ยาดีตรีสารคุ้มครองสุขภาพในหน้าหนาว

เมื่อสิ้นเดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนากันถ้วนหน้าแล้ว ก็ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดูกาลจากฝนเป็นหนาวที่ชาวเมืองเฝ้ารอคอย ไปเต๊อะไปแอ่วดอยรับสายลมเหมันต์ที่กำลังโบกพัดมา

แต่หน้าหนาวเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเก่าก่อน เพราะหนาวนี้สิ่งที่ต้องเตรียมตัว มิได้มีแค่เสื้อกันหนาว แต่ต้องมีหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วย เพราะอุตส่าห์ถ่อกายไปเที่ยวชมหมอกถึงบนดอยทั้งที แต่ก็ยังหนีไม่พ้นหมอกฝุ่นจิ๋วที่มาจากการเผาป่า เผาไร่ เจอทั้งภัยหนาว และภัยหมอก PM 2.5 ซึ่งมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด ไอ มีเสมหะ โรคถุงลมโป่งพอง

ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กระทั่งอาจทำให้เป็นมะเร็งปอด เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรังตามมา

นี่กล่าวเฉพาะโรคที่เกิดจากฝุ่นจิ๋ว ส่วนโรคที่มากับฤดูกาลนั้น หากกล่าวตามหลักการแพทย์แผนไทย นับจากวันลอยกระทงเป็นต้นไปอีก 4 เดือนข้างหน้าถือว่าเป็นช่วง “เหมันตสมุฏฐาน” คือฤดูหนาวเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยท่านกำหนดเอาปรากฏการณ์ที่มี “น้ำค้างตกลงเป็นพิกัดแห่งเสมหะสมุฏฐาน” ดังคำกลอนสุนทรภู่ท่านพรรณนาบรรยากาศหนาวน้ำค้างกลางคืน ท้องฟ้ากระจ่างแจ้งด้วยแสงดาวระยิบระยับไว้ว่า

“หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน จะกางกรกอดน้องประคองขวัญ

เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์ ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อย”

 

ในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยกล่าวว่าการรักษาสุขภาพในช่วงต้นหนาวต้องระวังเรื่อง “ศอเสมหะและอุระเสมหะ” คือ ภาวะเสมหะเฟื่องในลำคอและในปอด ทำให้มีอาการหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหลหยดย้อย โพรงจมูกอักเสบ ไอเรื้อรัง กระทั่งอาจเกิดอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวมได้

ยิ่งเมื่อมีฝุ่นจิ๋วแทรกซ้อนด้วยแล้ว ภาวะโรคทางเดินหายใจในหน้าหนาวก็จะยิ่งทวีความรุนแรง แม้ในหลักการวินิจฉัยสาเหตุที่ตั้งที่เกิดโรคของการแพทย์แผนไทย จะมี 4 ประการผสมผสานกัน แต่ท่านก็ให้ใช้ “ฤดูสมุฏฐาน” เป็นหลักในการวินิจฉัยไว้ว่า

“แลอันสมุฏฐานทั้ง 4 คือ ธาตุ, ฤดู, อายุ, กาล, สมุฏฐานซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น จะยกเอาแต่สมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่ง ขึ้นเป็นประมาณยังบ่มิได้ ด้วยเป็นที่อาศัยซึ่งกันและกัน แต่ฤดูสมุฏฐานนี้จะได้ผ่อนผันตามสมุฏฐานทั้งปวงนั้น หามิได้ อาศัยแต่กระทบเป็นจะละนะสมุฏฐานพิบัติทั้ง 3”

กล่าวโดยสรุปคือ ฤดูกาลเป็นสาเหตุใหญ่ในการเกิดโรค และมีผลกระทบต่อสมุฏฐานอีก 3 ประการที่เหลือให้กำเริบ หย่อน พิการ มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลจะเป็นโรคใดในฤดูใด ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจึงกำหนดพิกัดยาประจำฤดูกาลไว้

กล่าวเฉพาะตำรับยาพิทักษ์สุขภาพประจำฤดูหนาว ต้องยกให้ “ตรีสาร” หรือ “สมุนไพรอันเป็นแก่นสารทั้ง 3 ” ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน และรากช้าพลู ใช้ในปริมาณเท่ากันโดยน้ำหนัก มีสรรพคุณช่วยระงับโรคอันบังเกิดจากเสมหะในฤดูหนาวเย็นเป็นหลัก และยังช่วยแก้อาการวาตะและปิตตะอันเกิดจากสมุฏฐานอื่นอีก 3 ประการได้ด้วย

มาทำความรู้จักสรรพคุณสมุนไพรในพิกัดตรีสาร

(1) เจตมูลเพลิงแดง ช่วยแก้กองธาตุไฟทั้ง 4 ในร่างกายให้บริบูรณ์ ได้แก่ ไฟอุ่นร่างกายให้ปกติ ไฟย่อยอาหาร ไฟแปรปรวน และไฟชราภาพ

(2) สะค้าน แก้อาการลมผิดปกติในกองธาตุลมทั้ง 6 คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมพัดในท้องแต่อยู่นอกลำไส้ ลมพัดในลำไส้ ลมพัดทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้า-ออก

(3) ช้าพลู ช่วยระงับเสมหะทั้งปวงที่อยู่ในลำคอ (ศอเสมหะ) ในปอด (อุระเสมหะ) และในช่องทวารหนัก (คูถเสมหะ ) ตลอดจนทำให้เสมหะและเมือกข้นในร่างกายลดน้อยลงด้วย เมื่อสารสมุนไพรทั้ง 3 รวมกันจะกลายเป็นตำรับยามีฤทธิ์ร้อน ช่วยอุ่นร่างกายกระจายเลือดลม ช่วยป้องกันและแก้อาการโรคในระบบทางเดินหายใจในฤดูหนาวได้ผลดีมาก

วิธีปรุงยา นำรากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู หนักสิ่งละ 15 กรัม ใส่ลงในน้ำสะอาดประมาณ 500-600 ซีซี

วิธีทำ ต้มจนน้ำเดือดราว 10 นาที หรี่ไฟลงต้มจนน้ำงวดลง กรองน้ำยาให้ได้ปริมาณ 200-250 ซีซี รับประทานน้ำยาครั้งละ 3-5 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 45-75 ซีซี) วันละ 3 เวลาหลังอาหาร เด็กลดปริมาณลงตามส่วน

ข้อห้าม ไม่ควรรับประทานยาก่อนอาหารหรือท้องว่างเพราะฤทธิ์เผ็ดร้อนอาจระคายเคืองกระเพาะ แต่หากท้องว่างจะค่อยๆ จิบชาตรีสารช่วยให้ร่างกายอบอุ่นก็ได้ ห้ามใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ

ยาตรีสาร เป็นยาไทยประจำฤดูหนาว เมื่อเป็นโรคอะไรก็ตามในฤดูนี้ ให้ใช้ยาตรีสารรักษาสมุฏฐานของโรคประจำฤดูหนาวไว้ด้วย เพื่อป้องไม่ให้สมุฏฐานโรคประจำฤดูหนาวกำเริบขึ้น และเป็นการช่วยให้ยาหลักที่รักษาโรคโดยตรงมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น แม้ยังไม่ป่วยไข้เป็นอะไร แต่ถ้าวันใดมีอากาศหนาวเย็นมากถึงเย็นจัด การดื่มชาตรีสารจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นสามารถฮัมเพลง “เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป” โดยปลอดโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

เหมันต์นี้ หาก “หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน” ไม่รู้จะกางกรกอดใคร ก็ให้จิบน้ำชาตรีสารอุ่นกายให้หายหนาวแทนดีกว่านะจะบอกให้ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org