ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์
ฮีลใจไปกับโชว์ของ Suede
และ Manic Street Preachers ที่ไต้หวัน
ตํานานเพลงผู้ล่วงลับ เดวิด โบวี เคยกล่าวยกย่อง Suede วงร็อกจากกรุงลอนอนประเทศอังกฤษผ่านการให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร Select ในปี 1996 ว่าเป็น “หนึ่งในวงดนตรีจากสหราชอาณาจักรที่ดีที่สุดแห่งยุค 90”
โดย เดวิด โบวี หลีกเลี่ยงที่จะนิยามแนวดนตรีที่ Suede เล่นว่าเป็น “บริตป๊อป” (Britpop) เพราะรู้ดีว่า Suede ไม่ชอบให้สื่อหรือใครก็ตามมาให้คำจำกัดความแนวดนตรีที่ทางวงเล่น ถึงแม้ว่า Suede จะเป็นหนึ่งในสี่ของ “Big Four” แห่งวงการเพลงบริตป๊อปในยุค 90 ก็ตาม (อีกสามวงที่เหลือคือ Oasis, Blur และ Pulp)
ด้าน Manic Street Preachers วงร็อกจากประเทศเวลส์ที่เล่นดนตรีร็อกได้อย่างหนักแน่นทรงพลังจากการผสมผสานดนตรี แกลม ร็อก และพังก์ ร็อก ได้อย่างประณีตบรรจงผ่านเรียบเรียงสัดส่วนของเมโลดี้ที่สวยสดงดงามแทบจะในทุกโน้ตได้อย่างน่าทึ่งมาตั้งแต่งานเพลงชุดแรกอย่าง Generation Terrorists ก็เป็นหนึ่งในวงร็อกจาสหราชอาญาจักรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อซีนบริตป๊อปในยุค 90 ถึงแม้ว่าทิศทางดนตรีที่ทางวงเล่นจะเอนเอียงไปทางฝั่งพังก์และฮาร์ดร็อกที่ได้รับอิทธิพลมาจากวงรุ่นพี่อย่าง The Clash, Joy Division ไปจนถึงวงกรันจ์ร็อกฝั่งอเมริกาอย่าง Alice in Chains, Nirvana ไปจนถึง Guns ‘N Roses ซึ่งฉีกออกไปจากวงบริตป๊อปที่อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกันก็ตาม
Suede เคยเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง และเคยแสดงคอนเสิร์ตที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยครั้งหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน
ด้าน Manic Street Preachers เคยมาเปิดคอนเสิร์ตที่ MBK Hall กรุงเทพฯ รวมสองรอบด้วยกันเมื่อเดือนเมษายนปี 1994 และทางวงก็นำประสบการณ์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ครั้งนั้นไปแต่งเป็นเพลง Ballad of the Bangkok Novotel
ด้วยโชว์ของวงที่กรุงเทพฯ นับว่าเดือดทีเดียว เมื่อ ริชาร์ด เจมส์ เอ็ดเวิร์ด (ริชชี, ปัจจุบันเป็นบุคคลที่หายสาบสูญอย่างเป็นปริศนา) ใช้มีดกรีดหน้าอกตัวเองจนเลือดไหลท่วมตัว
ยุค 90 เป็นยุคที่ซีนดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกเฟื่องฟูมากที่สุด ใครก็ตามที่รักดนตรีและได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นในยุค 90 ย่อมรู้ดีว่านี่คือยุคทองของวงการดนตรีทางเลือกซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่แนวร็อกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จริงอยู่ที่เทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้ทุกคนสามารถดูหรือฟังเพลงจากยุคสมัยที่ผ่านพ้นมาแล้วได้ผ่านสื่อหลากหลายแพลตฟอร์ม แต่การได้สัมผัสกับประสบการณ์หรือบรรยากาศในซีนดนตรียุคนั้นจริงๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเวลาที่ผันผ่านไปไม่มีโอกาสย้อนกลับคืนมาได้อีกแล้ว
ทั้ง Suede และ Manic Street Preachers ได้ผ่านยุคทองของวงไปแล้ว บางคนอาจจะมองว่าทั้งสองวงต่างก็เลยจุดอิ่มตัวไปนานแล้ว…จริงหรือ?
การประกาศทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกันระหว่างวง Suede และ Manic Street Preachers ที่ต่างก็ยังมีผลงานเพลงปล่อยออกมาให้แฟนเพลงทั่วโลกได้ฟังอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีที่ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองต่างก็ยังมีแพสชั่นในการเป็นศิลปินอยู่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคแล้วก็ตาม
ในปีนี้ Suede และ Manic Street Preachers ประกาศทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียเพียง 3 แห่งเท่านั้นคือ ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
ผมตัดสินใจซื้อบัตรที่ไปดูที่ไต้หวันเพราะอยากเปลี่ยนบรรยากาศดูบ้างเพราะไปดูคอนเสิร์ตและเที่ยวที่ญี่ปุ่นรวมถึงสิงคโปร์บ่อยแล้ว
ก่อนหน้านี้สองสุดยอดวงร็อกจากสหราชอาณาจักรทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันในปี 1994 การกลับมาทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันอีกในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปีเลยทีเดียว
ส่วนแฟนเพลงที่มาดูโชว์ของวงซึ่งจัดขึ้นที่ Zepp New Taipei กะเกณฑ์ด้วยตาแล้วไม่น่าถึงสองพันคน แต่ก็เป็นกลุ่มแฟนเพลงคุณภาพเพราะดูจากอายุแล้วมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ซึ่งหมายความว่าเกือบทั้งหมดโตทันยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดของทั้งสองวงแน่นอน สรุปได้ว่านี่คือโชว์ที่เน้นคุณภาพของผู้ชมมากกว่าปริมาณโดยแท้
Suede ขึ้นโชว์ก่อนเป็นวงแรก ถึงแม้ว่า เบร็ท แอนเดอร์สัน นักร้องนำจะมีอายุ 56 ปี (เท่ากับ แม็ต ออสแมน มือเบส) แต่พลังของเพอร์ฟอร์แมนซ์ยังคงล้นเหลือไม่ต่างกับสมัยวัยรุ่น เบร็ทใส่เต็มที่ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นพลังเสียง, ท่วงท่าลีลาการเต้น, การจับไมค์, การกระโดด, ท่าเหยียบมอร์นิเตอร์บนเวทีไปจนถึงการควงไมค์กลางอากาศ
สิ่งเหล่านี้ยังคงดูคุ้นเคยและปลุกพลังที่ซุกซ่อนอยู่ในความปวดหลังของแฟนๆ วัย 40 อัพทุกคนได้อย่างพร้อมเพรียง
ในขณะเดียวกันก็ปลุกพลังความเยาว์วัยของแฟนเพลงได้อย่างเท่าเทียมเช่นกัน เฉกเช่นเนื้อเพลง So Young ที่ทางวงเล่นเป็นเพลงที่ 13 ของโชว์
Autofiction อัลบั้มใหม่ของวง Suede เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อปีที่แล้ว ทางวงจึงเล่นเพลงจากอัลบั้มชุดนี้มากเป็นพิเศษ แต่แฟนๆ ต่างก็ร้องตามกันอย่างเต็มที่ และยิ่งดังขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเมื่อถึงเพลงที่เราต่างก็ “โตมาด้วยกัน” อย่าง Trash, Animal Nitrate, Everything Will Flow รวมถึง Wild Ones ซึ่งเบร็ทร้องและเล่นเพลงที่มีการเรียบเรียงใหม่เพลงนี้ด้วยอะคูสติกกีตาร์ตัวเดียวได้ไพเราะมาก
และแน่นอนที่สุดเพลงปิดท้ายโชว์อย่าง Beautiful Ones ที่เบร็ทแทบจะยื่นไมค์ปล่อยให้แฟนเพลงส่งเสียงร้องเองทั้งเพลงไปเลย
Manic Street Preachers ขึ้นโชว์หลัง Suede เกือบหนึ่งชั่วโมงและทันทีที่โน้ตแรกจากเสียงกีตาร์ในเพลงเปิดโชว์อย่าง Motorcycle Emptiness ดังขึ้น เสียงร้องของแฟนๆ ก็ดังกระหึ่มจนแทบจะกลบเสียงกีตาร์ไปเลย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสดู Manics เล่นสด แต่ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้อยู่ติดรั้วแถวหน้าตรงกลางเวทีคอนเสิร์ตแบบนี้
เจมส์ ดีน แบรดฟิลด์ นักร้องนำและมือกีตาร์อยู่ห่างออกไปไม่เกินสามก้าว ผมก็เลยได้เห็นทั้งลูก Riff, ลูก Lick และการโซโล่กีตาร์ของเจมส์แบบเต็มๆ ตา ซึ่งมันใกล้มากจนรู้ว่า เจมส์มีหน้าไม่ค่อยพอใจโทนกีตาร์ของตัวเองเท่าไหร่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความเป็น Perfectionist ของเขาที่ยังคงมีอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ด้าน นิกกี้ ไวร์ มือเบสก็ยังคงแต่งตัดจัดและท่ากระโดดกางขาอันเป็นเอกลักษณ์ก็ยังคงอยู่
ในระยะเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง The Manics เล่นเพลงไปรวมทั้งสิ้น 16 เพลงด้วยกันและเซ็ตลิสต์ที่ทางวงเลือกเล่นก็ดีมาก มีเพลงดังจากทุกยุคให้ได้ฟินกันโดยถ้วนทั่วไม่ว่าจะเป็น Slash ‘n’ Burn, You Stole the Sun From My Heart, From Despair to Where, A Design for Life, Everything Must Go โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เพลงสุดท้ายของโชว์อย่าง Stay Beautiful, You Love Us และ If You Tolerate This Your Children Will Be Next
ส่วนเพลงที่ไม่ได้ฮิตอะไรมากอย่าง Elona/Alone ทางวงก็หยิบมาเล่นด้วยซึ่งก็สร้างความเซอร์ไพรส์แฟนๆ ไม่น้อย
The Manics ยังคงเป็นวงที่เล่นสดดีมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย การได้เห็นเจมส์ร้องและเล่นอะคูสติกกีตาร์ตัวเดียวในเพลง Suicide is Painless (เพลงประกอบหนังเรื่อง M*A*S*H ประพันธ์โดย จอห์น แมนเดล) ถือเป็นการเติมชีวิตให้เต็มอย่างหนึ่ง เป็นดนตรีบำบัดที่ยากนักที่จะหาวงดนตรีวงใดทำได้เสมอเหมือน
ถ้าจะให้เปรียบเทียบ Suede เป็นวงที่ทำให้ผมรักในท่วงทำนองของดนตรี ส่วน The Manics เป็นวงที่ทำให้ผมสนใจในการแต่งเพลงในลักษณะกวีนิพนธ์และการเขียนเชิงเปรียบเปรยที่ต้องอาศัยการตีความผ่านมุมมองส่วนตัว การได้ดูโชว์ของสองวงนี้อีกครั้งก็เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเห็นตัวเองในอดีต และเห็นตัวเองในปัจจุบันได้ชัดขึ้นด้วย
นับเป็นคอนเสิร์ตที่ทั้งเยียวยาหัวใจและเพิ่มพลังให้กับชีวิตที่หยั่งรากลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณเลยทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022