เศรษฐกิจการเมือง ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (4)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

เศรษฐกิจการเมือง

ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (4)

 

ในยุคสมัยใหม่ (ต่อ)

จะเหลือก็แต่ไทยเท่านั้นที่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ และด้วยบรรยากาศเปิดในทางการเมือง ทำให้ไทยมีชนชั้นนำกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่กลุ่มชนชั้นนำเดิม และส่วนหนึ่งก็คือ ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นมาหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมปี 1973

การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของชนชั้นนำกลุ่มนี้ มีผลอย่างมากต่อนโยบายการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าจึงดูเหมือนจะมีไทยกับจีนเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีเป็นพิเศษ และยิ่งมีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ต่างกันมากด้วยแล้ว จีนกับไทยจึงกลายเป็นเสมือนตัวแสดงหลักในลุ่มแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา

ยุคสมัยใหม่ทางเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวหากดูเผินๆ แล้วจะพบตัวแสดงหลักๆ อยู่เพียงไม่กี่ชนชาติเท่านั้นคือ จีน พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ทั้งที่ลึกลงไปแล้วยังมีอีกหลายชนชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้องอย่างมีตัวตนและบทบาท

แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มชนชาติที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักทางอำนาจ ชนชาติเหล่านี้จึงเป็นที่รู้จักกันน้อยมากสำหรับโลกภายนอกในเวลานั้น ที่จะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่บ้างก็คือ กลุ่มชนชาติต่างๆ ในเมียนมาดังที่กล่าวไปแล้วนั้นเอง

 

ในยุคโลกาภิวัตน์

กล่าวได้ว่า หากไม่นับจีน ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามแล้ว ตลอดทศวรรษ 1990 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเมียนมาดูจะเป็นเพียงรัฐเดียวที่ยังคงมีปัญหาภายในของตนอยู่ โดยเฉพาะกับปัญหาชนชาติที่คั่งค้างมานานและยังยากที่จะแก้ไข

ส่วนพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจการเมืองของเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำเดียวกันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย โดยมีจีนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยตลอดทศวรรษ 1990 จีนเป็นฝ่ายเร่งเร้าให้มีการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมด้วยความกระตือรือร้น

วิธีการใช้ก่อนอื่นจะต้องเริ่มจากการระเบิดเกาะแก่งที่เป็นอุปสรรคกับการเดินเรือเสียก่อน และจีนก็เร่งเร้าเพื่อให้วิธีการดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ตลอดทศวรรษที่ว่าจีนไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะนอกจากไทยแล้ว รัฐที่เหลือหากไม่เฉยเมยเสียก็คัดค้านอยู่ลึกๆ

รัฐบางรัฐยังได้แสดงความกังวลสงสัยไปถึงโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเหนือแม่น้ำโขงหรือ “หลันชาง” ของจีนอีกด้วย แต่ในกรณีนี้ไม่มีผลทำให้จีนหยุดยั้งโครงการของตนไปได้

สิ่งที่ดูจะเป็นความสำเร็จของจีนในระดับหนึ่งก็คือ การเร่งเร้าให้มีการพัฒนาเส้นทางบกที่อยู่ในลาวและเมียนมาจนสามารถใช้การได้ แม้หลายช่วงยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักก็ตาม

ตราบจนลุล่วงสู่ศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว 2-3 ปี รัฐต่างๆ ที่เคยเฉยเมยหรือคัดค้านจีนก็ยอมให้จีนระเบิดเกาะแก่งดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการระเบิดในระยะที่สองเพื่อให้เรือที่มีระวางน้ำหนักไม่เกิน 300 ตันสามารถแล่นได้ประมาณ 8 เดือนต่อปี

ผลจากการคมนาคมบนเส้นทางบกก็ดี เส้นทางแม่น้ำโขงก็ดี ทำให้มูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้นจากทศวรรษ 1990 เป็นร้อยเป็นพันเท่า ตัวเลขนี้ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะกับวิถีชีวิตของชนชาติต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง

 

ควรกล่าวด้วยว่า การระเบิดเกาะแก่งเพื่อปรับปรุงร่องน้ำโขงได้เกิดเรื่องตลกร้ายเรื่องหนึ่งขึ้นมาด้วย นั่นคือ การที่ได้มีกลุ่มประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงได้ลุกขึ้นมาคัดค้านการปรับปรุงร่องน้ำดังกล่าว จนทำให้รัฐบาลไทยต้องระงับการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อทำการศึกษาใหม่

ฉะนั้น ในขณะที่เกาะแก่งในส่วนที่ตั้งอยู่ในเขตเมียนมาและลาวได้รับการปรับปรุง (ระเบิด) ไปแล้วนั้น ในส่วนของไทยกลับยังทำไม่ได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรที่ตลกร้ายอย่างยิ่ง ด้วยไทยเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการปรับปรุงร่องน้ำจนออกนอกหน้ามากกว่าลาวและเมียนมาเสียอีก

แต่ไทยกลับกลายเป็นเพียงผู้เดียวที่ร่องน้ำยังไม่ได้ถูกปรับปรุง

แต่กระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า ตลกร้ายเรื่องนี้นับเป็นตัวอย่างอันดีเลิศในการสะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นตัวอย่างที่ชนชาติทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงพึงได้ศึกษาเอาเยี่ยงอย่างอยู่ไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงที่ทำผ่านเส้นทางคมนาคมนี้ก็ได้ก่อปัญหาขึ้นมา ปัญหาที่โดดเด่นยิ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องยาเสพติด อันที่จริงปัญหานี้มีมาตั้งแต่สงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษเมื่อกว่าร้อยปีก่อนแล้ว แต่ที่ก่อปัญหามาโดยตลอดก็คือ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา ที่การผลิตและค้ายาสพติดได้หนักข้อยิ่งขึ้น

ที่เป็นเรื่องตลกร้ายก็คือว่า จีนหลังการยึดครองของ พคจ.นั้นแทบไม่พบปัญหานี้เลย แต่ปัญหากลับไปปะทุเอาในเมียนมา ไทย และลาว

แม้ขบวนการค้ายาเสพติดจะมีข้ออ้างว่า เพื่อเอาเงินจากการค้ายาเสพติดมาเป็นทุนในการกอบกู้เอกราชให้แก่ชนชาติตนเอง แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ส่วนหนึ่งของผลประโยชน์จากการค้ายานี้ได้มีการนำมาแบ่งปันกันในหมู่ชนชั้นนำในรัฐที่เกี่ยวข้อง

แต่ครั้นพอจีนเดินเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเปิดประตูทางด้านอวิ๋นหนันออกไปตนได้ไม่นานเท่านั้น ยาเสพติดก็หลั่งทะลักเข้าไปในจีนอย่างมหาศาล (และแน่นอนว่าย่อมต้องเข้าไปในรัฐที่เหลือของลุ่มแม่น้ำโขงด้วย)

ประเด็นก็คือว่า ขบวนการค้ายาเสพติดที่มีบทบาทสูงเด่นนี้ต่างมี “ประวัติศาสตร์” ที่ติดค้างอยู่กับจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

กล่าวคือ ขบวนการหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “โกกั้ง” (จีนกลางอ่านว่า “กั๋วกั่น”) นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ บรรดาข้าราชบริพารของเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์หมิงองค์หนึ่งที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ หลังจากที่ราชวงศ์หมิงที่พวกแมนจูโค่นล้มในปี 1644 ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ผู้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์นี้ต่อมาได้หนีการไล่ล่าของทัพหมิงเข้าไปในเมียนมา แต่ต่อมาทัพหมิงได้กดดันให้เมียนมาส่งตัวกลับไปสำเร็จโทษที่อวิ๋นหนันได้สำเร็จ โดยภายหลังจากนั้นกลุ่มข้าราชบริพารที่เป็นชาวจีนเหล่านี้ก็ยังคงพำนัก และเจริญเติบโตพร้อมกับสืบสายกระจายพันธุ์อยู่ในเมียนมาเรื่อยมา

จวบจนศตวรรษที่ 19-20 ชนชาติจีนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ทรงอิทธิพลขึ้นมาจากการค้ายาเสพติด ซึ่งก็คือ กลุ่มโกกั้ง

แต่กระนั้น แกนนำของกลุ่มโกกั้งก็มีความขัดแย้งกันเอง และมีการช่วงชิงการนำมาโดยตลอดแทบไม่เว้น ตราบจนในช่วงที่ได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) ขึ้นในจีนนั้นเอง ก็ได้ทำให้โกกั้งกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งเราไม่ควรลืมว่าเขาเหล่านี้คือคนจีน) รับเอากระแส “ซ้าย” จากจีนเข้ามาด้วย

ด้วยการสนับสนุนของจีน โกกั้งกลุ่มนี้จึงได้เข้าร่วมกับ พคม. ซึ่งก็มีจีนสนับสนุนอยู่ข้างหลังด้วยเช่นกัน เพื่อปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเมียนมา