มนัส สัตยารักษ์ : ไทยกับซาอุดีอาระเบีย

แต่เดิมผมแค่ “ชื่นชม” รัชทายาทซาอุดีอาระเบีย จากการที่ท่านปราบคอร์รัปชั่นแบบล้างบาง ไม่เว้นแม้กระทั่งกับบรรดาเจ้าชายซึ่งเป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่ใกล้ชิด

ต่อมาหลังจากวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ความชื่นชมขยับสูงขึ้นเป็น “นับถืออย่างสูง” ทันที เมื่อเทียบกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีอำนาจเท่ากัน (จาก ม.44) ประกาศกร้าวเปิดงานที่กรุงเทพฯ ว่า

“จะไม่ทนต่อการทุจริต จะเดินหน้าต้านโกง ตั้งเป้าลดใน 3 ปี”

สื่อใช้คำว่า “กร้าว” เป็นคุณศัพท์เพิ่มความดุดันจริงจังให้แก่คำกิริยา “ประกาศ” ให้ฟังว่าท่านนายกฯ เอาจริง ไม่ใช่แกล้งดุเหมือนที่ทำมาตลอดเวลากว่า 3 ปี

เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ระหว่าง “การทำ” กับ “การพูด”

เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานขึ้นครองราชย์ ต้นปี 2015 ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในโครงสร้างทางอำนาจของซาอุฯ หลายประการ ที่สำคัญก็คือเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมาร จากเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน นาเยฟ (หลานอา) มาเป็นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรสจากพระชายาองค์ที่ 3 ของกษัตริย์ซัลมานเอง

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ยังหนุ่มมาก (ชันษา 32 ปี) มีความคิดก้าวหน้า มีวิสัยทัศน์ ทรงวางแผนปฏิรูปประเทศในโครงการ Vision 2030 ซึ่งซาอุฯ จะไม่ฝากอนาคตของประเทศไว้กับ “น้ำมัน” เพียงอย่างเดียว ประชาชนน่าจะมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น จึงได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานทรงแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการ มีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว ไต่สวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้อย่างเต็มที่

คล้ายๆ กับที่ประเทศไทยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. และรัฐบาลมีมาตรา 44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์

ที่ซาอุดีอาระเบียทำให้โลกตกตะลึงก็คือ หลังจากนั้นไม่นาน มีข่าวมกุฎราชกุมารองค์นี้จับกุมเจ้าชายระดับสูงทั้งหมด 11 พระองค์ ในข้อหาเกี่ยวพันกับการทุจริต ในจำนวนนี้มี 4 พระองค์เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่เหลือเป็นอดีตรัฐมนตรี มีชื่อเจ้าชายอัลวาลัด บิน ทาลาล ประธานบริษัทคิงดอม โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนชื่อดังของซาอุดีอาระเบีย บริษัทนี้มีหุ้นใหญ่ในหลายบริษัททั่วโลก

เจ้าชายอัลวาลัด บิน ทาลาล ผู้ทรงอิทธิพลเป็นหนึ่งในผู้ถูกสอบสวนด้วย

นอกจากเชื้อพระวงศ์ระดับสูงแล้ว คณะกรรมการยังควบคุมตัวข้าราชการ นักการมืองและนักธุรกิจ ผู้ที่มีส่วนในการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกกว่า 200 คน

กล่าวได้ว่า ซาอุดีอาระเบียได้ “ปราบโกง” ชนิด “ล้างบาง” ได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ โดยไม่มีข่าวการเสียเลือดเนื้อและข่าวประชาชนบาดเจ็บล้มตายแต่อย่างใด

ทั่วโลกรอฟังข่าวเหตุการณ์รุนแรงจากความขัดแย้งในซาอุดีอาระเบีย ความเคยชินของคนไทยก็คือภาพการออกมากลางถนน มีสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง เช่น สีเสื้อ ผ้าพันคอ นกหวีด ฯลฯ การขู่เผา และทำลาย หรือการยึดสถานที่ราชการ ที่สาธารณสถานสำคัญ เช่น สนามบินหรือทำเนียบรัฐบาล

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน กลายเป็นว่า เจ้าชายมิเตบ บิน อับดุลเลาะห์ โอรสของกษัตริย์องค์ก่อน ทรงยินยอมมอบเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ทางการซาอุฯ เพื่อแลกกับอิสรภาพจากการถูกควบคุมตัวในโรงแรมระดับ 5 ดาว เงินจำนวนนี้ตามข่าวที่คงจะมองโลกในแง่ดีอย่างกลางๆ กล่าวว่า เงิน 3.2 หมื่นล้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าชายได้ทุจริตมา

สื่อในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้คำว่า “คืนหลวง” แทนคำว่า “ยึดทรัพย์” อีกด้วย ฟังดูแล้วรู้สึกสงบและสันติเหมือนอยู่ในร่มเงาของสวนโมกข์ทีเดียว

ข่าวที่ตามมา (เมื่อ 7 ธันวาคม 2560) จากการล้างบางคอร์รัปชั่นที่ซาอุดีอาระเบีย ก็คือข่าวอัยการสูงสุดของซาอุฯ เปิดเผยว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าพัวพันคอร์รัปชั่นทั้งหมด 360 ราย จะมี 161 รายที่จะถูกปล่อยให้ได้รับอิสรภาพ ส่วนที่เหลือจะต้องถูกควบคุมไว้เพื่อสอบสวนต่อ

สื่อตะวันตกคาดว่าทรัพย์สินที่ “คืนหลวง” น่าจะคิดจาก 70 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินที่โกงไป

ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นไปตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างรัฐกับผู้ต้องสงสัยจะต้องมอบทรัพย์สินที่ได้ไปโดยมิชอบ คืนเข้าสู่ท้องพระคลัง ประเมินกันว่าอาจจะได้คืนคลังถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.26 ล้านล้านบาท

ทั้งหมดนี้ทำให้โลกตะลึง และในส่วนตัวของผมก็คือ “ชื่นชม” ดังที่กล่าวแล้วตอนต้น

วันที่ 9 ธันวาคม 2560 อันเป็นวัน “ต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” ขององค์การสหประชาชาติ ไม่มีข่าวว่าประเทศซาอุดีอาระเบียจัดงานอะไรหรือไม่

แต่ที่ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดงาน

ภายใต้แนวคิด Zero Tolerance “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งสื่อสรุปการประกาศเจตนารมน์ว่า “ประกาศกร้าว จะไม่ทนต่อการทุจิต”

รายละเอียดดูเหมือนว่าจะเป็นการเตือนตัวเองและข้าราชการ ไม่เปิดประตูบ้าน ไม่เปิดประตูหลังบ้าน ระมัดระวังตัวเอง

ส่วนประชาชนต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ต้องไม่ยอมรับการทุจริต ฯลฯ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. ดำเนินการทุกอย่างอย่างจริงจังให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เชื่อว่า 1 ถึง 2 ปีข้างหน้าการร้องเรียนจะเพิ่มขึ้นก่อน จึงค่อยๆ ลดลงในปีที่ 3

ภาพข่าวประกอบในหน้าหนังสือพิมพ์และทีวี คือภาพนายกรัฐมนตรี ประธาน ป.ป.ช. พร้อมกับคณะผู้ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ต่างกำหมัดยก 2 แขนขึ้นไขว้กันตรงหน้าอก จะดูเป็นสัญลักษณ์ “ต่อต้าน” คอร์รัปชั่นก็ได้ “ประทับใจ” ก็ได้

แต่ถ้ายกเพียงแขนเดียวมันก็จะคล้ายๆ กับโชว์นาฬิกา

ทำท่าทางแข็งแรงอย่างไร ประกาศกร้าวแค่ไหน แต่หยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลัง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับที่ซาอุดีอาระเบียที่เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ล้างบางคนโกงระดับสูงได้กว่า 360 คน แล้วเรียกทรัพย์สินคืนพระคลังได้ไม่น้อยกว่า 3.26 ล้านล้านบาท นั่นเท่ากับไทยเราถอยกรูดกับปัญหาคอร์รัปชั่น