เสน่ห์ อิทะกะ แม่เหล็ก ‘คอร์แนล’ ไทย โปรเจ็กต์

บทความพิเศษ

 

เสน่ห์ อิทะกะ

แม่เหล็ก ‘คอร์แนล’

ไทย โปรเจ็กต์

 

แม้ สุจิตต์ วงษ์เทศ จะให้เครดิตต่อหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2519 ไว้ค่อนข้างสูง

ถึงขั้น “เปลี่ยน” ความคิด

กระนั้น ในความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตในทางปัญญา มิใช่อยู่ๆ สุจิตต์ วงษ์เทศ จะกลายเป็น “นิวสุจิตต์” โดยฉับพลัน

เรียกตามสำนวน จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ต้องว่า ดำเนินไปในลักษณะสะสม

เป็นการสะสมใน “เชิงปริมาณ” จากกระบวนการเรียนรู้โดยตนและจากสภาพในทางสังคมที่จู่โจมเข้ามาโดยรอบ

ทุกอย่างดำเนินไปในลักษณะแห่งการปะทะและสังสรรค์

แม้กระทั่งลักษณะ “อนาธิปไตย” ที่ซ่อนแฝงอยู่อย่างลึกซึ้งและสะท้อนออกเป็นปฏิกิริยาผ่านการตัดสินใจของ “ขุนเดช”

ยิ่งเมื่อเล่นบท ทองปน บางระจัน ผ่าน “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” ยิ่งร้อนแรง

กระนั้น ที่มีลักษณะ “ช็อก” อย่างรุนแรงก็เมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินทางจากมหานครกรุงเทพฯ ไปอยู่ ณ เมืองอิทะทะ เมืองมหาวิทยาลัย

สภาพการณ์ของ “อิทะกะ” ต่างหากที่ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง

 

ไทยแลนด์ โปรเจ็กต์

กับ อดีต ซีไอเอ

นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยจำนวน 1 ในจำนวน 10 แห่งที่ดีที่สุดของสหรัฐแล้ว มหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่ออิทะกะ ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก

ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ทางแถบเอเชียอาคเนย์ที่ดีที่สุดอีกด้วย

เรียกตามประสาวิชาการว่า “เซาท์อีสต์ เอเชีย โปรแกรม”

เอกสารต่างๆ เกี่ยวกับประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่มากมายในห้องสมุด

และแน่นอนที่สุดที่จะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวกับประเทศไทย

การศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยนั้นแยกออกมาต่างหากจาก “เซาท์อีสต์ เอเชีย โปรแกรม”

เรียกขานกันว่า “ไทยแลนด์ โปรเจ็กต์”

นั่นเป็น “ข้อมูล” ในระหว่างปี 2514-2515 เป็นข้อมูลอัน สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้มาและจดจารเอาไว้ใน “เมด อิน U.S.A.”

และที่น่าตื่นตาตื่นใจยังเป็น

 

เครือข่าย โยงยาว

ไปยัง ประธานาธิบดี

แม้จะรู้กันอยู่อย่างชัดเจนว่า ศาสตราจารย์ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของ “ไทยแลนด์ โปรเจ็กต์” นั้น เป็น 1 ในจำนวนซีไอเอที่เคยมาปฏิบัติงานในประเทศไทย

ด้วยเหตุผลทางการเมืองตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

และปัจจุบัน (คือในปี 2515) ก็ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีเกี่ยวกับประเทศไทยก็ตาม

ผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา

เกี่ยวกับความเร้นลับของราชการไทยแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรประเทศไทยอันเป็นที่รักของใครๆ ทั้งหลาย และเป็นที่รักของผม (สุจิตต์) ด้วยนั้น เปรียบเสมือนสาวพรหมจรรย์ที่ถลำตัวให้แก่หนุ่มอเมริกันไปเสียแล้ว

ไม่มีขุมขนใดที่หนุ่มอเมริกันจะต้องการรู้จากสาวไทยแลนด์คนนี้นักนอกจากจะคอยระมัดระวังดูแลว่า

มิให้หนุ่มอื่นมาล่อลวงไปเป็นเมียน้อย

ผมไม่รู้ว่าจะมีคนไทยเคยมาเรียนจบจากที่นี่ไปกี่คน แต่ปัจจุบัน (2515) นักศึกษาไทยทั้งที่กำลังเรียนปริญญาตรีและรวมทั้งที่กำลังทำปริญญาโทและเอกอยู่มีประมาณ 22 คน

ในจำนวนนักศึกษาทั้งหมดมหาวิทยาลัย 13,000 คน และมีนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาศึกษาประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่น่าสนใจมากยิ่งกว่ายังเป็นแต่ละบรรทัดต่อไปนี้

 

รายงาน ภาคสนาม

บัณฑร อ่อนดำ

“ครับ ผมเคยพยายามรายงานการสำรวจหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเคลือบคลุมเพราะมีความรู้สึกว่าไม่น่าจะบอกมัน

แต่ที่ไหนได้

มันมีรายงานอีกชุดหนึ่งซึ่งสำรวจไว้แล้วอย่างละเอียดกว่าที่ผมทำไว้เสียอีก การสำรวจของผมเป็นเพียงพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากผลการสำรวจเดิมเท่านั้น”

นี่เป็นความเห็นของ คุณบัณฑร อ่อนดำ อายุ 36

เป็นมหาเปรียญจากวัดมหาธาตุแล้วรู้สึกไปเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงสมัครเข้าทำงานกับ “ยูซ่อม” ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นแล้วจึงได้ทุนไปศึกษาทาง Rural Sociology

“ผมจะกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตามโครงการที่จะตั้งคณะสังคมศาสตร์ขึ้นที่นั่นในปีการศึกษาหน้า”

บัณฑร กำลังทำวิทยานิพนธ์เพื่อรับปริญญาโทเพื่อรีบกลับไปสอนหนังสือ

และอาจจะเดินทางมาอีกครั้งเพื่อทำปริญญาเอก เมื่อทำงานให้บ้านเมืองได้ระยะอันควร

“ไม่มีอะไรใหม่จากการเรียนที่นี่นอกจากความทุกข์เรื่องทฤษฎีสุ่มสี่สุ่มห้าของฝรั่ง ซึ่งอันนี้เองทำให้ผมคิดว่าจะต้องกลับไปศึกษาภาคอีสานอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านแถบนี้เมื่อครั้งทำงานกับยูซ่อม

แล้วจึงจะได้ข้อมูลเต็มสำหรับการสอนหนังสือ

ความจริงแล้วผมเป็นคนอีสานหากแต่ไปเกิดเสียที่สุพรรณบุรี ครับ ผมพูดภาษาลาวภาษาอีสานได้สบายซึ่งนับว่ามีส่วนช่วยผมได้มากทีเดียวที่จะทำความเข้าใจกับคนแถบนั้นได้อย่างพอสมควร

แน่นอนครับ ผมมีความตั้งใจสำหรับภาคอีสานและการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการภาคนี้”

นั่นเป็น บัณฑร อ่อนดำ แต่อีกคนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

 

บ่มเพาะ นักประวัติศาสตร์

อานันท์ กาญจนพันธุ์

“ผมต้องทำประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาคเหนือให้ได้” อานันท์ กาญจนพันธุ์ อายุ 26 ปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กำลังทำปริญญาทางประวัติศาสตร์ และจะต่อถึงปริญญาเอก

“แม้ว่ามันจะเป็นความฝันของคนหนุ่มเท่านี้ก็เถอะ แต่ผมก็ฝันและปรารถนา การทำงานต่อไป ในอนาคตนั้นผมหมายใจไว้กับพรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนที่ศึกษา อยู่ประเทศต่างๆ ว่าจะต้องกลับมาร่วมกันทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาคเหนือให้ถึงที่สุด”

“เอาไว้อีกสักปีสองปีเถอะค่ะแล้วหนูจะตอบว่าหนูควรจะคิดว่าจะทำอะไรให้แก่บ้านเมือง”

ชลชินีพันธุ์ ปทุมานนท์ กำลังทำปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ กระซิบกับผม

ก่อนที่จะกล่าวอำลาเพื่อเดินทางไปสอนภาษาไทยที่แคนาดา

มหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของสหรัฐที่นักศึกษาไทยที่อยู่ต่างรัฐมักจะเดินทางมาเพื่อค้นคว้าวิชาการต่างๆ

เพราะที่นี่มีเอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศมากที่สุด

 

ศูนย์รวม เอกสารไทย

แม่เหล็ก แท่งมหึมา

ความเป็นศูนย์รวมแห่งเอกสารทำให้มีฐานะเป็นเหมือน “แม่เหล็ก” อันทรงพลังในการดูดดึงผู้คนให้เดินทางเข้ามาแล้ว

การเดินทางมาทั้งที่ “ศึกษา” และค้นคว้าก็กลายเป็น “เสน่ห์”

ไม่ว่าจะเป็นการพบและสนทนากับ บัณฑร อ่อนดำ ไม่ว่าจะเป็นการพบและสนทนากับ อานันท์ กาญจนพันธุ์

คนเหล่านี้มีบทบาทอย่างไร ย่อมเป็นที่ประจักษ์

กล่าวสำหรับ บัณฑร อ่อนดำ ขบวนการคนทุกข์ที่ต่อมาพัฒนาเป็น “สมัชชาคนจน” ย่อมรู้จักเป็นอย่างดี

ขณะที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็เจนจบในเรื่องของ “ชาวนา ภาคเหนือ”

ยัง ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อีกเล่า ยัง ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ อีกเล่า ไม่เพียงแต่ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะให้คำตอบ ไม่เพียงแต่ พล.ต.มนูญ รูปขจร จะมีความประทับใจ

มวลมหาประชาชนย่อมรู้ดี ยังเติร์กทั้งหลายย่อมเป็นที่ประจักษ์