33 ปี ชีวิตสีกากี (47) | การสืบสวนคดีทางการเมือง

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

พ.ต.ท.สมยศ อรรถศาสตร์ รอง ผกก.1 สันติบาล เป็นอาจารย์บรรยายหัวข้อ การสืบสวนคดีทางการเมือง

การเมือง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลหรือระหว่างประเทศต่อประเทศ ถ้าหากสัมพันธ์สอดคล้องกันก็เป็นมิตร ถ้าเกิดการขัดแย้งกันก็เป็นศัตรู (เริ่มตั้งแต่ ครอบครัว รัฐบาล ความขัดแย้งภายในประเทศ นำไปสู่ความไม่มั่นคงภายใน)

ความมั่นคงของชาติ ประกอบด้วย
1. ด้านการเมือง
2. เศรษฐกิจ
3. สังคม
4. การทหาร

ด้านการเมือง แยกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ภายในประเทศ คือ พรรคการเมืองกับพรรคการเมือง

2. ภายนอกประเทศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนบางครั้งต้องเป็นศัตรูกัน

ด้านเศรษฐกิจ เราเป็นประเทศกสิกรรม ดังนั้น จึงต้องแข่งขันกันทางด้านการผลิต ผลิตผลทางการเกษตรกรรม ประเทศอื่นต่างก็ผลิตออกมาแข่งขันกันกับประเทศของเรา ถ้ามีการปลอมปนสินค้าก็เป็นเรื่องบ่อนทำลายเศรษฐกิจ

ด้านสังคม ศาสนา ประกอบด้วย วัฒนธรรมต่างๆ เรามีชนชาติต่างๆ มาก มีธรรมเนียมต่างกัน ก็มีการแทรกแซงทางวัฒนธรรม เช่น เด็กไทยรับวัฒนธรรมจีน

การทหาร คือ การแสวงหาอำนาจทางการเมือง

 

วิธีการหาข่าว

1. การทำจารกรรม
2. การก่อวินาศกรรม
3. การสืบสวน
4. ข่าวสาร, เอกสาร, หนังสือพิมพ์
5. สอบถาม
6. จากการซื้อข่าว
7. จากการบีบบังคับ เช่น ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับของเขา
8. ลักตัวเพื่อขู่บังคับ
9. สายลับ, การใช้สายลับ

การส่งคนไปเพื่อการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจ การเมือง สังคม การส่งคนเข้าไปทำจารกรรม การก่อวินาศกรรม ซึ่งมักทำในภาวะสงคราม เช่น การทำลายโรงไฟฟ้า การหาข่าว

การปฏิบัติการดำเนินการทางลับ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ได้ข่าวสาร หรือ การปฏิบัติการทั้งหลายที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา (ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีสงคราม)

 

การดำเนินการทางลับมี 3 อย่าง คือ

1. การป้องกัน คือ การใช้กำลังทหารเข้าป้องกันประเทศ เช่น กรณีที่โนนหมากมุ่น

2. การปฏิบัติการทางการทูต มีการเจรจากัน

3. การลงมือปฏิบัติ คือ การใช้กำลังทหารเข้าทำการปฏิบัติต่อทางฝ่ายข้าศึก เช่น การกวาดล้าง ซึ่งแบ่งเป็น

1) การจารกรรม การหาข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ด้วยวิธีลับ

2) การก่อวินาศกรรม การทำลายด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศนั้นๆ

3) การปฏิบัติการทางจิตวิทยา การทำสงครามจิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อ

4) การปฏิบัติการลับ การปฏิบัติต่อต้านแผนการของฝ่ายตรงข้าม เช่น การปฏิบัติของนิสิต นักศึกษา เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

การต่อต้านการข่าว-การกระทำใดๆ ของประเทศหนึ่งเพื่อเป็นการปกปิดการปฏิบัติของฝ่ายตนเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ได้แก่

1. รวบรวมข่าวสารของฝ่ายศัตรู

2. โครงร่างการจัดตั้ง

3. แผนการปฏิบัติของศัตรู

4. พฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของศัตรู

5. การปฏิบัติการเราจะเข้าดำเนินการอย่างไร

1) ป้องกัน-มิให้ข้าศึกทราบข้อบกพร่องของเรา เรียกว่า รปภ.

2) รุกโต้ตอบ-การจัดการข้าศึกเด็ดขาด มีวิธีการดังนี้ คือ
– สืบสวน
– สอบสวน
– จับกุม

 

หลังจากที่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เรียนวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานในอาชีพตำรวจแล้ว ในเทอมต้นของชั้นปีที่ 3 จึงได้ศึกษาวิชาที่เป็นหัวใจหลักและสำคัญอย่างยิ่งยวดของการเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน คือ การพิสูจน์หลักฐาน โดยได้ระดมคณะอาจารย์จำนวนมากมาทำการสอนให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ประกอบไปด้วย

1. พ.ต.อ.สมประสงค์ ปรารถนาดี

2. พ.ต.อ.ทวี วัฒนสุข

3. พ.ต.อ.ประชุม สถาปิตานนท์

4. พ.ต.ท.วิสุทธิ์ สุวรรณสุทธิ

5. พ.ต.ต.อนันต์ อุณหนันทน์

6. พ.ต.ต.ศรีวิทย์ เจียมเจริญ

7. พ.ต.ต.เทียมศักดิ์ อัศวรักษ์

8. พ.ต.ต.อัมพร จารุจินดา

9. พ.ต.ต.ประพัฒน์ คนตรง

10. ร.ต.อ.เศกสิทธิ์ อินทรพรหม

11. ร.ต.ท.ถาวร สุทธิวนิชย์

รวมชั่วโมงที่บรรยายถึง 108 ชั่วโมง โดยแบ่งหัวข้อการสอนออกเป็น 4 หัวข้อ

1. สถานที่เกิดเหตุ และลายนิ้วมือ ตลอดจนภาคปฏิบัติต่างๆ ในสถานที่เกิดเหตุ เช่น การปัดลายนิ้วมือแฝง (36 ชั่วโมง)

2. การตรวจเอกสาร การตรวจพิสูจน์โดยใช้ฟิสิกส์เคมี (16 ชั่วโมง)

3. การตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา

4. การตรวจอาวุธปืน (20 ชั่วโมง)

พ.ต.อ.สมประสงค์ ปรารถนาดี ได้เป็นผู้เปิดสอนวิชาหลักนี้ และให้ความสำคัญกับสถานที่เกิดเหตุมาก โดยอาจารย์ได้สอนว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุ หน้าที่ของตำรวจคนแรกที่จะตรวจสถานที่เกิดเหตุนั้น ควรจะเป็นตำรวจสายตรวจ ยามป้อม ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุมากกว่าตำรวจหน่วยอื่น

ดังนั้น การที่จะไปถึงสถานที่เกิดเหตุ จึงน่าจะไปถึงก่อนตำรวจหน่วยอื่น และการป้องกันอาชญากรรมที่ได้ผลส่วนมาก ก็เป็นผลของตำรวจสายตรวจ เพราะอยู่คลุกคลีกับสถานที่ตลอดเวลา

 

หน้าที่ของตำรวจคนแรกเกี่ยวกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

1. การเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุ ต้องกระทำโดยฉับพลันทันที รวดเร็ว และปลอดภัย

2. พิจารณาในการระงับเหตุ ไม่ให้ลุกลามต่อไป เช่น เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว คนร้ายยังกำลังกระทำการอยู่ ก็พยายามป้องกันมิให้การนั้นสำเร็จลงได้ หรือถ้ามีผู้บาดเจ็บก็ต้องช่วยปฐมพยาบาลขั้นต้น

3. ให้ตำรวจคนแรกพิจารณาว่ามีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นจริงหรือไม่

4. ให้รีบรายงานผู้บังคับบัญชาทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

5. ให้ติดต่อรถพยาบาลหรือแพทย์ถ้าจำเป็น เช่น ในกรณีที่มีคนตาย หรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากแพทย์แล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน วิทยาการเขต หรือวิทยาการจังหวัด ในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น ต้องแจ้งพนักงานอัยการด้วย

6. พยายามหลีกเลี่ยงการทำลายร่องรอยที่พื้น เช่น รอยเท้า รวมทั้งวัตถุพยาน รอยลายนิ้วมือ ยกเว้น การกระทำที่ช่วยชีวิตคนเจ็บ

7. รักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ ให้อยู่ในสภาพเดิม โดยการปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ โดยให้ผู้ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุออกไปก่อน

การปิดกั้นนี้ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1) ที่เกิดเหตุในที่ร่ม โดยการปิดประตู มียามคอยเฝ้า ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่ผ่านเข้าออก

2) ที่เกิดเหตุในที่แจ้ง ใช้เชือกกับเสาเล็กๆ กั้นเป็นวงรอบ

8. ถ้าเป็นไปได้ ก็พิจารณาในการจับกุมตัวคนร้ายทันทีจากสถานที่เกิดเหตุ เพราะคนร้ายนั้นอาจจะอยู่บริเวณนั้น หรืออาจจะย้อนกลับมาดูสถานที่เกิดเหตุอีก และจะช่วยป้องกันความปลอดภัยแก่ตัวเจ้าหน้าที่เอง

9. ให้พิจารณาบุคคลในที่เกิดเหตุว่าจะมีใครพอจะเป็นพยานได้บ้าง

10. ตำรวจคนแรกนี้ ต้องอยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา เพื่อรักษาพยานหลักฐานและเพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจที่มาภายหลัง ทำลายร่องรอยพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ จนกระทั่งพนักงานสอบสวนมาและชี้แจงเรื่องราวให้ทราบการปฏิบัติเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่