ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเริ่มหนักข้อขึ้นทุกขณะ เมื่อตัวเลขสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า หนี้ครัวเรือนล่าสุด ถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่ระดับสูงนับจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก
ด้านคุณภาพสินเชื่อภาพรวม ก็ปรับตัวลดลง โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.68%
ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “หนี้นอกระบบ” เป็นต้นตอสำคัญของปัญหา “หนี้ครัวเรือน”
โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หนี้นอกระบบเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายๆ ประการ และเป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ ซึ่งรัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทยมานาน
“จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่กลับไปเป็นหนี้ล้นพ้นตัวอีกด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าวในการประกาศให้ “การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” เป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับการดำเนินการนั้น จะบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง รับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยหนี้พร้อมกันทั้งหมด โดยจะดูแลทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย การคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิด “สัญญาที่เป็นธรรม” และ “เป็นไปตามกฎหมาย”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกัน ไม่แยกกันทำเหมือนที่ผ่านมา และต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบอีก โดยมีฐานข้อมูลกลางขึ้นมา นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใส มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของประชาชน และสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะเข้าดูแลประชาชนที่กู้หนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ด้วยการให้กู้ต่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี
ส่วนสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระเพื่อรายย่อยกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา 8 ปี ดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้
และยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือเกษตรกรที่นำที่ดินทำกินไปจำนองหรือขายฝากไว้ เมื่อไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้นอกระบบแล้ว ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อสำหรับให้แก้ไขปัญหาสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อรายในการไถ่ถอนที่ดินกลับมา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะร่วมมือ โดยนายอำเภอ และผู้กำกับสถานีตำรวจในท้องที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ในการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท รวมถึงจะมีการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
“ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง ส่วน กทม. สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ แบ่งเป็น
ช่วงที่ 1 เปิดรับลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567
ช่วงที่ 2 รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภทในเดือนมีนาคม 2567
ช่วงที่ 3 ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2567
และช่วงที่ 4 จะเป็นการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายในเดือนกันยายน 2567″
ทั้งนี้ นอกจากการแก้หนี้นอกระบบแล้ว รัฐบาลยังเตรียมประกาศแก้หนี้อย่างครบวงจร โดยจะประกาศมาตรการแก้ “ปัญหาหนี้ในระบบ” ด้วย ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
ซึ่งปัจจุบันหนี้ในระบบก็มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเช่นเดียวกัน
โดยนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน พบว่า ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท
“มองไปข้างหน้าคาดว่าหนี้เสียยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่เห็นตัวเลขสูงสุดเท่าไตรมาสที่ 3/2565 ที่อยู่ 1.09 ล้านล้านบาท เนื่องจากสภาพหนี้ไม่ได้เลวร้ายในทุกเซ็กเตอร์”
นายสุรพลกล่าวว่า สินเชื่อที่ยังมีปัญหา ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระตั้งแต่ 31 วันไม่เกิน 90 วัน มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมี SM เพิ่มขึ้นถึง 37.2% โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เห็นสัญญาณเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระติดขัดมากขึ้น และเห็นการไหลจากสินเชื่อปกติเป็น SM มากขึ้น
ส่วนตัวเลข SM ของสินเชื่อรถยนต์ ก็มีอัตราการเติบโต 17.5% ทำให้ยอดสินเชื่อค้างชำระเพิ่มจาก 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.13 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 4.87 แสนบัญชี เป็น 5.60 แสนบัญชี เติบโต 15.0%
“หากรวมหนี้เสีย และหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือกลุ่ม SM แล้ว จะพบว่า มีหนี้ที่น่าเป็นห่วงรวมกันประมาณ 11.4% หรือ 1.55 ล้านล้านบาท”
ผู้จัดการเครดิตบูโร กล่าวด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบในช่วงโควิด-19 หรือรหัสสถานะบัญชี 21 ณ เดือนกันยายน พบว่า ภาพรวมหนี้อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนคน พบว่ามีทั้งสิ้น 3.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านคน และจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1 ล้านบัญชี จาก 4.9 ล้านบัญชี
“กลุ่มที่เราห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มรหัส 21 ที่มีคนเป็นหนี้เสียค่อนข้างมากถึง 3.5 ล้านคน ที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นหนี้เสีย แต่เป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเร่งช่วยเหลือให้กลุ่มนี้สามารถออกจากปัญหาหนี้ได้ และอีกกลุ่มที่น่าห่วงคือ ลูกหนี้เอสเอ็มอีรายจิ๋วที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีหนี้เสียสูงที่ 9.7% หรือคิดเป็นหนี้เสียรวม 6.6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับโครงสร้างได้น้อยลง ด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต”
หากพิจารณาจากตัวเลขทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในระบบของเครดิตบูโร ก็ต้องถือว่าน่าตกใจมากทีเดียว นับจากนี้จึงได้แต่หวังว่าการแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาล จะช่วยสกัดปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลายเพิ่มขึ้นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022