‘วิกฤต’ ไหม? เศรษกิจไทย-ลาว

ข้อถกเถียงในเมืองไทยว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจว่าจัดอยู่ในขั้น “วิกฤต” แล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายประชานิยมเรื่องการแจกเงิน “ดิจิทัล” เป็นสำคัญ

ถ้าเรายกเรื่อง “หนุน-ค้าน” ที่ว่านั้นออกไป แล้วมองทุกอย่างตามสภาพที่เป็นจริง เราก็จะได้ภาพชัดเจนมากขึ้นว่า ไม่ว่าจะ “วิกฤต” หรือไม่ เศรษฐกิจไทยในยามนี้ “น่าเป็นห่วง” และผู้มีอำนาจ ผู้กำหนดนโยบาย จำเป็นต้องหาทางแก้ไข หรือไม่ก็ “บรรเทา”

ในหน้าเว็บไซต์ cnbc.com เมื่อ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เอง นักวิเคราะห์ภาคเอกชนต่างชาติให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจไทยไว้หลากหลาย

แต่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง และความยุ่งยากกำลังตามมา

 

เริ่มต้นจากถ้อยแถลงของ “แบงก์ชาติ” หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 20 พฤศจิกายน ที่บอกว่า จีดีพีของไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นี่คือตัวเลขของทางการ อย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่เพียงต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายลงความเห็นเอาไว้ก่อนหน้าว่า จะขยายตัวได้ถึง 2.4 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นการต่ำลงจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ 1.8 เปอร์เซ็นต์

เท่ากับว่า เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

บรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ฉั่ว ฮันเถิง นักเศรษฐศาสตร์ของดีบีเอสแบงก์ มองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วพบว่า การบริโภคของภาคเอกชนนั้นยังคงหนักแน่น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการชะลออย่างต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดๆ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ, การผลิต และการส่งออก

คุณฉั่วยังย้ำเตือนไว้ชัดเจนว่า โอกาสที่จะใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้งบประมาณภาครัฐนั้นกำลัง “จำกัดแคบ” ลงทุกที เพราะ “นโยบายประชานิยม” ที่งัดออกมาใช้กันตลอดเวลา

 

ทีม โกลบอล รีเสิร์ชของแบงก์ออฟอเมริกา สรุปความเอาไว้ว่า การที่จีดีพีของไทยขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดโดยรวมคาดหวังไว้อย่างหนึ่ง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าที่ทุกคนคิด

ธปท.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาต่อเนื่อง 8 ครั้งแล้ว แบงก์ออฟอเมริกาเชื่อว่า ผลกระทบจากการนี้จะชัดเจนและรุนแรงขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน แล้วก็จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ซึ่งอ่อนค่าลงแล้วในปีนี้ 1.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แล้วก็กำลังจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ทั้งหมดชี้ชัดว่า ปีนี้ก็จะลำบาก ปีหน้าอาจจะยิ่งลำบากมากขึ้น

แต่ถามว่า นี่คือวิกฤตแล้วหรือไม่? ขอให้มองสถานการณ์ของลาว เป็นคำตอบ

 

ลาวกู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์จากจีนเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างและดำเนินการ รถไฟความเร็วสูง, ถนนหนทาง และเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

กู้ไปกู้มา หนี้สินภาครัฐของลาวทะลุไปถึง 122 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปีนี้

แปลความได้ว่า ทั้งประเทศทำมาหาได้ตลอดทั้งปี เอามากองรวมกันยังใช้หนี้ได้ไม่หมด

เพื่อการก่อสร้างสาธารณูปการเหล่านั้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาวหดหายไปเรื่อยๆ ตามไปด้วย ผลก็คือค่าเงินกีบวิกฤตหนัก แทบกลายเป็นเงินไร้ค่าอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อนำมาแลกดอลลาร์

ที่ซ้ำเติมเข้ามาสมทบก็คือ ราคาของอาหารและพลังงานที่แพงขึ้นทั่วโลก เงินเฟ้อในลาวก็พุ่งปรี้ด

บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายลงความเห็นตรงกันว่า ขอเพียงสถานการณ์วิกฤตนี้บานปลายออกนอกการควบคุม-ซึ่งใกล้เคียงมากแล้ว เศรษฐกิจลาวก็จะล่มทั้งระบบในทันที

 

รัฐบาลลาวตอนนี้ ทำทุกทางเพื่อพยุงให้ทุกอย่าง “นิ่ง” ให้มากที่สุด ทั้งขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ค้ำประกันพันธบัตร แล้วยังขอความร่วมมือไปที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ให้มาช่วยบริหารจัดการหนี้ของประเทศให้ที

แต่ทุกคนเห็นพ้องตรงกันเช่นกันว่า ถ้าหากเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาวอย่างจีนไม่ยอมยกหนี้ให้ในระดับที่มี “นัยสำคัญ” ปัญหาความยุ่งยากทางเศรษฐกิจในลาวก็ยากที่จะผ่านพ้น

ดีไม่ดี อาจต้อง “ผิดนัดชำระหนี้” หรืออาจติด “กับดักหนี้” ซึ่งโดยความหมายทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ การถูก “เจ้าหนี้” เข้ายึดกิจการต่างๆ ที่ทำขึ้นมาทั้งหมด โดยที่ลาวได้แต่มองตาปริบๆ

เหมือนเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ “การไฟฟ้าแห่งประเทศลาว” ซึ่งกู้จากจีนมาดำเนินกิจการมหาศาล คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ต่างประเทศของลาวทั้งหมด ตอนนี้ตกอยู่ในมือของ “ไชนา เซาเทิร์น พาวเวอร์ กริด” เจ้าหนี้ที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือสิทธิในการ “ส่งออก” ไฟฟ้าลาวไปยังต่างประเทศทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า จีนไม่น่าจะทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งก็น่ารับฟัง

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเราสามารถพูดง่ายๆ ได้ว่า ตอนนี้ชะตากรรมของลาวทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือจีน ชนิด “จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด” แล้ว

 

นี่คือตัวอย่างระดับ “วิกฤต” ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจลาว

เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องแจกหรือไม่แจก เงินดิจิทัล ไม่มีนัยสำคัญใดๆ

สิ่งที่ต้องถามตัวเองและหาคำตอบให้แน่ชัดก็คือว่า เราใช้ทุกบาททุกสตางค์ช่วยอุ้มเศรษฐกิจของประเทศในทางที่ถูกที่ควร คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่?

รัฐบาลเพื่อไทยต้องคิดเรื่องนี้ให้ดี ให้ถี่ถ้วน ก่อนตอบนะขอรับ