ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

โรงเจสุดท้ายที่ผมเดินทางไป “แสวงบุญ” ในปีนี้คือโรงเจ “เปาเก็งเต๊ง” ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งแต่เดิมผมมั่นหมายจะไปโรงเจบ้านหมู่ ฉะเชิงเทรา แต่สิ่งไรดลใจก็มิทราบได้ จึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังนครปฐมซึ่งห่างจากที่พักผมราวๆ ชั่วโมงเดียว

เส้นทางเข้าสู่โรงเจจากถนน ช่วงแยกจากตัวอำเภอนครชัยศรี ออกจะเลี้ยวลดคดเคี้ยวและเปลี่ยว ไม่ได้มีชุมชนหนาแน่นนัก แต่พอไปถึงก็พบโรงเจโอ่อ่าใหญ่โตอยู่ติดริมน้ำท่าจีน ผมเลยถึงบางอ้อว่า แต่ก่อนเขาคงไม่ได้เดินทางกันทางบก แต่ใช้เส้นทางน้ำสัญจรเป็นหลักนั่นเอง เส้นทางบกจึงไม่ค่อยมีอะไร

จะด้วยกุศลใดก็ไม่ทราบ ผมพบกับ “ฐา” ศิษย์เก่าซึ่งเคยเรียนหนังสือที่คณะโดยมิได้นัดหมายกันก่อน ทั้งที่เขาเคยชวนผมหลายครั้งหลายคราให้มาเยือนโรงเจแห่งนี้ เนื่องจากครอบครัวของเขา “ขึ้น” โรงเจนี้มาตั้งแต่รุ่นอาม่า

ฐาจึงได้พาผมไปรู้จักผู้จัดการดูแลโรงเจคือเฮียไช้และเฮียพูนลาภ เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง และทำให้ผมได้พบว่า เปาเก็งเต๊งคือ “ศูนย์รวมชาวยุทธ์” สมดังที่เหล่าซือของผมเคยบอกไว้จริงๆ

ต้องขอบพระคุณทั้งสองท่านที่ให้การต้อนรับอย่างดีมากๆ ครับ

 

โรงเจเปาเก็งเต๊งงิ้วรายเป็นโรงเจแรกในสายเปาเก็งเต๊ง มีอายุราวร้อยหกสิบปี ซึ่งมีสาขามากมายหลายแห่ง กระจายไปทั่วภาคกลางและในกรุงเทพฯ

เมื่อเราเดินเข้าไปภายใน จะพบกับเทวรูปขนาดใหญ่สามองค์ด้านหน้า องค์แรกคือเหล่าฮวบซือกง องค์กลางคือ “กวงเทียงฮุกโจ้ว” หรือพระพุทธสว่างนภา และพระฮู้เทียงเสี่ยงตี่

เหล่าฮวบซือกงนั้นเป็นพระเถระที่น่าสนใจและถือเป็นบูรพาจารย์ของเปาเก็งเต๊ง อาจารย์ธีระ วงศ์โพธิ์พระ หรือท่านอาจารย์ธีรทาสเคยเล่าไว้ว่า ที่จริงเหล่าฮวบซือกงเป็นพระภิกษุจากวัดเส้าหลินใต้ ซึ่งอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน ภายหลังฮ่องเต้ชิงปราบปรามพระภิกษุในวัดนั้น (มีประเด็นเรื่องซ่องสุมกำลังและเกี่ยวข้องด้วยเรื่องอั้งยี่หรือพรรคลับ) บรรดาพระและฆราวาสที่เกี่ยวข้องจึงต้อง “ลี้ภัย” ทางการเมืองมายังหนานหยางหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันว่าเหล่าฮวบซือกงมาถึงในราวปี พ.ศ.2430 โดยท่านไปขึ้นท่าที่ภูเก็ตก่อนแล้วจึงค่อยเดินทางมาภาคกลาง ท่านได้ก่อตั้งโรงเจ รวมทั้งสอนขนบการกินเจใน “สาย” นี้ไว้มากมายหลายแห่ง

เฮียพูนลาภยังเล่าให้ผมฟังว่า ในฎีกา (บุ๋นส่อ) งานกินเจของเปาเก็งเต๊งนั้น กล่าวถึงที่มาของพิธีว่ามาจากสองมณฑลคือกวางตุ้ง (แต้จิ๋วอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง) และมณฑลฮกเกี้ยน

 

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นของเก่าน่าดูชม คือบรรดาภาพวาดเก่าขององค์เทพและบูรพาจารย์ต่างๆ ในตัววิหาร สิ่งหนึ่งที่ติดใจ คือผมสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธรูปประธาน “กวงเทียงฮุกโจ้ว” พระพุทธสว่างฟ้า/พระพุทธจรัสนภา เอามากๆ

เพราะผมนึกไม่ออกว่าพระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้อยู่ในคัมภีร์ไหนของมหายาน นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก กระทั่งเดินไปพบรูปวาดของพระกวงเทียงฮุกโจ้ว(หรือในสำเนียงฮกเกี้ยนว่า กองเทียนฮุด) รูปหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับรูปเคารพพระประธานอย่างเห็นได้ชัด

พระพุทธรูปประธานนั้น ท่านเป็นพระพุทธหน้าตาเกลี้ยงเกลา สวมหมวกปัญจพุทธมาลาอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่ในรูปวาดกลับเป็นชายมีหนวด สวมชุดคลุมยาวไม่ใช่จีวรพระ

ต่อมาผมไปค้นเรื่อง “เม้งก่า” (เบ่งก่าวในภาษาฮกเกี้ยน) ซึ่งเราคุ้นชินจากนิยายกำลังภายในว่าเป็นนิกายเรืองโรจน์หรือพรรคจรัส อันเป็นพรรคมาร (เพราะไม่ใช่ชาวฮั่น)

เม้งก่าหรือเบ่งก่าวไม่ได้มีแค่ในนิยายนะครับ แต่มีอยู่จริงๆ คือ “ศาสนามาณี” หรือมาณีกี (Manichaeism) เพราะมีพระศาสดาชื่อมาณี อันเป็นศาสนาจากอิหร่านที่เข้าไปในจีนตั้งแต่สมัยถัง และมีอิทธิพลมากช่วงท้ายของราชวงศ์หยวนต้นหมิง จนกลายเป็นศาสนาหนึ่งของคนจีน

พระมาณีในรูปวาดเก่าๆ ของเมืองจีนนั้น ช่างเหมือนกับรูปวาด “กวงเทียงฮุกโจ้ว” ในเปาเก็งเต๊งเอามากๆ จนผมเชื่อว่า พระกวงเทียงฮุกโจ้วก็คือพระมาณีแห่งศาสนามาณี หรือเม้งก่านั่นเอง

บางครั้งชาวจีนก็เรียกพระมาณีว่า “พระมาณีพุทธจรัสแสง” เพราะศาสนามาณียอมรับว่า ก่อนหน้าที่พระมาณีจะเกิดมา ได้มีพระศาสดาบังเกิดจากพระเป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอยู่ก่อน คือท่านอาดัม ท่านโซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้าและพระเยซู โดยทุกท่านจะพยายามนำมนุษย์ไปสู่แสงสว่างให้จงได้

พระมาณีจึงดูเมือนเป็นพระพุทธะองค์หนึ่ง และศาสนามาณีก็รับเอาคำสอนของพุทธศาสนาไปใช้ค่อนข้างมาก

ศาสนามาณีจึงมีลักษณะแบบศาสนาผสมมาตั้งแต่แรก คืออ้างถึงศาสดาของศาสนาอื่นๆ ว่ามาปูทางก่อนที่พระมาณีจะลงมาสั่งสอนเป็นคนสุดท้าย

วัดของศาสนามาณียังอยู่ที่ฮกเกี้ยนครับ เพราะเป็นศาสนาที่มีชุมชนเก่าแก่ในถิ่นนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวคือเฉาอ๊าม ซึ่งกลายเป็นวัดในพุทธศาสนาไปแล้ว

 

ศาสนามาณีในจีนได้ผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ จนแยกกันแทบไม่ออก อันที่จริงจูหยวนจางปฐมกษัตริย์แห่งหมิงเป็นคนในพรรคหรือในศาสนามาณีนี่เอง และคนจากเบ่งก่าวนี่แหละที่ช่วยให้จูหยวนจางสามารถเอาชนะราชวงศ์หยวน ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ได้

จูหยวนจางจึงเลือกชื่อราชวงศ์ใหม่เป็น “หมิง” (เม้งหรือเบ๋ง) ที่แปลว่าแสงสว่าง (ประกอบด้วยอักษรพระอาทิตย์และพระจันทร์) จากชื่อศาสนามณีนี่เอง

ครั้นราชวงศ์หมิงล่มสลาย พวกชิงขึ้นปกครอง ขณะนั้นชาวเบ๋งค่อยๆ กลายไปเป็นลัทธิพระเมตไตรย์ (เชื่อว่าพระธรรมราชาจะเสด็จมาขจัดทุกข์ภัย) และพรรคบัวขาว (ผสานกับนิกายสุขาวดี) แต่ยังไม่ได้ทิ้งคำสอนของมาณีไปเสียทั้งหมด เพราะยังไงๆ หมิงหรือแสงสว่างก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติบ้านเมืองหรืออุดมการณ์อยู่

คนเหล่านี้ซ่องสุมกำลังชูคำขวัญ “ล้มชิง กู้หมิง” ก่อการบ่อยครั้งจนราชวงศ์ชิงพยายามปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ต้องอพยพลี้ภัยมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด

 

ส่วนการกินเจนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนามาณีด้วย เพราะเป็นหลักปฏิบัติอันหนึ่งที่สำคัญในศาสนานี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับพิธีกรรมที่กระทำกันอยู่แล้วได้โดยง่าย

ท่านปรมาจารย์เหล่าฮวบจะสัมพันธ์กับเบ่งก่าวในทางไหนก็ยากจะทราบ แต่ท่านมาจากสายของพวกต่อต้านชิงเช่นกัน (คือวัดเส้าหลินใต้) และโดยร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในเปาเก็งเต๊งนั้น สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเบ่งก่าวอย่างแน่นอนเกินกว่าที่จะปฏิเสธได้

อีกทั้งเบ่งก่าวกับฮกเกี้ยน อันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในจีนนั้นก็สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น แม้ในปัจจุบัน โรงเจเป่าเก็งเต๊งจะบริหารดูแลแลประกอบพิธีกรรมโดยชาวแต้จิ๋ว แต่ร่องรอยความสัมพันธ์กับฮกเกี้ยนนั้นก็ชัดยิ่งกว่าชัด นอกเหนือจากท่านเล่าฮวบซือกงแล้ว แม้แต่เทพเจ้าซึ่งนิยมกันเฉพาะในกลุ่มชาวฮกเกี้ยนอย่าง “ทิฮู้หง่วนโซ่ย” ก็ยังมีรูปวาดปรากฏในเปาเก็งเต็งด้วย

เฮียพูนลาภได้ให้เบาะแสที่น่าสนใจกับผมอีกว่า ในโรงเจสาขาแห่งหนึ่ง ยังค้นพบเอกสารตัวเขียนเก่าแก่ของ “พ้ออ๊ามจิ่ว” หรือมนต์แห่งพระมหาเถระพ้ออ๊าม ซึ่งท่านเป็นครูไสยเวทลื่อซาน อันนิยมแพร่หลายในกลุ่มคนฮกเกี้ยนเป็นพิเศษ เอกสารชิ้นนี้คือร่องรอยแสดงถึงความสัมพันธ์แนบแน่นกับคนฮกเกี้ยนในอดีต

ส่วนเรื่องศาสนามาณีนั้น เฮียเล่าว่า ยังมีแผ่นคำกลอนคู่หน้าประตู ของเปาเก็งเต๊งในอีกสาขามีชื่อพระมาณีอย่างชัดเจน

สุดท้ายหลักฐานสำคัญของเม้งก่าก็อยู่ใกล้ๆ จมูกของพวกเราเอง คือแผ่นป้ายไม้กลอนคู่อันเก่า หน้าประตูวิหารของเปาเก็งเต๊งที่ไม่ถูกไฟไหม้ไป ขึ้นต้นว่า “ความโชติช่วง (กวง/กอง) แห่งแสงสว่าง (เม้ง/เบ๋ง) ได้ลงมาสู่ทิศใต้…”

คำว่า “แสงสว่าง” ในที่นี้ ผมเห็นว่าย่อมหมายถึงราชวงศ์หมิงหรือจะหมายถึงเม้งก่าก็ไม่ผิด ส่วน “ทิศใต้” นั้น ก็ย่อมหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

เปาเก็งเต๊งงิ้วรายจึงสมควรแก่การไปเยือนอย่างยิ่ง เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีอะไรอีกมากให้ค้นหา เป็นที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางมหายาน

เป็นที่เปิดกว้างที่ใครๆ ก็เข้าไปด้วยความเคารพได้ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง