บทบาทรัฐบาล บทบาทข้าราชการ สร้างสรรค์กับทำลาย

เหยี่ยวถลาลม

 

บทบาทรัฐบาล

บทบาทข้าราชการ

สร้างสรรค์กับทำลาย

 

เสียง “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาฯ สภาพัฒน์ กับเสียง “เศรษฐา ทวีสิน”ถ้าจะเปรียบเป็นเสียงดนตรีกล่าวได้ว่า “คนละคีย์”

แม้ฟังดูแล้วคล้ายๆ กัน โดยสภาพัฒน์เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 จีดีพีโตแค่ 1.5% ผิดจากความคาดหมาย แต่ “ดนุชา” ก็ยังคงเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขยายตัวได้ดี ไม่ได้เข้าขั้น “วิกฤต” และจะดียิ่งขึ้น ถ้าเร่งปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่เกี่ยวพันไปถึงการส่งออก

ขณะที่ “เศรษฐา” พูดชัดๆ ว่า “ปีหน้าจะหนักกว่าที่คิด” จึงมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ซ้ำยังย้ำว่า ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านก็ถือเป็น “ความซวยของประเทศ”

หลายคำถามอันเนื่องมาจากนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท” จึงประเดประดัง

ไหนว่าจะไม่กู้ใครมา ไหนว่าจะแจกถ้วนหน้า ไหนว่า ไหนว่า ไหนว่า…

 

จะว่าไปแล้ว สมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็แถลงนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา

ฝ่ายบริหารแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คือระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และถ่วงดุลจากผู้แทนราษฎรด้วยกัน

เป้าหมายไม่ควรจะอยู่ที่ “ขัดขา” หรือ “ขวางความเจริญ” แต่นั่นเป็นเพียง “หลักการ” หรือ “อุดมคติ” ส่วนเรื่องจริงคือมักจะ “ขัดขา” และ “ขวางความเจริญ” ที่เกิดผลงานของฝ่ายตรงข้าม

จริงตามที่ไอน์สไตน์ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”!

การเป็น “รัฐบาล” ไม่ใช่นักปรัชญาหรือนักวิชาการ รัฐบาลไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่ผู้ตรวจบัญชี ท่านควรจะต้องมี “จินตนาการ”

ฝ่ายบริหารของประเทศอาจเปรียบได้กับ “ผู้กำกับการแสดง” ซึ่งมีบทบาทใน “การคิดสร้างสรรค์” โดยที่มี “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นเหมือน “นักแสดง”

“นักแสดง” ต้องเล่นตามบทที่ถูกกำหนด

ไม่ใช่จู่ๆ นักแสดงยกพวกเข้าทุบตีผู้กำกับการแสดง ยึดอุปกรณ์การถ่ายทำยึดเงินยึดทุกสิ่งแล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “ผู้อำนวยการสร้าง” หรือ “ผู้กำกับการแสดง” เสียเอง

 

การที่ “นายกฯ เศรษฐา” บอกว่า ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านถือเป็นความซวยของประเทศนั้น ถือเป็น “มุมมอง” ที่ให้ความสำคัญกับ “เวลา” ซึ่งเป็นได้ทั้ง “โอกาส” และ “อุปสรรค”

ยกตัวอย่างย้อนหลังไปเมื่อ 12 ปีก่อนที่ประเทศเคยเสียโอกาส!

23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ

จินตนาการถูกสร้างขึ้น!

ปี พ.ศ.2563 คนไทยจะได้ใช้ “รถไฟความเร็วสูง” 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การเดินทางระหว่างกทม.กับภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นเรื่องง่าย สะดวกรวดเร็ว ระบบทางรถไฟถูกยกระดับจากทางเดี่ยวเป็นระบบทางคู่ รถไฟฟ้าจะมีเพิ่มขึ้นจาก 4 สายเป็น 10 สาย ท่าเรือจะมีเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ท่าอากาศยาน ระบบศุลกากร และการตรวจคนเข้าเมืองจะได้รับการปรับปรุงเพิ่มศักยภาพ

เป็นการ “ลงมือก่อน” เพื่อสถานะที่เป็น “ศูนย์กลางแห่งการคมนาคมของภูมิภาค”

วาดภาพในฝันว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมนี้จะทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ต้นทุนสินค้าลดลง ราคาสินค้าต่ำลง ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 1 แสนล้านบาท จะเกิดเมืองเศรษฐกิจใหม่ๆ ความเจริญกระจายตัวไปสู่ภูมิภาค เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 5 แสนอัตรา

ที่สำคัญคือ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ของประเทศพลิกโฉม

แต่การทำตามยุทธศาสตร์นี้ต้อง “กู้เงิน”!

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็น “ผู้คิดฝัน”

ส่วนเรื่องการศึกษา ค้นคว้า ถกเถียง วิเคราะห์รวมถึงนำเสนอแผนและแนวปฏิบัติมาจาก “หน่วยงาน” ซึ่งเป็น “กลไกของรัฐ”

นั่นคือ บทบาทของนักแสดง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ขณะนั้นเป็น “ตัวแสดง” สำคัญในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ พ.ศ….

ถ้า “จินตนาการ” ครั้งนั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมา พรรคเพื่อไทยก็ลอยลำ!

ประเทศเจริญก้าวหน้า มีรถไฟความเร็วสูงใช้กันตั้งแต่ปี 2563

 

แต่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศนั้น “ขัด” หรือ “แย้ง” ต่อรัฐธรรมนูญ

จบลงด้วยวาทะสะท้านโลก

“ให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทยเลย”

มกราคม 2557 โครงการพับหรือจบสิ้นจินตนาการ!

“22 พฤษภาคม 2557” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้า “คสช.” ก่อรัฐประหาร

แต่หลังยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ 2 ปี “ประยุทธ์” ก็ยอมรับกับความจริงว่าประเทศจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ต้นปี 2559 ประยุทธ์ กล่าวว่า…รัฐบาลเห็นความสำคัญการมีรถไฟความเร็วสูง!

(ทำไมไม่รอให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศเสียก่อน)

“ประยุทธ์” ยังพูดอีกว่า เดิมจะทำแค่รางไว้ก่อนแล้วนำรถไฟความเร็วปานกลางมาวิ่ง แต่สรุปว่า ไม่เหมาะแล้ว เราไปไม่ทันแล้ว เอาเป็นว่า เราต้องลงทุนให้ได้รถไฟความเร็วสูงเส้นประวัติศาสตร์ก่อนก็แล้วกัน

ทำไมไม่มีใคร “ขัดขา” ประยุทธ์!

ทำไม “ความเจริญ” ไม่ถูกขัดขวางจากผู้ใด และฝ่ายใด

 

ถึงจะอย่างไร “เศรษฐา ทวีสิน” ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาก “กระบวนการ” ชอบด้วยกฎหมายและวัฒนธรรมทางการเมืองอันควร กล่าวคือ ไม่ได้ใช้กำลังคนและอาวุธเข้าปล้นชิงอำนาจจากใครมา ทั้งท่วงท่าของ “เศรษฐา” ก็ติดดิน วิพากษ์วิจารณ์ได้ จับต้องได้ ไม่บ้าๆ บอๆ ท้าตีท้าต่อยกับสื่อหรือกับน้องนุ่งลูกหลาน

ครบ 2 เดือนรัฐบาลยังมี “ยางอาย” ออกมาแถลงผลความคืบหน้าการทำงานแต่ละด้านให้ได้ติดตามตรวจสอบ

ประเทศที่เจริญก้าวหน้า ฝ่ายบริหารจะต้องมี “ความคิดริเริ่ม” และ “สร้างสรรค์” เป็นนักกลยุทธ์ คิดมุมมองใหม่ๆ หรือทางเลือกใหม่ๆ มี “จินตนาการ” มาแปลงเป็น “นโยบาย”

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับรัฐบาลที่มาจากการ “รัฐประหาร” ที่ใช้ “ข้าราชการประจำ” บริหารประเทศ

ข้าราชการประจำคือ “นักแสดง” ต้องเล่นตามบท อย่าแหกกฎ หรือฉีกกติกา

ส่วนผู้คนทั่วไปรวมทั้งฝ่ายที่เห็นแตกต่าง และฝ่ายตรวจสอบ “การใช้อำนาจรัฐ” ก็ควรเข้าใจบทและทำไปตามบทบาทหน้าที่ อย่ามีอคติ อย่าใจร้อน หรือด่วนพิฆาตตัดสิน

ที่คิดว่าจะ “ยุติ” มันจะบานปลาย ที่คิดว่า “ปรารถนาดี” นั้นก็กลายเป็น “การทำลาย”

พายเรือในอ่างกันมากี่ปีแล้วนี่ ฝีมือใคร!?!!