บทต่อไปของ ทักษิณและธนาธร บนยุทธศาสตร์ที่แตกต่าง (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

จนเมื่อถึง 2565 ยุทธศาสตร์ของทักษิณ ชินวัตร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเกิดความแตกต่างขึ้น

ทักษิณไม่ได้บอกว่าจะเลิกต่อสู้ ยังประกาศว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทักษิณรู้ดีว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้

ความขัดแย้งซึ่งเริ่มต้นจากการกำจัดตัวเขา ขยายมากำจัดพรรคไทยรักไทย ในที่สุดก็กลายเป็นการปะทะของมวลชนชั้นล่างกับกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งคนทั่วไปมองแค่คนเสื้อแดง

แต่ยิ่งนานเข้าความขัดแย้งยิ่งกระจายออกไปทั่ว ถึงวันนี้บางคนที่เป็นคนเสื้อแดงก็ไม่ใส่เสื้อแดงอีกแล้ว คิดอย่างไรก็ไม่รู้ และยังแบ่งเป็นหลากหลายความคิด

มีสื่อที่ถกเถียงกันผ่านโซเชียลมีเดีย ประชาชนแบ่งกันสนับสนุนพรรคต่างๆ แต่ทั้งทักษิณและธนาธรมองว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่อไม่ได้ ต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน

ทั้งธนาธรและอดีตนายกฯ ทักษิณ เรียนรู้การตัดสินใจในทางธุรกิจ สามารถเลือกทำหรือไม่ทำโครงการใด เรียนรู้การตัดสินใจในเชิงนโยบายเมื่อมาบริหารบ้านเมือง เลือกตัดสินใจว่าจะทำนโยบายไหน และทำอะไรก่อน อะไรหลัง

สำหรับทักษิณ บทเรียนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันได้สอนให้เขาเลือกสิ่งที่เขาจะทำได้จริง ต่อสู้ได้จริงแม้จะไม่มีผลให้ได้รับชัยชนะอย่างถาวร แต่ก็สามารถประคองตัวต่อไปได้

ขณะที่ธนาธรตั้งเป้าหมายทางอุดมการณ์และประกาศอย่างแจ่มชัดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศนี้ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าได้

แต่ทั้งสองคนไม่มีทางเดินให้เลือกมาก ยังต้องใช้เส้นทางเดิมคือใช้การเลือกตั้งลุยเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

การตัดสินใจเลือกแนวทางการต่อสู้โดยวิธีเลือกตั้งเท่านั้นถูกหรือผิด

 

แม้ชนะการเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ

ในความเป็นจริงอํานาจรัฐที่ได้มาหลัง 2549 เป็นอำนาจรัฐแบบครึ่งๆ กลางๆ ฝ่ายตรงข้ามก็พิจารณาเป็นเหมือนกัน มองออกว่า แม้แพ้เลือกตั้งแต่ก็สามารถจัดโครงสร้างให้ตัวเองมีอำนาจโดยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญและให้อำนาจองค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาควบคุมสภาและรัฐบาลได้ มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิด คนตัดสินไม่ได้อยู่ที่ผู้ชนะเลือกตั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้แนวทางการต่อสู้ของก้าวไกลและเพื่อไทย จึงถูกบางคนว่าเดินแนวทางที่ผิด เพราะรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 ที่ผ่านการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน ก็ถูกโค่นล้มลงมาทั้งหมด

แต่เรื่องแบบนี้แนวทางใครแนวทางมัน ทุกคนมีความคิดความอ่านของตัวเอง มีต้นทุนทางการเมือง ทางสังคม มีสภาพแวดล้อม มีสิ่งที่ต้องสูญเสีย มีสิ่งที่ต้องได้ต่างกัน ธุรกิจส่วนใหญ่ของทักษิณยังอยู่ในประเทศไทย แต่ธุรกิจของธนาธรอยู่ในต่างประเทศ

ถ้าประเมินคุณค่าของนักการเมืองทั้งสองคน ก็ต้องถือว่าเราเสียคนที่มีคุณภาพสูงที่จะช่วยพัฒนาบ้านเมือง ในอดีตเราก็เคยสูญเสียคนแบบนี้ไป

เรื่องทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากการที่กลุ่มอำนาจเก่าคิดจะปกป้องและสืบทอดอำนาจแบบที่ตนเองได้เปรียบไว้ให้นานที่สุด

 

ยุทธศาสตร์เลือก ส.ส.ให้ได้มากที่สุด
ไม่สามารถปฏิรูปประชาธิปไตยได้จริง

การกำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะใช้การเลือกตั้งเพื่อให้ได้ ส.ส.มามากที่สุดจะได้ตั้งรัฐบาลและมีอำนาจรัฐจนทำให้เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ตามสถานการณ์การเมืองปัจจุบันยังเป็นเรื่องยาก

เพราะโครงสร้างอำนาจที่แท้จริงซึ่งแม้จะเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้น มีการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ทำให้รู้สึกว่ามีสภาของประชาชน แต่มีส่วนในอำนาจอยู่ไม่ถึงครึ่ง

เพราะต่อให้ได้ ส.ส.เกินครึ่งสภารัฐบาลก็อาจจะถูกล้ม ด้วยองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือถ้าไม่สำเร็จก็โดนรัฐประหาร

พรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจเก่าก็อาจโดนยุบพรรคได้ง่ายๆ ด้วยข้ออ้างตามกฎที่วางไว้

สถานการณ์การเมืองที่บีบรัดแบบนี้ดำเนินมาต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อใช้รัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจเก่าย่อมได้เปรียบ

โครงสร้างเชิงอำนาจจริง ในปัจจุบันจะพบว่า อำนาจทหารยังอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจเก่า อำนาจตุลาการ ทั้งศาลและองค์กรอิสระ ก็มาจากการแต่งตั้ง และอิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่า ก็มีมากกว่า

 

อำนาจนิติบัญญัติ
ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
จะเหมือนเดิม

แม้ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวดเลือกนายกฯ การตั้งรัฐบาลก็จะต้องมีเสียงประมาณ 280 ดูจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดโอกาสที่พรรคการเมืองใด พรรคการเมือง 1 จะได้คะแนน เกิน 260 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คงยากมากๆ สถานการณ์การเมืองหลังปี 2567 ต่อให้มี ส.ว.ชุดใหม่จากการเลือกกันเองตามรัฐธรรมนูญและอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ไม่มี ก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะตั้งรัฐบาลได้

เพราะการแยกกันเดินของเพื่อไทยกับก้าวไกล จึงไม่มีทาง ได้เกิดรัฐบาลประชาธิปไตยแบบที่ธนาธรคิดว่าดีที่สุด และถ้าแกนนำและกองเชียร์ของแต่ละพรรคยังขยายความขัดแย้งไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะร่วมรัฐบาลกันก็เป็นไปได้ยาก จึงเป็นที่สบอารมณ์ของฝ่ายขวาและฝ่ายอนุรักษนิยม ที่คิดว่ายังไงก็จะต้องมีรัฐบาลผสมข้ามขั้ว

ต่อให้ครั้งหน้ามีบางพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมสลายตัวไปแม้ไปเข้าร่วมกับเพื่อไทย และภูมิใจไทย สุดท้ายใครจะตั้งรัฐบาลก็ยังต้องมาพึ่งคะแนนเสียงของ พรรคแบบภูมิใจไทย หรือพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ร่วมด้วย คล้ายหลังเลือกตั้ง 2566 อยู่ดี

ภาพของรัฐบาลวันนี้ก็คือการสะท้อนภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า โอกาสจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือก้าวไกลต้องมีคนเลือกจนได้ ส.ส.เกินครึ่ง และไม่ถูกสกัดด้วยตุลาการภิวัฒน์ แต่ดูจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้แล้วเป็นเรื่องยากและดูจากบทเรียนในการที่ไทยรักไทยถูกสกัดและเพื่อไทยถูกสกัด

ทำให้รู้สึกว่าปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง แต่มีปัจจัยในระบบและนอกระบบทั้งทุนและอำนาจพิเศษ และนี่อาจเป็นสาเหตุให้อดีตนายกฯ ทักษิณตัดสินใจปรับทิศทางยุทธศาสตร์ซึ่งธนาธรกล่าวไว้ว่า รู้สึกเจ็บปวด แต่ก็เข้าใจได้กับข้อจำกัดของเพื่อไทย

ดังนั้น ในยุทธศาสตร์ที่แตกต่างซึ่งทั้งสองพรรค เดินอยู่และมีพี่เลี้ยงคือทักษิณและธนาธร มีกองเชียร์ส้มและแดงช่วยเร่งเร้า จึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่รัฐบาลผสมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้