‘ชานมไข่มุก’ ดื่มมากๆ เสี่ยง ‘ซึมเศร้า’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

นับตั้งแต่ Lin Hsiu Hui ผู้จัดการ Chen Shui Tang ร้านชาชื่อดังแห่งไต้หวัน ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนคิดค้น และได้ให้กำเนิด “ชานมไข่มุก” โดยบังเอิญในปี ค.ศ.1988 โลกก็ได้รู้จัก “ชานมไข่มุก” และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาว

อันที่จริงต้องบอกว่าต้นกำเนิด “ชานมไข่มุก” ที่แท้จริงนั้น เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1987 เมื่อ Liu Han Chien เจ้าของร้าน Chen Shui Tang ผู้คิดค้น “ชาอูหลงนมเย็น” ได้จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ให้กับพนักงาน

โดย Liu Han Chien ได้จัดแคมเปญเล็กๆ เพื่อแข่งขันกันเล่นๆ ในหมู่พนักงาน โดยให้เล่นเกม “คิดค้นส่วนผสมชาสูตรใหม่ๆ” ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรับรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นของขวัญปีใหม่

แม้งานเลี้ยงปีใหม่ในคืนนั้นจะไม่มีเมนูแปลกใหม่ที่ได้จากการแข่งขัน แต่ในวันถัดมา คือการประชุมประจำเดือนของร้านชา Chen Shui Tang ไม่มีใครรู้ว่าวันดังกล่าวจะกลายเป็นต้นกำเนิด “ชานมไข่มุก” ถล่มโลกในเวลาต่อมา

วันนั้น มันเป็นการประชุมประจำเดือนของร้านชา Chen Shui Tang

ขณะที่ Liu Han Chien และพนักงานทุกคนกำลังเคร่งเครียดกับการประชุม เพื่อคิดค้นสูตรชาใหม่ๆ เนื่องจากมีเสียงบ่นจากลูกค้า ว่าเริ่มเบื่อชาสูตรเก่าๆ กันแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการแก้ตัว ที่ไม่มีไอเดียใหม่เกิดขึ้นจากงานเลี้ยงปีใหม่เมื่อตอนสิ้นปี

 

ระหว่างการประชุมอันแสนน่าเบื่อ อยู่ๆ Lin Hsiu Hui ผู้จัดการร้านชา Chen Shui Tang ก็หยิบ Fen Yuan “ลูกมันสำปะหลังปั้น” (หน้าตาคล้ายสาคูบ้านเราแต่ขนาดใหญ่กว่า) ซึ่งเป็นของกินเล่นแสนโปรดของเธอใส่ปาก

แต่แล้ว อยู่ๆ Liu Han Chien เจ้าของร้าน ก็เกิดอารมณ์เสียเพราะลูกน้องคิดสูตรชาใหม่ไม่ได้สักที เขาเดินเดือดดาลออกจากห้องประชุมไป

Lin Hsiu Hui ผู้จัดการร้าน ก็อารมณ์เสียไม่แพ้กัน จึงเท Fen Yuan ลงไปในแก้ว “ชานมเย็น” ที่เธอกำลังดื่ม

ก็เป็นอันว่าจบการประชุมโดยที่ทางร้าน Chen Shui Tang ไม่ได้สูตรชาใหม่ใดๆ ขึ้นมาเลย

ขณะที่ทุกคนเดินออกจากห้องประชุมไปหมด Lin Hsiu Hui หยิบแก้ว “ชานมเย็น” ขึ้นมาดูด ปรากฏว่า Fen Yuan หรือ “ลูกมันสำปะหลังปั้นขนาดใหญ่สีดำ” ติดหลอด ทำให้ดูดน้ำชาไม่ขึ้น

Lin Hsiu Hui จึงเปิดแก้ว แล้วลองเขี่ย Fen Yuan ขึ้นมากิน พร้อมดูดน้ำชานม ปรากฏว่า อร่อยมาก!

เธอจึงเดินไปให้เพื่อนพนักงาน และ Liu Han Chien เจ้าของร้านชา Chen Shui Tang ได้ลองชิมดูบ้าง

หลังดื่มกันเสร็จ ทุกคนลงความเห็นเช่นเดียวกันกับเธอว่า อร่อยมาก!

“แม้จะออกจากห้องประชุมกันมาแล้ว แต่ทุกคนในที่ประชุมวันนั้นชอบมันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Liu Han Chien ได้อนุมัติสูตร และทำออกขาย”

 

“หลังจากวางขาย ชานมไข่มุก ทำรายได้แซงชาแบบอื่นๆ ทั้งหมดในเวลาแค่ 2 เดือน และแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ชานมไข่มุกก็ยังทำรายได้ 90% ของยอดขายร้าน Chen Shui Tang ทั้งหมด” Lin Hsiu Hui เล่าที่มาของจุดกำเนิด “ชานมไข่มุก”

ปัจจุบัน Lin Hsiu Hui ยังคงทำงานให้กับ Chun Shui Tang ในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขณะที่ “ชานมไข่มุก” ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และทำยอดขายถล่มทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ที่ Lin Hsiu Hui ได้คิดค้น “ชานมไข่มุก” ขึ้นมาในปี ค.ศ.1988 “ชานมไข่มุก” ได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาว

อันนำไปสู่ความห่วงใยของนักโภชนาการ และนักวิจัยจำนวนมาก ที่เกรงว่าคนหนุ่มสาวที่เสพติด “ชานมไข่มุก” อาจเสี่ยงเป็น “โรคซึมเศร้า”

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงฮวา ได้ตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสาร Journal of Affective Disorders จากผลการสำรวจข้อมูลสุขภาพของนักศึกษา 5,281 คน ในกรุงปักกิ่ง

ผลการวิจัยพบว่า การ “เสพติดชานมไข่มุก” นั้น มีอยู่จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพจิต โดยนำไปสู่การเกิดสภาวะวิตกกังวลเกินเหตุ โรคซึมเศร้า และอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย!

กว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ดื่ม “ชานมไข่มุก” เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละแก้ว

เกือบ 75% มีพฤติกรรมดื่ม “ชานมไข่มุก” ที่แสดงถึงการเสพติด อาทิ ดื่มในปริมาณมากหลายแก้วในคราวเดียว หรือรู้สึกกระหายอยากดื่ม “ชานมไข่มุก” อยู่ตลอดเวลา

 

เนื่องจาก “ชานมไข่มุก” มีปริมาณน้ำตาลสูง รวมทั้งมีสารกาเฟอีนที่ทำให้เสพติดได้

นักวิจัยพบว่า คนที่เสพติด “ชานมไข่มุก” มักมีอารมณ์ขุ่นมัว และเงียบเหงาเศร้าสร้อยง่าย อีกทั้งยังมีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนจีน

และมีแนวโน้มว่าคนหนุ่มสาวใช้การดื่ม “ชานมไข่มุก” เป็นเครื่องมือจัดการกับอารมณ์ที่ปั่นป่วนของตน ไม่ก็ใช้เป็นกลไกรับมือทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

ส่งผลให้การเสพติด “ชานมไข่มุก” คล้ายกับการเสพติด Social Media หรือสารเสพติดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดถึงกลไกทางกายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจิตวิทยา ที่เป็นต้นเหตุได้

แต่นักวิจัยยืนยันว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการเสพติด “ชานมไข่มุก” กับปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีอยู่จริง และเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง ซึ่งควรจะมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในเชิงลึกต่อไป

 

ปัจจุบัน นักโภชนาการจำนวนมากมีความเป็นห่วงว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา “ชานมไข่มุก” ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่กลุ่มวัยรุ่นอายุน้อย และคนหนุ่มสาวชาวเอเชียหลายประเทศ

ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน และโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสี่ยงที่จะเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้มากกว่าอีกด้วย

ทั้งนี้ “ชานมไข่มุก” จากไต้หวันได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนคนเอเชียทั่วโลก และร้านชา Chen Shui Tang ก็ไปเปิดสาขาในย่านเกาลูน กวนตง ฮ่องกง

โดยในปัจจุบัน “ร้านชานมไข่มุก” ผุดขึ้นมากมายในอเมริกาเหนือ และยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย

การที่ “ชานมไข่มุก” เป็นเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดเครื่องดื่มที่เดิมก็มีการแข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว ส่งผลให้มีการปรุงแต่งแตกสายรสชาติ และคุณภาพของ “ชานมไข่มุก” ที่แตกต่างกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ชานมมะลิ ชานมเผือก ชาเขียวมะม่วง หรือแม้แต่ชานมอะโวคาโด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท็อปปิ้งที่หลากหลายยิ่งกว่ารสชาติชา ไม่ว่าจะเป็น ว่านหางจระเข้ บราวน์ชูการ์ อัลมอนด์ มะม่วง ไปจนถึงทุเรียน

 

การสำรวจตลาดซึ่งจัดทำโดย Growth Capital ระบุว่า ในปี ค.ศ.2023 “ตลาดชานมไข่มุก” ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในซีกโลกตะวันออก นั่นคือจีน ที่มีจุดขายเกือบ 480,000 แห่ง

โดยไต้หวันซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิด มี “ร้านชานมไข่มุก” มากกว่า 21,000 แห่ง

ส่วนตลาดซีกโลกตะวันตกคือสหรัฐอเมริกา ที่มีจุดขาย 5,000 กว่าแห่ง

โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองผู้นำตลาดชานมไข่มุกถึง 40% ของตลาด

โดยมีสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับสอง มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 35%

ในขณะที่ยุโรปคิดเป็น 11% ของตลาดโลก