ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
มีคำถามมาถึงผมมากมายว่า กรณีนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้นจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือไม่
หากผิด เป็นความผิดถึงขั้นใด จะถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมือง ยุบพรรคการเมือง หรือมีคดีอาญาตามต่อมาอย่างไร
เนื้อหาที่จะตอบ จะเป็นการตอบจากประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ความเห็นที่เป็นที่สุด หรือสามารถยึดถือได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง
เพราะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนอาจมีมุมมองการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน การวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันซึ่งใช้วิธีการลงมติด้วยเสียงข้างมาก
สิ่งที่ว่าถูกอาจกลายเป็นผิด หรือสิ่งที่ว่าผิดอาจกลายเป็นถูกก็ได้
แหล่งเงินที่แจ้ง กกต. กับที่ใช้
ไม่ตรงกันเป็นปัญหาหรือไม่
มาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายการหาเสียงที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องส่งรายละเอียด วงเงินที่ต้องใช้ แหล่งที่มางบประมาณ ความคุ้มค่าและประโยชน์ ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินการให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
จากเอกสารที่พรรคเพื่อไทยส่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2566 ระบุที่มาของแหล่งงบประมาณ 560,000 ล้านบาทมาจากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งไม่ตรงกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อประชาชนเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ว่า จำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน จำนวน 500,000 ล้านบาท
แต่บทลงโทษ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ปรากฏในมาตรา 121 นั้น เป็นกรณีที่ กกต.เตือนให้ส่งรายละเอียดตามมาตรา 57 แล้วไม่ส่ง ว่ามีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะนำส่งเอกสารดังกล่าวเท่านั้น
เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร เขียนไว้ทำไม่ทำ ตรงไม่ตรง ไม่มีบทกำหนดโทษ
เข้าข่ายการทำผิด
ในเรื่องสัญญาว่าจะให้หรือไม่
หากไปพิจารณาถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นการเข้าข่ายการทำความผิดมาตรา 73(1) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ห้ามผู้สมัครหรือผู้ใด จัดให้ สัญญาว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินได้เพื่อเป็นการจูงใจให้เลือกตนเองหรือพรรคของตนได้หรือไม่
แนวคำวินิจฉัยที่เคยรับรู้เกี่ยวกับเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างการสัญญาว่าจะให้กับสิ่งที่เป็นนโยบาย คือ กลุ่มคนที่จะได้รับผลประโยชน์ หากเป็นการให้หรือสัญญาว่าจะให้ จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครหรือพรรคที่สัญญาว่าจะให้ จากนั้นได้รับประโยชน์เป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคล
ส่วนสิ่งที่เป็นนโยบาย คือ กระทำต่อประชาชนในวงกว้าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะบางพื้นที่ หรือบางกลุ่มคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น การให้เงินสวัสดิการช่วยเหลือเป็นรายเดือนคนพิการคนสูงอายุจัดเป็นนโยบาย แต่การให้เงินแก่ผู้สูงอายุเพื่อให้ไปเลือกผู้สมัครของเป็นความผิดตามมาตรา 73(1)
การให้เงินดิจิทัล 10,000 บาทแก่คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นนโยบายมากกว่าการซื้อเสียง
แต่หากกรณีนี้เป็นความผิด มีบทกำหนดโทษในมาตรา 158 คือ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี หากกรรมการบริหารรู้เห็นเป็นใจ ให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหาร และให้ถือเป็นเหตุของการยุบพรรคการเมืองได้ด้วย
เข้าข่ายการหลอกลวงหรือไม่
มาตรา 73(5) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีบทห้ามในเรื่องการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ประเด็นการตีความคือ การแจกเงินดิจิทัลโดยระบุที่มาของแหล่งเงินตามเอกสารที่ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมาจากงบประมาณแผ่นดิน 100% แต่จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา กลับระบุว่ามาจากการกู้เงิน 100% นั้นเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ และจะนำไปสู่การจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรคการเมืองหรือไม่
ถ้าถามผม คำตอบคือก้ำกึ่ง
เพราะสิ่งที่ส่งให้ กกต. กับแหล่งเงินที่ทำจริงนั้นคนละเรื่อง แต่จะเป็นการหลอกลวงหรือเป็นการพยายามทำตามนโยบายแต่ไม่สามารถทำได้ เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัย
ส่วนประเด็นจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรค ก็เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ว่า การมีนโยบายแจกเงินโดยมีที่มาจากงบประมาณแผ่นดินจะเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจว่าพรรคมีคะแนนนิยมมากหรือไม่
หรือหากระบุชัดเจนว่า จะกู้เงินมาแจก จะทำให้คะแนนนิยมเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
หากเป็นความผิดในกรณีนี้ มีบทลงโทษในมาตรา 159 คือ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี แต่ไปไม่ถึงกรณียุบพรรค
วิบากกรรมจากกฎหมายฉบับอื่น
นอกเหนือจากประเด็นทางกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งแล้ว การตัดสินใจออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินตามนโยบายยังมีประเด็นของกฎหมายอื่นๆ ที่อาจเป็นวิบากกรรมตามมาอีก
เช่น เป็นการทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 หรือไม่ และหากเป็นความผิดในเรื่องดังกล่าว จะลามไปถึงการทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
เพราะในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุเป็นหลักการว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับเงินแผ่นดินอย่างเคร่งครัด และต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
และในมาตรา 53 ที่ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลให้กระทำเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศโดยไม่สามารถตั้งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 164(2) ระบุว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
และพอไปดูรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในมาตรา 234(1) กำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ไต่สวนและมีความเห็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และระบุต่อในมาตรา 235 ว่า หาก ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งว่าผิดในกรณีดังกล่าว ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลประทับรับฟ้อง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากผิดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ด้วยก็ได้
ยังต้องลุ้นจากศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่ พ.ร.บ.กู้เงินผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ยังมีด่านของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยมาตรา 148(1) ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ส.ส. และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสองสภา หรือประมาณ 75 คน เสนอเรื่องผ่านประธานสภาที่ตนสังกัดหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน นั้นมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้อีก
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินของพรรคเพื่อไทย เป็นทั้งทางยากและทางเสี่ยง
ส่วนท่านอยากทำของยากของเสี่ยงก็ต้องให้กำลังใจกันว่าจะประสบความสำเร็จ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022