก.ค.ศ.กำหนดว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีงบประมาณ 2567 แล้ว ดังนั้น จึงมีเสียงสะท้อนจากครูและบุคลากรทางการศึกษา อยากให้มีความชัดเจน ว่าการปรับครั้งนี้ จะเป็นไปในทิศทางไหนอย่างไร เพื่อให้ครูที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ได้มีเวลาเตรียมความพร้อม ที่สำคัญไม่ทำให้เกิดความสับสน

“เกณฑ์ PA กำหนดให้ครูที่มีความพร้อมสามารถเสนอขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้ตลอดเวลา แต่พอ ก.ค.ศ.ประกาศจะปรับตามนโยบายรัฐมนตรี ทำให้คนสับสน ว่าระหว่างนี้ให้ใช้เกณฑ์เดิมไปก่อน หรือให้รอเกณฑ์ใหม่ เพราะยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้นอยากให้ สพฐ. และ ก.ค.ศ.หารือกันอย่างจริงจัง เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับครูทั่วประเทศ จึงอยากให้มีความชัดเจนก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ รวมถึงอยากให้นำผลสำรวจความคิดเห็นของ สพฐ. มาใช้เป็นแนวทางในการปรับหลักเกณฑ์ด้วย เพราะหากสอบถามความเห็นส่วนใหญ่ ก็อยากให้ประเมินตามความถนัดและบริบทของครู” นายณรินทร์กล่าว

ความสับสนจากเกณฑ์ PA ที่เพิ่งประกาศใช้ปลายปี 2564 ยังไม่ทันจาง เปลี่ยนรัฐมนตรี ก็ต้องปรับตามนโยบาย

งานนี้ถ้าครูไม่มึน จะงงมาก!!

ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้มีความชัดเจน เพราะหากปรับแล้วไปกระทบสิทธิใครเข้า ปัญหาฟ้องร้องจะตามมาเป็นหางว่าว •