ผู้ยึดครองโครงสร้างธุรกิจทรงอิทธิพล กับกระบวนการหลอมรวมเหลือ “ผู้เล่น” น้อยราย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อีกกรณีเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เมื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติอนุญาต (10 พฤศจิกายน 2566) ให้กิจการในเครือข่าย AIS (บริษัท แอนดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด) เข้าซื้อธุรกิจ 3BB (บริษัท ทริปเปิ้ลทีบอรดแบนด์ จำกัด) และควบรวมธุรกิจอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์เข้าด้วยกัน

ปรากฏการณ์โฟกัสไปที่ AIS กลายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตในครัวเรือน (home broadband internet) หรือที่เรียกกันว่า “เน็ตบ้าน” ตามข้อมูลล่าสุด (สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566)

AIS หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เมื่อรวมกับ 3BB จะมีฐานลูกค้า 4.68 ล้านราย ขณะคู่แข่งสำคัญ ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีฐานลูกค้า 3.79 ล้านราย

ภาพเชื่อมโยงกับกรณีก่อนหน้าด้วยจุดโฟกัสที่แตกต่างกัน (กสทช.มีมติเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564) ให้ TRUE กับ DTAC ควบรวมกันคงใช้ชื่อ TRUE กลายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจสื่อสารไร้สาย หรือ Mobile มีฐานลูกค้ารวมกัน 51.37 ล้านราย ส่วน AIS มี 44.45 ล้านราย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 เช่นกัน)

จุดโฟกัสในภาพใหญ่กว่านั้น ควรว่าด้วยธุรกิจสื่อสารในสังคมไทย กับ “ผู้เล่น” ทรงอิทธิพล เพียง 2 ราย

เป็นพัฒนาการธุรกิจสื่อสารไทยยุคสมัย จากยุคต้นเมื่อ 3 ทศวรรษ กับโฉมหน้า “ผู้เล่น” หลายราย มี “ตัวละคร” อันโดดเด่นหลายรายในแต่ละฉากตอน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างซับซ้อน ทั้งมีเหตุการณ์อันเร้าใจ โดยเฉพาะผ่านกระบวนการหลอมรวมกิจการหลายกรณีหลายครั้ง

 

ยุค “ผู้มาใหม่” กับกลุ่มธุรกิจใหม่ ซึ่งเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในเวลาอันสั้น โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว (2530-2540) มีปัจจัยคล้ายๆ กัน

หนึ่ง-โอกาสจากสัมปทานระบบโทรคมนาคมใหม่ ซึ่งซุกซ่อนไว้ ได้มาด้วยสายสัมพันธ์เฉพาะตัว

สอง-เป็นตัวแทนหรือหรืออยู่ในกระบวนการธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ จากโลกตะวันตก

สาม-ระดมทุนจากตลาดหุ้น เวทีเพิ่งเปิดสร้างโอกาสอันกว้างขวาง

“ผู้มาใหม่” บุกเบิกธุรกิจสื่อสารไร้สายในตำนาน ไม่เพียงมี ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ก่อตั้ง AIS) หาก บุญชัย เบญจรงคกุล (ผู้ก่อตั้ง DTAC) ร่วมด้วย ในเส้นทางธุรกิจคล้ายๆ กัน เป็นตัวแทนสินค้าเทคโนโลยีโลกตะวันตก บุกเบิกสร้างความสัมพันธ์แนบแน่นกับหน่วยงานรัฐ สามารถพลิกโอกาสครั้งใหญ่ กลายเป็นผู้แผ้วถางมีอิทธิพล สร้างแรงกระเพื่อม เป็นกระแสอันเชี่ยวกราก

ธุรกิจสื่อสารยุคสมัยที่ว่า มีจุดเริ่มต้นเมื่อ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ก่อตั้งขึ้น (2529) และได้รับสัมปทาน (2533) จาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ต่อมาคือ บริษัท ทีโอที จำกัด) ตามมาด้วยแผนการอันกระชั้นชิด เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ไทย (2534)

ขณะ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (หรือ TAC ต่อมาเป็น DTAC) ตามมา (ก่อตั้งปี 2532) และร่วมมือ (2533) กับ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ต่อมาคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด) จากนั้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่พักใหญ่ (2538-2555) ก่อนจะเปลี่ยนแผนมาเข้าตลาดหุ้นไทย (2550)

อีกด้านหนึ่งในความเคลื่อนไหวซึ่งในที่สุดมาบรรจบกัน กำเนิด ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet services provider หรือ ISP) ด้วยความร่วมมือกับการสื่อสารฯ อย่างเป็นระลอก ทักษิณ ชินวัตร อีกเช่นกัน ก่อตั้ง บริษัท ซี.เอส. คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (2537) ปีเดียวกันนั้นมี Start up อีกราย ทีมงานมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดตั้ง บริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เนต จำกัด ขึ้นตามมาอีก (2539)- บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด โดยเครือข่ายตระกูรกิจเก่าแก่-ล่ำซำ

เกี่ยวกับธุรกิจสื่อสารยุคสมัยใหม่ช่วงต้นๆ สังคมธุรกิจไทยมีมุมมองเชิงบวก จนกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมเข้าร่วมวง นอกจากธุรกิจครอบครัวตระกูลล่ำซำ ที่ว่าแล้ว มีเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่-ซีพี ด้วย มองไปที่เค้กชิ้นใหญ่ที่สุดในเวลานั้น ระบบโทรศัพท์พื้นฐาน

 

เมื่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาถึง สั่นสะเทือนสังคมธุรกิจไทย ไม่เว้นแม้ธุรกิจสื่อสาร TAC เผชิญปัญหาจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ (2543) ให้กลุ่มธุรกิจสื่อสารระดับโลกเข้ามาถือหุ้นใหญ่และบริหาร-Telenor Group

ปีเดียวกันนั้น (2543) ซีพี ปรับตัวธุรกิจสื่อสารครั้งใหญ่เช่นกัน เมื่อธุรกิจสื่อสารพื้นฐานมีปัญหาหนัก จึงพยายามแสวงหาทางเลือก และโอกาสใหม่ๆ นั่นคือก้าวเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย ด้วยเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ WCS ผู้ถือสัมปทานธุรกิจโทรศัพท์ไร้สายอีกราย จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย

แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ แผนการดำเนินไปอย่างกระชั้นในปลายปี ซีพีร่วมทุนกับ Orange แห่งสหราชอาณาจักร เป็นการเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างเต็มตัว กลายเป็นธุรกิจสื่อสารไร้สายรายที่ 3 ของไทย

ถือเป็นจุดตั้งต้นโครงสร้างธุรกิจสื่อสารไร้สายไทย ซี่งมี “ผู้เล่น” หลัก 3 ราย ตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ เป็นเรื่องราวและบทบาทอันโดดเด่น-ศุภชัย เจียรวนนท์ (บุตรคนเล็กของธนินท์ เจียรวนนท์) ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารเครือซีพี

จากความเป็นไปในกระแสข้างต้น ค่อนข้างเงียบ สู่พลิกมาเป็นความครึกโครมในอีกประมาณ 5 ปีถัดมา (2549) เมื่อ AIS มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย Temasek แห่งสิงคโปร์เข้ามาซื้อกิจการ ด้วยมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท นอกจากเป็นความสั่นไหวทางการเมืองอย่างที่รู้กัน ในที่นี้ ตั้งใจให้ภาพความยิ่งใหญ่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย

ระหว่างนั้น ISP มีการเปลี่ยนแปลงด้วยกันเช่นกัน จากกรณี เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เนต เปลี่ยนมือ (2543) มาอยู่กับ MIH แห่งแอฟริกาใต้ หรือเอ็มเว็บ

จากนั้นไม่นาน (2548) เปลี่ยนมืออีกครั้งมาอยู่ภายใต้เครือข่าย TRUE

ขณะล็อกซ์อินโฟร์ มาควบรวม (2545) กับ ซี.เอส. คอมมิวนิเคชั่นส์ กลายเป็น ซีเอสล็อกซ์อินโฟร์ จากนั้นไม่นาน (2547) เข้ามาภายใต้ AIS

เป็นจังหวะเดียว (2549) กับซีพี ปรับโครงสร้างธุรกิจหลอมรวมธุรกิจสื่อสาร ภายใต้ชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE มียุทธศาสตร์ธุรกิจอย่างชัดเจน ให้ความสำคัญธุรกิจสื่อสารไร้สาย ในจังหวะ Orange ถอนตัวออกไป แบรนด์ Orange 07′ ได้เปลี่ยนเป็น Truemove

จากนั้นดูไปแล้ว TRUE มีแผนการธุรกิจเชิงรุกอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาได้ซื้อกิจการ (2553) สื่อสารไร้สายอีกราย (ฮัทวิสัน ซีเอที ไวร์เลส) ที่มาเป็นรายที่ 4 (2543) ช่วงสั้นๆ ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก

ตามมาอีก (2557) ด้วยการจับมือ China Mobile ธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เข้ามาถือหุ้นข้างน้อย ในช่วงเวลาก้าวสู่ยุค 4 G

 

ช่วงเดิมพันใหม่เริ่มต้นขึ้น (2564) ด้วยดีลอันครึกโครม เพื่อควบรวม TRUE-DTAC เดินหน้าไป AIS ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วย ปรากฏโฉมหน้า “ตัวละคร” ใหม่-สารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง GULF (บริษัทกัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลล็อปเมนท์) ผู้มั่งคั่ง จากธุรกิจพลังงานในเวลาไม่นานนัก เข้ามาอยู่ในกระบวนการ

จนกลายเป็นถือหุ้นใหญ่ INTUCH (บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด)

ซึ่งมีผลเชื่อมโยงไปถึง AIS ในฐานะ INTUCH ถือหุ้นใหญ่ที่สุดอีกทอดหนึ่ง

ขณะ Singtel ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อสารแห่งสิงคโปร์ในเครือ Temasek ยังอยู่ถือหุ้นข้างน้อยด้วยจำนวนมีนัยยะ ปัจจุบัน สารัชถ์ รัตนาวะดี มีบทบาทในฐานะประธานกรรมการบริหาร AIS ในช่วงคาบเกี่ยวดีลซื้อกิจการ 3BB ดำเนินไปด้วย

TRUE เองมาถึงบทสรุป โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ใหม่ ปรากฏชัดว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี (หรือจะเรียกว่า ผู้ถือหุ้นฝ่าย TRUE) เป็นผู้ถือหุ้นด้วยจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นฝ่าย DTAC โดย Telenor Group ขณะพันธมิตรเดิมของทั้ง TRUE (China Mobile) และ DTAC (ตระกูลเบญจรงคกุล) ยังอยู่ ถือหุ้นค่อนข้างน้อย

ภาพใหญ่ระดับโครงสร้างที่เป็นไปข้างต้น หลายๆ คนคิดว่า ยังไม่ใช่ภาวะสมดุล •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com