พนมเปญไทม์ไลน์ : สีหนุเหลืออะไร?(จบ)

อภิญญา ตะวันออก

ข้าพเจ้าขอสดุดีแด่พระองค์ ผู้ทรงนำพากัมพูชาจนได้รับเอกราชอย่างเต็มฉบับสมบูรณ์จากฝรั่งเศส เมื่อ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1953 ณ กรุงเจนีวาครั้งนั้น จนกลายมาเป็นวันชาติของกัมพูชา ณ วันนี้ ซึ่งนี่ก็ปาเข้าไปเป็นปีที่ 70 แล้วสินะ

ดังนี้ รัฐบาลพนมเปญ จึงถือโอกาสจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยการเปล่งเสียงสดุดีพระบาทต่อพระองค์-สมเด็จพระบรมรัตนโกศนโรดมสีหนุ พระบิดาแห่งสันติภาพ

ต้องเล่าให้ว่า

ตั้งแต่ตอนแรกของ “พนมเปญไทม์ไลน์ฯ” ใน “อัญเจียแขมร์” จนถึงตอนนี้ เนียงขญมขอทบทวนกระแสความอันย้อนไปในระหว่าง ค.ศ.1955-1970 ของระบอบสังคมราษฎร์นิยมในอดีตประมุขแห่งรัฐพระองค์เจ้านโรดม สีหนุ ผู้สละฐานันดรจากราชบัลลังก์มาเป็นนักการเมืองชั้นอีลิต ที่นำไปสู่สร้างบ้านแปงเมืองพนมเปญและกัมพูชาอย่างแท้จริงในยุคหนึ่งล่วงมาจนบัดนี้

ที่พบว่า องค์สถาปนิกการเมืององค์นี้ ได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมด้านสถาปัตย์และสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ มากมายขณะนั้น แต่จนบัดนี้ เมื่อจับต้องลงไป แทบไม่เห็นอะไรเลย

แม้แต่บรรดาสถานทูตกัมพูชาโดยสถาปนิกวัณณ์ โมลีวัณณ์ ได้ออกแบบไว้อย่างดีเด่น แต่รัฐบาลระบอบฮุนเซนได้ขายทิ้งทุกหนแห่ง

นับประสาอะไรพนมเปญในสถาปัตยกรรมสกุลสีหนุราช-โมลีวัณณ์ จะหลงเหลือให้เห็น เพื่อเฉลิมฉลองไปกับ 70 ปีแห่งเอกราชที่ว่า

นี่ก็แค่ส่วนที่จับต้องได้อย่างวัตถุเคหสถาน ประสาอะไรกับ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อดีตประมุขแห่งรัฐ/กษัตริย์สีหนุแต่ผู้เดียว มิได้ทรงส่งเสริม จะหลงเหลืออะไรได้?

เนียงขญม จึงใคร่สะท้อนต่อบรรดาผู้นำเผ่าพันธุ์ในภูมิภาคนี้ ที่ขยันสะสมอุดมสร้างวัตถุสถานไว้เป็นผลงานไทม์ไลน์ในอนุสรณ์ประวัติศาสตร์สมัยตน?

ธรรมดาทั่วไป โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ เข้ามา ผู้คนก็ลืมๆ สาระสำคัญถาวรวัตถุและสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นอยู่แล้ว ประสาอะไรกับที่ยุคหนึ่งองค์นโรดม สีหนุ เคยพยายามสร้างไว้…

ยิ่งถูกผู้มาทีหลังอย่างรัฐบาลต่อมา ทำการ “บำพลาญ” ทำลายเบี่ยงเบนเพื่อสร้างเกียรติยศของตนเองขึ้นมาทดแทนใหม่ “พนมเปญไทม์ไลน์” จากยุคสีหนุราชถึงสมเด็จเตโช จึงแทบไม่เหลืออะไร

ผู้นำทั้งสองผู้สร้างเมืองเขมรต่างช่วงเวลา ทว่า ไม่แปลกอะไรที่… บางทีพนมเปญไทม์ไลน์ก็เผยให้เห็นถึงความเป็นนักสร้างและทำลายในตัวเอง

สีหนุนักสร้างถาวรวัตถุ แต่ก็เป็นผู้ทำลายเสาหลัก “รัฐธรรมนูญ” ของบ้านเมืองหลายครั้งหลายคราถึงกับมีคนต้องสังเวยความตาย

วันนี้ ถาวรวัตถุมากมายในยุค’60 ที่พระองค์ทรงสร้าง ร้อยละแปดสิบถูก “บำพลาญ” ทำลายโดยสมเด็จฮุน เซน ในสมัยต่อมา

ไม่มีใครรู้หรือทำนายได้ว่า “พนมเปญไทม์ไลน์” ยุคเตโชเสนที่เต็มไปด้วยถาวรวัตถุแบบเดียวกัน จะเต็มไปด้วยวิบัติหรือไม่?

ไม่ใช่หน้าที่พยากรณ์ของใคร แม้แต่ข้าพเจ้า แต่เพื่อให้บันทึกนี้มีความสมบูรณ์ จึงขอเล่ากันว่าเมื่อถูกทำรัฐประหารในปี 1970 นั้น เราจึงทราบว่า พระบาทนโรดม สีหนุ นั้นทรงมีดำริจะขยายกรุงพนมเปญออกไปยังเขตตอนล่างสนามบินโปเชนตง โดยพิมพ์เขียวนี้เริ่มไว้ในปี 2509/1966

ประมุขประเทศสีหนุเคยกำหนดไว้กระทั่งแม้เมื่อพระองค์กลับประเทศมาดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ ก็ทรงเสนอแผนนี้ไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติซึ่งเป็นเจ้าภาพดำเนินการตามข้อตกลงสัญญาปารีส/1991 ทรงหมายการที่จะให้พนมเปญกลับมาเหมือนสมัยรัฐบาลสีหนุราชได้ดำเนินอีกครั้ง แต่ช่างน่าสลดใจ ที่เป็นได้แค่ความฝัน

พลัน เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว เราได้เห็นภาพโปเชนตงและพนมเปญถูกกระจายความเจริญไปยังจังหวัดกันดาล ซึ่งเป็นอาณาจักรสมเด็จฮุน เซน และตระกูล

โดยนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพิมพ์เขียวจาก “ตวลก็อก-โปเชนตง” สู่พนมเปญทไม ซึ่งเคยเป็น “Master Plan” การสร้างเมืองใหม่แก่พนมเปญบริเวณโปเชนตงของสีหนุจึงถึงกาลอวสาน

เมื่อ Master Plan โปเชนตง-สีหนุ ถูกขโมยไอเดียไปเป็นสนามบินแห่งชาติเตโชที่จังหวัดกันดาล

ด้วยพิมพ์เขียวเดียวของสมเด็จฮุน เซน ไม่ว่าจะเป็นระบอบสีหนุราช-ลอนนอล-เขมรแดง ล้วนแต่บัดนี้แทบไม่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของกัมพูชา

เป็นไปได้ไฉน? และหากยังทรงมีพระชนม์ชีพ พระบรมรัตนโกศนโรดม สีหนุ จะคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ ในพระราชพิธีฉลองเอกราช 70 ปีที่มีพระองค์เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์แต่ผู้เดียวนั่น!

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า บางช่วงตอนของการเรียกร้องเอกราช/1953 อย่างสมบูรณ์ครั้งนั้น ตัวตั้งตัวตีแรกเริ่มไม่ใช่พระองค์ แต่เป็นคณะซึง ง็อกทันห์ และพรรคประชาธิปไตยในเวลานั้น

ซึ่งแม้แต่นายสัม รังสี ก็ท้วงติงต่อประเด็นที่บิดาของตนนายสัม ซารี ว่าเคยมีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงเจนีวาดังกล่าว แต่เพราะว่า สัม ซารี หายตัวไปอย่างลึกลับ และมีข้อบ่งชี้ว่า สมเด็จสีหนุอาจอยู่เบื้องหลัง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะบุคคลบางฝ่ายที่สูญหายไปจากประวัติศาสตร์บางตอนของเขมร

และจนบัดนี้คณะผู้ก่อการเรียกร้องให้ประเทศเป็นเอกราชกลุ่มนี้ ก็ยังไม่เคยได้กลับมาสู่การมีตัวตนบนเกียรติยศในประวัติศาสตร์บางช่วงตอนของเขมร

แล้ว “70 ปีเอกราชกัมพูชา” ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อฉลองเกียรติยศยิ่งใหญ่ในพระบาทนโรดม สีหนุ ผ่านทางกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ผู้เป็นโอรสในปีนี้ มิใช่ความยิ่งใหญ่ในรูปรอยที่เราเห็นจากภาพรวมทั้งหมด แต่แท้จริงนั้น ผู้ที่ยืนอยู่บนรถเปิดประทุนคือ ฮุน มาแนต ที่ได้รับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ นั่นต่างหาก ผู้ที่มีอำนาจเต็ม ที่กษัตริย์กัมพูชาจะมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งทางการเมือง

ภายใต้สำนักนายกฯ แห่งกระทรวงพระราชวัง

และนั่นคือการลิดรอนพระราชอำนาจโดยระบอบฮุนเซนเรื่อยมาต่อราชสำนักนโรดม

แล้วอะไรกันเล่าที่ราชสำนักแห่งนี้มีดีให้ฟื้นคืนกลับสู่ความนิยมต่อประชาชนเช่นในอดีต?

ที่พอจะหลงเหลืออยู่ คือพระราชพิธีแข่งเรือ (อมตุ๊ก) ในสมัยพระบาทนโรดม สีหนุ ซึ่งทรงฟื้นฟู จนกลายเป็นเหมือนเทศกาลแห่งความสุขของชาวพนมเปญในแต่ละปีที่ประชาชนจะเฝ้ารอประเพณีแข่งเรือที่จะดำเนินไปตลอด 3 วัน หน้าพระที่นั่งจันทร์ฉาย ริมฝั่งแม่น้ำจัตุรมุข

ทว่า มุมมองของสมเด็จฮุน เซน ที่หวาดระแวงไปว่าจะโปรโมตสถานะกษัตริย์เขมรให้เป็นที่รักต่อปวงประชา จนทำให้เทศกาลอมตุ๊กกลายเป็นโครงกระดูกในตู้ร่วมทศวรรษ

จนเมื่อ ครม. ฮุน มาแนต จึงให้รื้อฟื้นเทศกาลนี้อีกครา เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว!

นั่นทำให้เราค้นพบคุณูปการในระบอบสีหนุราชของอดีตกษัตริย์เขมร ผู้มีสายพระเนตรยาวไกลในด้านการเล่นแร่แปรรูปศักยภาพในจริตชาวเขมรไปสู่เนื้อหาทางวัฒนธรรมการแสดงและเทศกาลนานา และนี่คือ จริตนิยมแบบกัมพูชาที่เคยมีมาในไทม์ไลน์-พนมเปญ

นครแห่งความสำราญในผู้คนที่เหือดแห้งและเลือนหายไปจากการกระทำทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ

อา…ในที่สุด พนมเปญ-ไทม์ไลน์ของ “ระบอบสีหนุราช” ซึ่งนำไปสู่หนทางแห่งการเหลือรอดของพระองค์ นั่นคือ “อำนาจอ่อน” ซึ่งเป็นจุดแข็งทั้งหมดของอดีตกษัตริย์สีหนุ!

ทว่า กว่าจะค้นพบศักยภาพอันเหลือล้นที่ว่า พนมเปญ-ไทม์ไลน์ที่ที่พระองค์สร้างไว้และเราเพียรตามหา ก็สิ้นสุดในวังวน อนิจจา…

เจ็ดสิบปีเท่านั้นเอง!?