เส้นทางบันเทิงอันโลดโผนใน ‘ยุค 90’ ของ ‘ทราย เจริญปุระ’

คนมองหนัง

ละครโทรทัศน์เรื่อง “ล่า” (2537) ถือเป็นแลนด์มาร์กในวงการบันเทิงของใครหลายคน เริ่มตั้งแต่ “สินจัย เปล่งพานิช” ที่พยายามเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “นางเอกภาพยนตร์ยุคปลาย 80” มาสู่ “นางเอกละครโทรทัศน์ยุค 90” นานหลายปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขีดสุด กระทั่งมาได้รับการยอมรับอย่างถ้วนหน้าในบท “มธุสร”

“ล่า” ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของ “สุพล วิเชียรฉาย” ผู้กำกับฯ ฝีมือดี และ “บริษัทเอ็กแซ็กท์” ในเครือแกรมมี่ (บริหารงานโดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ”) ที่มุ่งมั่นผลิตละครคุณภาพป้อนสถานีโทรทัศน์กองทัพช่อง 5 ในยุคนั้น โดยต่อเนื่อง

ที่สำคัญสุด ละครเรื่องดังกล่าวยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักแสดงหญิงหน้าใหม่วัยเพียง 13 ย่าง 14 ปี ชื่อ “ทราย เจริญปุระ” ซึ่งได้รับคำชมกว้างขวางว่า สามารถแสดงบทดราม่าหนักๆ ได้ดีเกินอายุ

แรกสุด การมีพื้นฐานครอบครัวเป็นบุคลากรในวงการบันเทิง โดยเฉพาะการมีพ่อชื่อ “รุจน์ รณภพ” ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับฯ และนักแสดงอาวุโสคนสำคัญ ทำให้ทรายถูกประเมินว่าเธอมีแต้มต่อและอภิสิทธิ์มากพอสมควร จึงสามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะนักแสดง ทรายได้พิสูจน์ตัวเองกับผลงานชิ้นต่อๆ มา โดยอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญบนเส้นทางวิชาชีพสายนี้ของเธอ คือ การรับบทเป็น “ผีสตรีในตำนาน” ในภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” (2542) ของ “นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งพยายามตีความเรื่องเล่า “แม่นาคพระโขนง” ให้มีลักษณะ “สมจริง” และมีมิติทาง “ประวัติศาสตร์”

หนังไทยเรื่องนี้ทำรายได้ไปราวๆ 150 ล้านบาท (สร้างสถิติเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดของยุคนั้น) และมีรางวัลรับประกันคุณภาพจำนวนมาก ขณะที่ทรายเองก็ได้เครดิตเป็นนางเอกของ “หนังที่ได้ทั้งเงินและกล่อง”

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ทรายมีผลงานเพลงออกมารวม 3 อัลบั้ม

ผลงานชุดแรก คือ อัลบั้มแนวป๊อปวัยรุ่นชุด “นาฬิกาทราย” (2538) ซึ่งยังไม่ฉายแววโดดเด่นมากนัก ผิดกับผลงานสองชุดหลัง คือ “SINE” (2541) และ “D^SINE” (2542) ที่ทรายปรับบุคลิกตัวเองเป็น “สาวมั่น” และเปลี่ยนแนวดนตรีเป็น “เพลงร็อก” โดยมีนักร้อง-นักแต่งเพลง-นักดนตรีฝีมือดีอย่าง “แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” เป็นผู้ดูแลการผลิต

ผลงานเพลงในปี 2542 (ปีเดียวกับที่ “นางนาก” ออกฉาย) ทำให้ทรายมีเพลงฮิตประจำตัวที่ยังติดหูติดปากสาธารณชนมาจนถึงปัจจุบันอย่าง “สายลมที่หวังดี” และยังหนุนส่งให้เธอคว้ารางวัล “ศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม” บนเวทีสีสันอวอร์ดส์

น่าแปลกใจไม่น้อย ที่พอเข้าสู่ยุค 2000 ทรายก็ยุติเส้นทางการเป็นนักร้องลงอย่างสิ้นเชิงและเด็ดขาด

พ้นจากความสำเร็จข้างต้น ทรายถือเป็นคนบันเทิงที่แจ้งเกิดในยุค 90 ซึ่งผ่านประสบการณ์การทำงานอย่างหลากหลายจนน่าทึ่ง

หลังจากเคยเป็นนักแสดงและนักร้องในสังกัดแกรมมี่ เธอก็เคยแวะไปเป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์และเล่นภาพยนตร์ของอาร์เอส

หลังจากเคยเป็นนักแสดงในหนัง-ละครคุณภาพสูง หากประเมินด้วยสายตาและรสนิยมของผู้บริโภคชนชั้นกลาง ทรายก็เคยรับงานแสดงในละครทีวีสำหรับ “มหาชน” ของช่อง 7 อยู่หลายเรื่อง เช่น “ทอง 9” ของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” และละครพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ของค่ายสามเศียร

แม้ในราวสองทศวรรษหลัง ทรายจะมีภาพลักษณ์เป็น “ดาราหัวก้าวหน้า-ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่อีกด้าน เธอก็เคยเล่นละคร-หนังอิงประวัติศาสตร์ที่มีจุดยืนชาตินิยมเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “อตีตา” (2544) จากบทประพันธ์ของ “ทมยันตี” หรือ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2550-2557) ของ “ท่านมุ้ย”

เมื่อสำรวจไปยังภาพกว้างของปริมณฑลทางด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่โต-ลึกซึ้งกว่างานในแวดวงบันเทิง ทรายยังมีสถานะเป็น “นักอ่าน” และ “คนเขียนหนังสือ” ดังที่เธอเคยเป็นเจ้าของคอลัมน์ “รักคนอ่าน” ในมติชนสุดสัปดาห์อยู่นานหลายปี

ถึงตอนนี้ ทรายก็ยังมีผลงานการแสดงอยู่เป็นระยะ ที่น่าสนใจคือ เธอได้ร่วมแสดงใน “ซีรีส์วาย” หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “คาธ” (2565) และ “องศาสูญ” ที่กำลังออกอากาศอยู่

“ทราย เจริญปุระ” จะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการบันเทิงอันโลดโผนของเธอ ในงาน “FEED RETRO Music oTalk o Food o Book o Trip #90sไม่นานมานี้”

ที่ลานสนามหญ้า มิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย) วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00-16.50 น. •

 

| คนมองหนัง