‘เสาอินทขีล’ สร้างสมัยยุคทองของล้านนา หรือสมัยพระเจ้ากาวิละ? (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หลังจากที่ได้เปิดประเด็นเรื่องปริศนาเสาอินทขีลที่ปักอยู่กลางห้องเล็กๆ ส่วนหนึ่งของกำแพงรั้วประตูท่าแพ (อดีตเรียกประตูเชียงเรือก) ทิศตะวันออกเมืองเชียงใหม่ไปแล้วนั้น มีเสียงสะท้อนกลับมามากมาย

ส่วนใหญ่เป็นคำถาม บ้างเป็นข้อคิดเห็น ที่ผู้รู้หลากหลายสาขาต้องการแลกเปลี่ยน อาทิ

– ในเมื่อมีคำว่า “อินฺทขีลํ” ปรากฏอยู่ในแท่งจารึกนี้ ดังนั้น ชื่อเรียกของหลักศิลาก็ย่อมหมายถึง “เสาอินทขีล” ค่อนข้างแน่นอน แล้วทำไมจึงไม่อยู่ใจกลางเมือง กลับถูกย้ายมาเก็บอยู่ในประตูเมือง?

– สรุปแล้ว เสาอินทขีลในเมืองเชียงใหม่มีทั้งหมดกี่ต้นกันแน่ คุณพ่อศรีเลา เกษพรหม นักจารึกวิทยาภาษาล้านนา บอกว่าเคยเห็นเสาอินทขีลถูกนำไปติดตั้งตามแจ่งต่างๆ คือ แจ่งกะต๊ำกับแจ่งกู่เฮือง แจ่งละ 1 ต้น กับอีก 1 คู่อยู่สองข้างกรอบประตูสวนดอก ทั้งหมดนี้เป็นการเอาไปติดตั้งในยุคหลังใช่ไหม เพราะบางต้นเอาไปฝังในแจ่ง (ป้อมมุมกำแพงเมือง) แต่บางต้นกลับเอาไปฝังที่ประตู?

– มูลเหตุของการนำเสาเหล่านั้นไปติด เป็นเพราะช่วงหนึ่งบ้านเมืองเชียงใหม่ร้างไปแล้วใช่ไหม ทำให้เสาอินทขีล 5 ต้นกระจัดกระจายพรายพลัด แยกไปคนละทิศละทาง ซึ่งแต่เดิมเสาทั้ง 5 ต้นนี้ ควรปักอยู่ที่ใจกลางตรงจุดสะดือเมืองใช่หรือไม่ ในทำนองหลักเมืองที่รับคติเขาพระสุเมรุมี 5 ยอด?

เสาอินทขีลวัดอินทขิล ต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ต้นแบบที่พระเจ้ากาวิละนำไปสร้างต่อที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ รูปปั้นซ้ายคือพระเจ้ากาวิละ ขวาคือพระอนุชา เจ้าบุญมาเมือง ผู้มีคุณูปการต่อการฟื้นเวียงป่าซาง

นายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอว่า “คาถาไก่เถื่อน” นั้น ไม่ได้เป็นของอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์แต่อย่างใด ในความจริงแล้วเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมในวัฒนธรรมล้านนา อย่างน้อยเคยเห็นหลักฐานการใช้คาถานี้จารอยู่ที่ฐานพระพุทธรูป “พระเจ้าล้านทองเมืองพร้าว” ซึ่งสร้างสมัยพระญาเกศเชษฐราช (พระเมืองเกษเกล้า) ผู้มีอายุห่างจากพระเจ้าติโลกราชเพียง 3 รัชกาล

– อีกประการหนึ่ง เมื่อเราค้นข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของคาถา “ไก่เถื่อน” ซึ่งมักกล่าวกันว่าประพันธ์โดยสมเด็จพระสังฆราชสุกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ได้พบบันทึกว่า ท่านธุดงค์ขึ้นมาปลีกวิเวกนั่งกัมมัฏฐาน ณ วัดร้างแห่งหนึ่งใน “เมืองลำพูน” หลังจากกลับไปกรุงเทพฯ ท่านได้แพร่หลายคาถาปราบไก่เถื่อนให้เชื่อง โดยรับอิทธิพลมาจากเมืองเหนือ (ทำนองเดียวกันกับคาถาชินบัญชรที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า สมเด็จโตเป็นผู้รจนา ทว่าท่านได้บันทึกไว้ว่ารับคาถานี้มาจากเมืองเหนือ)

อ้าว! ตอนแรกนึกว่าพระเจ้ากาวิละไปรับเอาอิทธิพลคาถา “ไก่เถื่อน” มาจากพระสังฆราชสุกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไปๆ มาๆ ล้านนาเรามีคาถานี้เองแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ปีหรือนี่?

ปมปริศนาทั้งหมดทั้งมวลนี้ เดี๋ยวเราคงต้องช่วยกันคลี่คลายทีละปมสองปม อย่าเพิ่งรีบร้อนฟันธงว่าตกลงแล้วจารึกอินทขีลประตูท่าแพนี้สร้างสมัยไหนกันแน่นะคะ

ภาพถ่ายเก่าของเสาอินทขีลป่าซาง ตัวเสายังคงอยู่ตำแหน่งเดิม แต่มีการเปล่ยนมณฑปที่ครอบจากเดิมเป็นบุษบกยกชั้นสูง กลายเป็นหอศาลที่ขยายกว้างขึ้น

เสาอินทขีลป่าซาง สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ

ก่อนที่จะตอบโจทย์อันสับสนอลเวงของเสาอินทขีลในเมืองเชียงใหม่ว่าต้นไหนเป็นต้นไหน และสรุปแล้วมีทั้งหมดกี่ต้นกันแน่นั้น

ขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเสาอินทขีลต้นสำคัญยิ่งต้นหนึ่ง เนื่องจากต้นนี้มีการระบุศักราชปีที่สร้างอย่างชัดเจน

นั่นคือเสาอินทขีลที่ “วัดอินทขิล” (ชื่อเฉพาะของวัดใช้ “ขิล” สะกดด้วยสระอิ เป็นการเรียกด้วยภาษาถิ่นแบบห้วนๆ สั้นๆ) ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ริมน้ำแม่ทาฝั่งตะวันตก (ฝั่งใต้) ตำนานระบุว่าพระเจ้ากาวิละสร้างเสาอินทขีลปี 2337 ก่อนที่พระองค์จะละเวียงป่าซางไปสร้างเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.2339

เอาเข้าจริงเสาอินทขีลต้นนี้แม้จะทราบว่าสร้างสมัยพระเจ้ากาวิละ แต่ก็เต็มไปด้วยปริศนาอีกมิใช่น้อย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เวียงป่าซางหรือเวียงเวฬุวนาคาม (เวฬุ = ไผ่, วนา = ป่า, คาม = บ้านเมือง) แดนดินนี้เต็มไปด้วยประชากรชาวยองกว่า 80-90 % มิใช่หรือ?

แล้วไฉนจึงมีเสาหลักบ้านหลักเมืองเป็น “อินทขีล” อันเป็นวัฒนธรรมของชาวลัวะด้วยเล่า?

นี่คือคำถามแรกที่นักวิชาการท้องถิ่นล้านนาพยายามช่วยกันค้นหาคำตอบ

เสาอินทขีลป่าซางก่อนบูรณะใหม่ทั้งตัวเสา ทั้งตัวหอศาล ดิฉันถ่ายภาพนี้ไว้ตั้งแต่ 20 ปีก่อน

อาจารย์แสวง มาละแซม นักวิชาการด้านยองศึกษา อธิบายว่า จริงอยู่ที่พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้พระอนุชา 2 องค์ คือเจ้าคำฝั้นกับเจ้าบุญมาเมือง ไปเกณฑ์ชาวยองจากเมืองมหิยังคณะ มาอาศัยอยู่ในเมืองลำพูนไชยเมื่อ พ.ศ.2348 หลังจากที่ทุกหย่อมย่านของล้านนาร้างไปนานกว่า 217 ปี เพราะถูกพม่าปกครอง

แต่อย่าลืมว่าประชากรกลุ่มเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำปิง กวง ทามาก่อน มีทั้งลัวะ ขมุ เม็ง ยาง เงี้ยว ขึน ไทโยน (ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าคนเมือง) ดังนั้น การเอาคนยองกลุ่มใหม่จากรัฐฉานเข้ามาอยู่ปะปนกับคนพื้นถิ่นดั้งเดิมนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้ปกครองจำเป็นต้องสร้างสัญลักษณ์อะไรบางอย่างเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณ ให้เกิดความชอบธรรมต่อการปกครองบ้านเมือง บางวัฒนธรรมสถาปนาเสา บางสังคมยกเอาต้นไม้ขึ้นเป็นไม้เสื้อเมือง ไม้หมายเมือง

อาจารย์แสวงกล่าวต่อไปว่า สมัยที่คนยองยังอยู่เมืองมหิยังคณะ ไม่มีการบูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองใดๆ เลย คนยองบูชาเพียงไม้สะหรีสองต้น (ไม้สะหรี หมายถึง ไม้ศรีมหาโพธิ์ ภาษาล้านนาเรียกแค่ ไม้ศรี แบบย่อๆ และอ่านแยกพยางค์ว่า สะ-หรี ภาษาล้านนาไม่ลั่นลิ้นตัว ร.เรือ ทำให้อ่านเป็น สะ-หลี ก็มี) ถือเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจชาวยองคู่กับพระมหาธาตุจอมยอง

ไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งอยู่หน้าวัดหัวข่วง อีกต้นอยู่นอกเวียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนเนินเขาขนาดย่อม ต้นนี้เรียก “ไม้สะหรีคำ” ตำนานอ้างว่าพระอรหันต์เอาหน่อมาปลูกจากอินเดีย ไม้สะหรีคำต้นนี้ให้เจ้าเมืองเป็นผู้อุปถัมภ์ ซึ่งอาจารย์แสวงสันนิษฐานว่า การสร้างเสาอินทขีลที่เวียงป่าซางในสมัยพระเจ้ากาวิละนี้ ก็เนื่องมาจากความต้องการสร้างหมุดหมายให้เกิดศูนย์รวมจิตใจระหว่างคนลัวะ-เม็งพื้นถิ่น กับประชากรที่มาใหม่คือคนยอง ซึ่งมีรากฐานเดิมในการบูชาไม้สะหรีมาก่อน

มุมมองดังกล่าวไม่ต่างไปจากทัศนะของ อาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนารุ่นใหม่เท่าใดนัก ที่มองว่า เพื่อความสงบและเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง พระเจ้ากาวิละจำเป็นต้องหลอมรวมคนหลากหลายชาติพันธุ์ให้เป็นหนึ่งเดียว

ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างสัญลักษณ์บางประการขึ้นมา นั่นก็คือ เสาอินทขีล

เสาอินทขีลรุ่นเก่า ที่ข่วงนอกวัดแสงเมืองมา อ.เมืองลำปาง (ในภาพจะมองไม่เห็นตัวเสา) ซึ่ง อ.ภูเดช แสนสา เชื่อว่าเป็นต้นแบบของการสร้างเสาอินทขีลของพระเจ้ากาวิละที่เวียงป่าซาง

ต้นกำเนิดเสาอินทขีลอยู่ที่ลำปาง?

อาจารย์ภูเดชตั้งคำถามต่อไปอีกว่า แล้วต้นแบบเสาอินทขีลของพระเจ้ากาวิละยุคฟื้นม่านนั้นเอามาจากที่ใดกันเล่า?

โมเดลต้นแบบจะใช่เมืองเชียงใหม่ของพระญามังรายจริงล่ะหรือ? ในเมื่อตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่พรรณนาไว้แค่เพียงว่า

สมัยของพระญามังรายได้กำหนดให้ไม้เสื้อเมืองเป็น “ต้นนิโครธ” (ผักเฮือด) ณ จุดที่เคยมีหนูเผือกและบริวาร 4 ตัวที่พระญามังรายเห็นนิมิต จนนำมาซึ่งการตีความว่าพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การสร้างเมือง ไม้ผักเฮือดเป็นต้นไม้ที่พวกลัวะพื้นถิ่นเคยบูชามาก่อนหน้าแล้ว จุดที่มีการบูชาไม้นิโครธนี้ก็คือบริเวณเวียงแก้วหรือพระราชวัง (ปัจจุบันคือจุดที่ย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปนานกว่า 10 ปีแล้วมีการขุดค้นทางโบราณคดี)

ส่วนจุดกึ่งกลางเมืองเชียงใหม่นั้น เรียกสายดือเมืองหรือสะดือเมือง ไม่พบว่ามีการฝังเสาหรือหลักใดๆ ลงไปในดินบริเวณกลางเวียงเชียงใหม่แต่อย่างใด

จากจุดนี้ ทำให้อาจารย์ภูเดชลองหันไปมองเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองปิตุคามของพระเจ้ากาวิละ นั่นคือเมืองลำปาง พบว่าที่นี่กลับมีการบูชา “เสาอินทขีล” มาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ปรากฏร่องรอยอยู่สองต้นหลักๆ

ต้นแรกน่าจะเก่ามาก อาจเป็นเสาหลักเมืองตั้งแต่ยุคเขลางค์ (ร่วมสมัยกับหริภุญไชย) ตั้งอยู่ด้านนอกของข่วง “วัดแสงเมืองมา” กับอีกต้นที่ตั้งอยู่ใน “วัดปงสนุก” อ.เมืองลำปางทั้งคู่

อันที่จริง หลักเมือง-หลักบ้าน ถือเป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง เดิมไม่น่าจะตั้งอยู่ในเขตวัด ซึ่งเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา อาจมีการเคลื่อนย้ายภายหลัง ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงหลักเมืองล่าสุดที่ตั้งอยู่ในศาลบริเวณใกล้กับศาลากลางลำปางหลังเก่า (มิวเซียมลำปาง) ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองรุ่นที่สามแล้ว

บันไดนาคทางขึ้นวิหารของวัดแสงเมืองมา เป็นวัดที่งดงามมาก ด้านนอกวัดมีข่วงเสาอินทขีลรุ่นเก่า

อาจารย์ภูเดช ให้ความสำคัญต่อเสาหลักเมืองหรือที่เรียกว่า “เสาอินทขีล” ชิ้นที่เก่าสุดบริเวณ ข่วงวัดแสงเมืองมาอย่างมาก (ทั้งนี้ ไม่นับหลักเมืองรุ่นโบราณยุคพระเจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี ที่ฤๅษีสุพรหมช่วยกันกำหนดเขตนครเขลางค์เรียกเสาหรือหลักนั้นว่า “ผาบ่อง” เนื่องจากไม่อยู่ในสภาพที่มีคนมาบูชาอีกต่อไปแล้ว)

“บริเวณข่วงด้านนอกวัดแสงเมืองมานอกจากจะมีเสาอินทขีล 1 ต้น ซึ่งเก่าผุพังมากแล้ว ยังมีหอผีพิษณู (อ่านปิ๊ดสะหนู) กับศาลา 9 ห้อง เวลาทำพิธีบูชาเสาต้องมีการเลี้ยงผีควบคู่กัน คนลำปางจะให้ความเคารพในฐานะผีบ้านผีเมือง ทุกปีต้องมีการลงผีฟ้อนผีเพื่อความอุดมสมบูรณ์

น่าสนใจว่าตั้งแต่รุ่นเจ้าหนานทิพย์ช้าง (ปู่ของพระเจ้ากาวิละ) สืบต่อมาจนเจ้าฟ้าชายแก้ว (พ่อของพระเจ้ากาวิละ) ทำพิธีเลี้ยงผีที่นี่กันหมด รวมไปถึงพระเจ้ากาวิละเอง สมัยที่ยังเป็นเจ้าเมืองละกอน ยังไม่ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็สืบฮีตการบูชาเสาอินทขีลที่นี่ เป็นไปได้ว่าต้นแบบของการสร้างเสาอินทขีลที่เวียงป่าซางนี้ พระเจ้ากาวิละนำคติมาจากเสาอินทขีลที่อยู่ข่วงนอกวัดแสงเมืองมาของลำปางนี่เอง”

พระเจ้ากาวิละใช้เวียงป่าซางเป็นที่ซ่องสุมผู้คนในลักษณะ “เก็บหอมตอมไพร่” สะสมกำลังพลมารวมกันที่เวียงป่าซางนานถึง 14 ปี นับแต่ พ.ศ.2325 เพื่อรอจังหวะเวลาที่จะไปฟื้นเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าอีกรอบ

ในระหว่างประทับที่เวียงป่าซางพระเจ้ากาวิละสร้างเสาอินทขีลในปี 2337 (2 ปีก่อนย้ายไปอยู่เชียงใหม่) ต่อมาคนยองอพยพมาอยู่ลำพูน-ป่าซางปี 2348 ช่วงนั้นเองที่พระเจ้ากาวิละกลับมาฉลองเสาอินทขีลที่ป่าซาง (ต้องรอนานถึง 11 ปีกว่าจะได้ฉลอง หลังจากสร้างเสาอินทขีลป่าซางเสร็จ)

ประเด็น “เสาอินทขีล” กับ “สะดือเมือง” (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคติดั้งเดิมของการสร้างเมืองตั้งแต่ยุคหริภุญไชย) จำเป็นต้องอยู่คู่กันเสมอไปหรือไม่ เรื่องนี้อาจารย์ภูเดชกล่าวว่า ตนมีโอกาสสอบถามคนเฒ่าที่อยู่แถวป่าซางถึงเรื่องความเป็นมาของเสาอินทขีล ได้ความว่า

มีมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคนว่า ปี 2348 ปีที่คนยองเข้ามาอยู่ในเวียงป่าซางนั้น เสาอินทขีลต้นแรกที่พระเจ้ากาวิละสร้างมาก่อนประมาณ 11 ปีแล้ว คนยองเห็นว่าจุดที่ตั้งเสานั้นมีหลุมลึกเป็นรอยแตกร้าวลงไปในดินคล้ายวงกลม จึงยึดเอาหลุมนั้นเป็นสะดือไปด้วยในเวลาเดียวกัน

และตอนลงเสาอินทขีลเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ก็จะใช้ไม้ทั้งต้นกระทุ้งซุกลงในรูที่เป็นหลุมนั้น ทำให้บางครั้งคนเฒ่าคนแก่ที่นี่เรียกเสาอินทขีลว่าสะดือเมืองก็มี

อาจารย์ภูเดชรู้สึกประหลาดใจว่าในอดีตนั้น เสาอินทขีลตั้งอยู่นอกวัดเสมอ ครั้นยุคหลังๆ ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเคลื่อนตัวผสมผสานกันระหว่าง ผี+พุทธ ด้วยการนำเสาอินทขีลมาตั้งอยู่ในวัด เช่นเสาอินทขีลป่าซางก็ดี ที่วัดปงสนุกลำปางก็ดี หรือที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ก็ดี

เสาหลักเมืองรุ่นเก่าอีกต้นที่วัดปงสนุก เป็นยุคที่มีการฟื้นเมืองลำปางช่วง 200 ปีที่ผ่านมา

สัปดาห์หน้าจักได้กล่าวถึงพระเจ้ากาวิละได้ทำการฟื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พระองค์ได้ฝังเสาอินทขีลกลางเวียงเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2343 (ก่อนอพยพคนยองมาลำพูนปี 2348) และฝังอีกครั้งในปี 2357 ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เพียงปีเดียว

จุดที่พระเจ้ากาวิละฝังเสาอินทขีลนั้นอยู่ที่ไหนกันบ้าง? คำว่ากลางเวียง จะใช่จุดเดียวกันกับ สะดือเมือง จุดดั้งเดิมที่พระญามังรายกำหนดให้เป็นจุดกึ่งกลางเวียงไหม?

ข้อสำคัญ เสาอินทขีลที่พระเจ้ากาวิละฝังทั้งสองครั้งนั้น มีจำนวนกี่ต้น ฝังไว้จุดไหนบ้าง ทำไมไม่ฝังต้นเดียวเดี่ยวๆ แบบที่เคยฝังเสาอินทขีลเวียงป่าซาง?

แม้จะทราบคำตอบแล้วว่า พระเจ้ากาวิละเอาต้นแบบเสาอินทขีลของเชียงใหม่มาจากเวียงป่าซาง และต้นแบบอินทขีลป่าซางก็รับมาจากข่วงวัดแสงเมืองมาลำปาง กระนั้นเชื่อว่าก็ยังทิ้งโจทย์ค้างคาใจให้ทุกคนต้องขบคิดต่อ นั่นคือคำถามที่ว่า

แล้วเสาหลักเมืองที่ข่วงนอกวัดแสงเมืองมาเล่า เอาต้นแบบ original มาจากที่ไหนอีก ฤๅเสาอินทขีลที่เป็นหลักเมืองลำปางยุคนครเขลางค์นั้น ถือว่าเป็นเสาอินทขีลต้นเก่าสุดที่สืบค้นได้ ณ วันนี้หรือเช่นไร

และในเมื่อเขลางค์ก็เป็นเมืองที่ร่วมสมัยกับหริภุญไชย ประชากรหลักก็เป็นเม็ง-ลัวะเหมือนๆ กัน ไฉนในคูเมืองเก่าหอยสังข์ลำพูน จึงไม่มีเสาอินทขีล เน้นเรื่องการเคารพสะดือเมือง ตามด้วยคติการบูชาพระธาตุในยุคพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แบ่งบาน •

แผ่นหินอ่อนบันทึกวันเดือ

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ