เปิดแผนเผด็จศึกคุม ‘ประชาธิปัตย์’ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

แผนเผด็จศึกคุม ‘ประชาธิปัตย์’

“ผู้ชนะรู้ว่าตัวเองชนะ จึงชิงลงมือ” วันที่ 9 ธันวาคม พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แหล่งผลิตบุคลากรทางการเมือง ที่ชื่อ “ประชาธิปัตย์” 77 ปีบนถนนสายประชาธิปไตยทางตรงจากประชาชนพลเมือง มีกำหนดการนัดประชุมกันครั้งที่ 3

เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคใหม่ “คนที่ 9” กันให้สะเด็ดน้ำ

เพื่อหาคนมาทำหน้าที่กอบกู้ชื่อเสียงเก่ากลับคืน หลังพ่ายแพ้เลือกตั้งใหญ่ 2566 อย่างหมดรูป “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคแสดงสปิริตประกาศไขก๊อก มาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ล่มปากอ่าวมาแล้ว 2 ครั้งซ้อน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม และวันที่ 6 สิงหาคม อันเนื่องมาจากเกิดความขัดแย้งกันหนักภายในพรรค มีการเล่นแร่แปรธาตุกันจนทำให้ “ที่ประชุมไม่ครบองค์”

พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งยกเครื่องปรับปรุงโครงสร้าง หรือ “ข้อบังคับพรรคใหม่” หัสเดิมองค์ประกอบมีน้ำหนักใกล้เคียงกันระหว่าง ส.ส.-อดีตรัฐมนตรี กับประธานสาขาพรรค ขณะที่ผู้นำท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัคร มี 10 เปอร์เซ็นต์

ปรับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นองค์ประชุมจำนวน 367 คน หลักเกณฑ์การนับคะแนนแบ่งออกเป็น 2 ใบ “สีฟ้า” เป็นบัตรเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “สีชมพู” เป็นบัตรเลือกตั้งขององค์ประชุมอื่นๆ ทั้งหมด

เพิ่มน้ำหนักให้ฝั่ง ส.ส.มีน้ำหนัก 70 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ ทุกภาคส่วนเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่ากับว่า 25 ส.ส.ของประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ขณะนี้ มีอำนาจที่เข้มแข็งกว่า ฝ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้นำท้องถิ่นแม้จะรวมตัวกัน

พรรคประชาธิปัตย์ คนที่คุมทัพ ส.ส.ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในขณะนี้คือ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อดีตเลขาธิการพรรค แม้หลังเลือกตั้งใหญ่ 2566 แพ้แบบหมดรูป จะลาออกไปแล้วก็ตาม แต่ “เสี่ยต่อ” มีคอหอยและลูกกระเดือก คือ “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง” ส.ส.สงขลาหลายสมัย รักษาการหัวหน้าพรรคสายภาคใต้ เป็นห้องเครื่องสำคัญกุมฐานอำนาจมี ส.ส.อยู่ในเครือข่ายประมาณ 17 เสียง เกินร้อยละ 70

แต่เหตุที่ไม่สามารถยึดพรรค ไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนสบู่โกนหนวด ปล่อยให้ศึกยืดเยื้อเลื่อนโปรแกรมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สะดุดมา 2 ครั้ง 2 คราว

เพระโดนโคตรมวยเก่า ผนึกกำลังกันระหว่างอดีตหัวหน้าพรรค “ลุงชวน-ลุงบัญญัติ-อภิสิทธิ์-จุรินทร์” แปรสภาพเป็น 4 จตุรเทพ วิกเลยแตก งัดข้อบังคับว่าด้วยการเลือกหัวหน้าพรรค ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่อยู่ในห้องประชุม และมีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

เจอเข้าเหลี่ยมนี้ แม้ว่า “กลุ่มเสี่ยต่อ-นายกชาย” จะกุมความได้เปรียบ คุมพื้นที่สัดส่วน ส.ส.ไว้มากกว่าร้อยละ 70 ไว้เหนือกว่ามาก แต่ซีกผู้อาวุโส เขย่าขวด ว่าด้วยผู้รับรองจากที่ประชุมใหญ่ ไม่ถึ่งครึ่ง สามารถใช้ความเขี้ยว ล้มกระดานเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรคมาได้ 2 ครั้งติดกันเข้าไปแล้ว

แต่วันที่ 9 ธันวาคม ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย “กลุ่มเฉลิมชัย” เตรียมแผนแก้” เล่นหมากรุกให้ชนะต้องรุกก่อน” ไว้เผด็จศึก ด้วยการขนสาขาพรรคที่อยู่ในคอนโทรล มานั่งเป็นตัวสำรองอยู่หน้าห้องประชุม ใครส่งสัญญาณให้ “โหวตเตอร์” ออกจากห้องประชุม เพื่อทำให้ที่ประชุมไม่ครบองค์ จะส่งอะไหล่เสริม ที่สแตนด์บายอยู่หน้าห้องประชุม ห้องน้ำ หรือสุมทุมพุ่มไม้ เข้ามาเสียบทันที ดังนั้น 9 ธันวาคม ประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรค “คนที่ 9” พันเปอร์เซ็นต์

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า จะปิดจ๊อบโดย “ใคร” ตามแผนเดิม “กลุ่มเลือดใหม่” ที่นำทัพโดย “เสี่ยต่อ” วางตัวให้ “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ลูกรัก “ไพฑูรย์ แก้วทอง” บ้านใหญ่แห่งเมืองชาละวัน เป็นหัวหน้าพรรค

จับคู่ให้ “เดชอิศม์ ขาวทอง” ที่คุม ส.ส.ในสภาของประชาธิปัตย์มากที่สุด เป็น “แม่บ้าน” หรือ “เลขาธิการพรรคสีฟ้า” ขณะที่ซีกผู้อาวุโสก่อนหน้านี้ วางตัวให้ “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นเชนคัมแบ๊ก กลับมาแจ้งเกิดบนถนนการเมือง เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคำรบ แต่ตกล่องปล่องชิ้นกับอีกฝ่าย พูดจาภาษาดอกไม้กันไม่ได้ ยื้อกันมา 2 ระลอกแล้ว แต่ในคำรบที่ 3 กลุ่ม “เสี่ยต่อ” แก้เกม “ล้มโหวต” องค์ประชุมล่ม มาหมายแก้เผ็ด น่าจะจบข่าวเรียบร้อย

ซีก 4 จตุรเทพ อ่านหนังสือออก สวมบท “หลวงพ่อทันใจ” พลิกเกมกะทันหัน ขอใช้บริการสูตร “พบกันครึ่งทาง” วัดครึ่งกรรมการครึ่ง ประกบคู่ ชิงเสนอชื่อ “มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค” ที่เคยแสดงผลงานโดดเด่นเมื่อครั้งอยู่พรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อประชาธิปัตย์เบอร์ต้นๆ เนื้อแท้คนรุ่นใหม่ เป็นหัวหน้าพรรค

ดึง “เสี่ยแทน-ชัยชนะ เดชเดโช” หนึ่งในอรหันต์ไฟแรงสูงคนหนึ่งจากกลุ่ม 17 มานั่งแป้นเลขาธิการพรรค สูตรนี้ถือว่ากลมกล่อม เพราะพบกันครึ่งทางของอำนาจ 2 ขั้ว แต่ “เสี่ยแทน” ไม่กล้าแหกด่านมะขามเตี้ยมาจากกลุ่ม “เสี่ยต่อ-นายกชาย” แน่

แถมยี่ห้อ “เฉลิมชัย” คำไหนคำนั้น ภาระอันหนักอึ้งมากที่สุด เหนืออื่นใดคือ “นราพัฒน์” ที่ไปสู่ขอมาเองกับผู้เป็นพ่อ จะโยนทิ้งกลางทางเหมือนขอนไม้ย่อมไม่ได้ วันที่ 9 ธันวาคม จึงเชื่อว่า “เสี่ยต่อ” ยังเลือกใช้บริการสูตรเดิมคือ “ตุ้ม-นายกชาย” เว้นเสียแต่ว่า เมื่ออ่านเกมแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะมีความวุ่นวายชายปลาช่อน ตามมาอีกมากมายหลายเข่ง ไม่มีที่สิ้นสุด เจ้าตัวอาจจะประกาศลงชิงหัวหน้าพรรคเอง โดยให้ “เดชอิศม์” เป็นแม่บ้านพรรค

ขณะที่ “มาดามเดียร์” เป็นคนกลางแท้ๆ แต่เหมือนนักผจญภัย ตอนนี้อยู่ท่ามกลาง “ดงเสือ” ตัวเองมือใหม่ มีสัมมาคารวะ เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ก่อนหน้า เมื่อช่วงประชุมใหญ่วิสามัญพรรคครั้งแรก ก็เคยมีคนมาทาบทามให้ลงสู้ แต่เจ้าตัวยังไม่พร้อม เกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน

แต่วันที่ 9 ธันวาคม “มาดามเดียร์” พร้อมสู้เต็มอัตราศึก แม้จะรู้ว่าตัวเองเป็นรอง

“การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้เสียสละ” แพ้หรือชนะ ไม่สำคัญ