วิกฤต “พ.ร.บ.กู้เงิน” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

วิกฤต “พ.ร.บ.กู้เงิน”

เหมือนกำลังปีนภูเขาที่สูงชัน “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” หรือโครงการที่เรียกชื่อยาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งเริ่มเขี่ยลูก ประกาศเดินหน้าเต็มสูบแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนพลเมืองไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน “เป๋าไม่ตุง” มีเงินฝากในบัญชีทุกบัญชีรวมกันแล้วน้อยกว่า 5 แสนบาท โดยจะได้รับสิทธิครั้งแรก 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ ต้องใช้ภายในอำเภอตามบัตรประชาชน เงินต้องใช้ครั้งแรกภายใน 6 เดือน โครงการจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2570 ผู้ได้รับสิทธิจะไม่สามารถโอนให้ผู้อื่น หรือแลกเป็นเงินได้

ที่ทำเอาท่านผู้ชมอ้าปากหวอ พากันร้อง “อะอ้าวอับดุล” มากที่สุด ดังที่เรียนให้ทราบไปแล้วคือ “แหล่งที่มาของเงิน” ที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เม็ดเงินตัวเลขกลมๆ จำนวน 500,000 ล้านบาท ไม่ได้มาจากกระบอกไม้ไผ่

“ออกพระราชบัญญัติกู้เงิน” โดยการันตีว่า “การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว จะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส และไม่ขัดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” แต่ไม่ว่าจะเลี่ยงบาลี หลีกเลี้ยวลดหย่อนไปยังไง แต่แม่ค้าตลาดสด สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า “กู้มาแจก”

ประเด็นเงิน 5 แสนล้านบาท จะมาจากกลวิธีใดไม่มีใครว่า แต่เมื่อที่ไปที่มาจาก “พ.ร.บ.กู้เงิน” หรือก็คือ “กู้มาแจก” เลยโดนทัวร์ลงรัวๆ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แหล่งที่มาของวงเงินที่จะนำมาใช้ในการออก พ.ร.บ. ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีการหยิบยกมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ที่ระบุเอาไว้ว่า

“หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติหรือกู้เงิน รัฐบาลจะทำได้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”

แต่ซีกรัฐบาล โดยเฉพาะ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ กลับมองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีนี้ มีการเติบโตต่ำมาก เพียงร้อยละ 1.9 และเติบโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม

ล่าสุด “นายดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ออกมาแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของปีนี้ ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจของไทยเติบโตเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่เติบโต 1.8 ซึ่ง “นายกฯ นิด” สารภาพกับผู้สื่อข่าวว่า เห็นตัวเลขแล้วตกใจ เพราะทุกอย่างทั้งการใช้จ่าย การลงทุน และเรื่องการผลิตของโรงงานเลวร้ายหมด มากกว่าที่คิดไว้เยอะ

เมื่อเศรษฐกิจถึงจุด “วิกฤต” จึง “เปิดโอกาส” ให้ “พ.ร.บ.กู้เงิน” โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความเป็นไปได้สูงและมากยิ่งขึ้น แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย “นิยาม” ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ถึงกับตกต่ำดำดิ่งมากนัก ถึงขนาดต้องออก “พ.ร.บ.กู้เงิน”

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะแปล “นิยาม” ให้คำจำกัดความ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ประมาณไหน เอาอะไรมาเป็นมาตรวัด แต่ดูประหนึ่งว่า โอกาสที่ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หนทางแห่งความสำเร็จดูดีกว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก แต่เมื่อดูไทม์ไลน์ยังอืดดุจ “เรือเกลือ” ขบวนการขับเคลื่อนยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่ได้ลงเสาเข็ม

ตามขั้นตอนแรกกฎหมายของรัฐบาล

1. “กระทรวงการคลัง” จัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลัง ออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท

2. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

2.2 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

2.3 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501

2.4 กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548

กฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ด้วยข้อสรุป 3 แนวทาง “ทำได้ ทำไม่ได้ และแก้ไขปรับปรุง”

ที่บอกว่ายังไม่ได้ไปไหน เพราะ “นายปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายขั้นตอนว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ฝ่ายเลขานุการถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น มติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย

“เป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น เมื่อเช้ายังทวงถามกับรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ได้ส่งมา”

เมื่อกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับมารัฐบาล “ทำได้-ทำไม่ได้-ปรับปรุงแก้ไข” ลำดับถัดไป รัฐบาลเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “มีมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ-รับฟังความเห็นหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม”

เมื่อ ครม.ถกแถลงกันเรียบร้อย ส่ง พ.ร.บ.กู้เงินไปยังฟากนิติบัญญัติ ลำดับแรก คือ “สภาผู้แทนราษฎร” พิจารณา 3 วาระรวด เมื่อสะเด็ดน้ำแล้ว ส่งไม้ต่อให้ “วุฒิสภา” พิจารณา ภายในกรอบ 60 วันส่งเรื่องกลับให้ “สภาผู้แทนราษฎร”

ดังที่บอกกล่าวเล่าเก้าสิบไว้เมื่อฉบับที่แล้วว่า ฐานเสียงของรัฐบาลนี้มีอยู่ 314 เสียง พ.ร.บ.กู้เงินไม่น่าจะสามเพลงตกม้าตาย กอปรกับ “ส.ว.” ไม่มีสิทธิตีตก หากไม่ผ่านความเห็นชอบ ทำได้เพียงแต่ส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตซ้ำ จึงไม่น่าจะมีอะไรในกอไผ่ เพราะเสียงสนับสนุนท่วมท้นล้นเหลือ

ที่จะชนปังตอ ก็กรณีที่มีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ในหลายช่องทาง เช่น “นักร้อง” หรือประชาชนเข้าชื่อยื่นองค์กรอิสระ ผู้ตรวจการแผ่นดิน/ป.ป.ช. ให้ใช้อำนาจอื่นยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

หรือองค์กรอิสระยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองโดยตรง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง จะต้องส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหา จากนั้น จะพิจารณาแล้วเสร็จปิดคดี คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร นั้นคือคำตอบว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” ได้ไปต่อ หรือ ตกม้าตาย