จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2566

 

• “อยู่ข้าง” รัฐบาล

ผมเห็นนายกฯ ปฏิเสธกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ของพรรคก้าวไกลแล้ว

เกิดความคิดหลากหลาย

ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ดี และขอบอกว่าก้าวไกลทำเสียของอย่างมาก

และเห็นความอ่อนด้อยทางการเมืองอย่างชัดเจน

1) ในภาวะสงครามอย่างนี้ไม่ควรเสนอตัดอำนาจทหาร

2) ชื่อคนเสนอเรื่องนี้เป็น ส.ส.ที่บ่งชี้ว่าเป็นคนในศาสนา…

3) ไม่ชี้แจงพิษภัยของ กอ.รมน.

4) แบบสอบถามละเอียดยิบเดินความจำเป็น จนไม่กล้าตอบ

ฯลฯ

โชคดีที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล

ชนบท

 

มีจุดยืนตรงข้าม “ก้าวไกล” ชัดเจน

ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

โดยสร้างสรรค์

แต่ขออนุญาต “จุด จุด จุด” การโยงไปสู่ปมศาสนา

ด้วยละเอียดอ่อน

และไม่อยากให้ขยายเป็นประเด็น

 

• “ไม่อยู่ข้าง” รัฐบาล

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ไปยื่นคำร้องถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

กรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจกให้ประชาชนทั่วประเทศประมาณ 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

โครงการดังกล่าวแม้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะได้แถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

แต่กลับไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.162 บัญญัติไว้

อีกทั้งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจก มิได้เป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.62 วรรคแรก

และไม่เป็นเหตุเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ ม.140 ประกอบ พ.ร.บ.วินับการเงินการคลังของรัฐ 2561 ม.53 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะกู้เงินได้ก็แต่เฉพาะเข้าเงื่อนไข 4 ข้อเท่านั้น

คือ 1) ต้องเร่งด่วน 2) ต้องต่อเนื่อง 3) ต้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ และ 4) ต้องไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน เท่านั้น

การที่นายเศรษฐา และพลพรรคเพื่อไทยรีบเร่งในการผลักดันนโยบายดังกล่าว ทั้งๆ ที่บอกมาโดยตลอดว่าจะไม่กู้ แต่กลับอ้างปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลบล้างหรือฝ่าฝืนกฎหมายได้

หากแต่มีความมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ได้เคยหาเสียงไว้เท่านั้น

ซึ่งหากปล่อยไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ม.245 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ

ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อพิจารณา

และหากคณะกรรมการ คตง.เห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว

ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการ กกต. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงต้องรีบนำความมาร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ปฏิบัติให้เป็นไปตาม ม.245 เพื่อระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐต่อไป

นายศรีสุวรรณ จรรยา

ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน

 

ตั้งแท่น ชงเรื่องให้องค์กรอิสระ

เข้ามา “จัดการ” กรณีนี้เต็มที่

ถือเป็นจุดยืนตรงข้ามรัฐบาลชัดเจน

และเป็นอุปสรรคที่รัฐบาลเศรษฐาต้องฟันฝ่า

แน่นอน ไม่ง่ายสำหรับฝ่ายบริหาร

 

• อยู่ข้าง “กันเอง”

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ที่พึ่งของคนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,026 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2566

พบว่า ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกต้องการที่พึ่งอย่างมาก ร้อยละ 52.34

ร้อยละ 57.79 ของแพง ค่าครองชีพสูง

ร้อยละ 55.14 สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ

ร้อยละ 61.43 นอกจากพึ่งตนเองแล้วบุคคลที่คิดว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุด คือ ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ

ร้อยละ 45.17 ที่ประชาชนอยากระบายความอัดอั้นมากที่สุด คือ “เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะดีขึ้น”

รองลงมาคือ “ของแพง เงินไม่พอใช้” ร้อยละ 43.87

จากผลสำรวจนี้เป็นคำตอบแล้วว่า เวลานี้ประชาชนต้องการที่พึ่งในการใช้ชีวิต โดยของแพง ค่าครองชีพสูง คือเรื่องที่ประชาชนต้องการที่พึ่งมากที่สุด

และตามมาติดๆ อันดับที่ 2 กับเรื่องของเศรษฐกิจตกต่ำ ผลโพลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการใช้ชีวิตของคนไทยกำลังมีปัญหาเร่งด่วนในเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง

ซึ่งนอกจากตนเองแล้วบุคคลที่คิดว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุดสองอันดับแรก คือ ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ และเพื่อนสนิท โดยมีรัฐบาลเป็นอันดับสุดท้าย อยู่อันดับที่ 5

คือมีประชาชนเพียงร้อยละ 18.46 เท่านั้นที่คิดว่าน่าจะพึ่งรัฐบาลได้

สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลว่าจะพึ่งพาได้น้อยที่สุด จาก 5 อันดับ

และประชาชนยังอัดอั้นใจในเรื่องเศรษฐกิจอีกด้วย จึงเป็นการตอกย้ำว่าปัญหาเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้ คือปัญหาสำคัญที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขโดยเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สร้อย ไชยเดช

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

ผลการสำรวจที่ชี้ว่า

ชาวบ้านมุ่งพึ่งตนเอง ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่

มากกว่าหวังพึ่ง “รัฐบาล”

เป็นสัญญาณไม่ดีสำหรับรัฐบาล

และน่าจะเหนื่อยหนักขึ้นหลายขีด!! •