ชาวสยาม ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำมูล

ชาวสยาม เป็นคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” มีจํานวนมากอยู่สองฝั่งโขง-ชี-มูลพูดต่างภาษา ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู, ม้ง (แม้ว), เมี่ยน (เย้า), จีน, ทิเบต, พม่า เป็นต้น แต่ใช้ภาษาไท-ไต (ต้นตอภาษาไทย) เป็นภาษากลางสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์

เสียมกุก (อ่าน เสียมกก หมายถึง เสียมก๊ก คือ สยามก๊ก) ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เมื่อเรือน พ.ศ.1650 ในพิธีถือนํ้าพระพัท เป็นขบวนเกียรติยศของชาวสยามซึ่งเป็นเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา

 

สยามเป็นทั้งชื่อดินแดน (หรือพื้นที่) และชื่อประชาชน (หรือกลุ่มคน)

1. ดินแดนสยาม หมายถึง พื้นที่หลักแหล่งของชาวสยาม ดังนี้ (1.) ไม่เป็นผืนเดียวต่อเนื่องกัน กําหนดตายตัวไม่ได้ (2.) อยู่บริเวณลุ่มนํ้าสําคัญตามเวลาและสถานที่ ได้แก่ ลุ่มนํ้าโขง-ชี-มูล, ลุ่มนํ้าสาละวิน, ลุ่มนํ้าเจ้าพระยาฟากตะวันตก (3.) สยามมีรากจากคําพื้นเมืองดั้งเดิมว่าซัม, ซํา, หรือ สาม หมายถึงบริเวณดินดํานํ้าชุ่มที่มีนํ้าซึมนํ้าซับ เป็นตานํ้าพุนํ้าผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

เรื่องราวรายละเอียดโดยพิสดารพร้อมหลักฐานนิรุกติศาสตร์ อยู่ในหนังสือ ความเป็นมาของคําสยาม, ไทย, ลาว, และขอม ฯลฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (เขียนในคุกก่อน พ.ศ.2509 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2516)

2. ชาวสยาม หมายถึง ประชาชนในดินแดนสยาม มีลักษณะดังนี้ (1.) ไม่ใช่คนไทย (ชาวสยามไม่ใช่คนไทย และไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไม่มีในโลก จึงไม่มีเชื้อชาติสยาม และไม่มีเชื้อชาติไทย) (2.) คนหลายชาติพันธุ์ (ไม่จํากัดชาติพันธุ์) มีหลักแหล่งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ปนกัน “ร้อยพ่อพันแม่” (3.) มีภาษาพูดของใครของมัน ที่สื่อสารกันไม่ราบรื่น (4.) ใช้ภาษาไท-ไต เป็นภาษาที่สอง หรือภาษากลางในการสื่อสารต่างชาติพันธุ์

 

เสียมกุก นครวัด มาจากไหน? มีข้อสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับเสียมกุก นครวัด ดังนี้

(1.) สุโขทัย โดย ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ.2487 ค.ศ.1944)

(2.) ลุ่มนํ้ากก จ.เชียงราย โดย จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2519)

(3.) ลุ่มนํ้ามูล อีสานใต้ โดย โกรส์ลิเยร์ [Bernard-Philippe Groslier พ.ศ.2524 (1981)] ในหนังสือ นี่ เสียมกุก (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการแปล) มูลนิธิโครงการตําราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545)

(4.) ลุ่มนํ้าโขง เวียงจัน โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (พ.ศ.2534) ในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม (สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534)

แผนที่ราชอาณาจักรสยาม โดยปิแยร์ ดูวัล (Pierre Duval) ช่างแผนที่ชาวฝรั่งเศส จัดพิมพ์โดย I. Besson ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส พ.ศ.2229 (ตรงกับปลายพระนารายณ์) ประดับประดาด้วยภาพลายเส้นแสดงขบวนเรือกำปั่นของคณะราชทูตฝรั่งเศส 2 ลำ คือ ลัวโซ (L’Oiseau) และ ลา มารีญ (La Maligne) ทั้งมีเรือพระที่นั่งฯ และช้างเผือกคู่บารมีแห่งพระเจ้ากรุงสยาม เป็นที่หมายปองในหมู่นัประวัติศาสตร์และนักสะสม เพราะมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิจิตรศาสตร์ แม้พิมพ์ขึ้นหลายครั้ง แต่ก็นับเป็นแผนที่ราชอาณาจักรสยามที่หายากที่สุด และเป็นที่ต้องการมากที่สุด [ภาพและบรรยายจาก ห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช (กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง | 2566 หน้า 142-143)]
เสียมกุก นครวัด ไปจากลุ่มนํ้ามูล พบหลักฐานสมัยหลังหลายอย่างสนับสนุน ดังต่อไปนี้

(1.) เสียน ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ในบันทึกจีน-โจวต้ากวาน (พ.ศ.1839) เกี่ยวกับเจินละ (เมืองพระนครหลวง หรือนครธม) ระบุว่าเสียน (คือชาวสยาม) ชํานาญปลูกหม่อน เลี้ยงไหม แต่ชาวเจินละไม่ชํานาญ ดังนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวเสียนได้มาอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ทําการเลี้ยงตัวไหมและปลูกต้นหม่อนเป็นอาชีพ พันธุ์ตัวไหมและพันธุ์ต้นหม่อนจึงมาจากประเทศเสียนทั้งสิ้น พวกเขาไม่มีป่านรา มีแต่ปอกระเจา ชาวเสียนใช้ไหมทอผ้าแพรบางๆ สีดําใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงชาวเสียนนั้นเย็บชุนเป็น ชาวพื้นเมืองทําผ้าขาดก็ต้องไปจ้างชาวเสียนให้ช่วยปะชุนให้”

[จากหนังสือ บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของเจินละ แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2557 หน้า 38]

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบริเวณลุ่มนํ้ามูลสืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กําหนดให้เมืองขุขันธ์, สังขะ, และเมืองตะลุง (ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์) ส่งส่วยไหม (สืบเนื่องถึงแผ่นดิน ร.5 มีกรมหม่อนไหมส่งเจ้านายตรวจราชการงานไหม เป็นต้นตอกําเนิดเพลงลาวดวงเดือน)

(2.) เสียน รบพุ่งหมู่บ้านเจินละ บันทึกจีน-โจวต้ากวาน ระบุต่อไปว่าเจินละถูกเสียนรบพุ่งคุกคามจุดไฟเผาหมู่บ้านของเจินละดังนี้ “เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทําการรบพุ่งชาวเสียน หมู่บ้านเหล่านี้จึงกลายเป็นที่โล่งไปสิ้น” (หน้า40) “ในการรบกับชาวเสียน เขาเกณฑ์ราษฎรทั้งหมดเข้าทําการรบ” (หน้า 43) เป็นหลักฐานหนักแน่นว่าพวกสยาม (เสียน) มีหลักแหล่งอยู่ลุ่มนํ้ามูล และมีดินแดนต่อเนื่องกับเจินละ คือเมืองพระนครหลวงหรือนครธม

จากบันทึกจีน-โจวต้ากวาน สนับสนุนให้เชื่อได้ว่าเสียมกุก นครวัด เป็นชาวสยามจากลุ่มนํ้ามูล ชํานาญปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และอยู่ต่อเนื่องพรมแดนเจินละ คือ เมืองพระนครหลวง (นครธม) และสืบย้อนหลังได้ถึงสมัยเมืองพระนคร (นครวัด)

ชาวสยาม ลุ่มนํ้ามูล มีหลายชาติพันธุ์ และพูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลาง มีเครือข่ายถึงเวียงจัน บนเส้นทางการค้าถึงอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนาม

ลุ่มนํ้ามูล (ต่อไปข้างหน้า) อยู่ในอํานาจพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (เมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) พบหลักฐานแวดล้อมในจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 วัดศรีชุม เล่าเรื่องพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี (หลานพ่อขุนผาเมือง) เป็นเจ้านายระดับสูงของรัฐสุโขทัย มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทางลุ่มนํ้ามูลอย่างน้อย 2 คราว เมื่อ หลัง พ.ศ.1800 ได้แก่ ชนช้างกับท้าวอีจาน ที่เมืองอีจาน และออกบวชแล้วธุดงค์ไปถึงย่านปราสาทพนมวัน

ท้าวอีจาน เจ้าศรีศรัทธาฯ บอกไว้ในศิลาจารึกวัดศรีชุม ว่าเมื่ออายุได้ 17-18 ปี เคยไปชนช้างรบกับท้าวอีจาน ปัจจุบันเรียกดงอีจานเป็นพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่ อ.ปะคํา (บุรีรัมย์) ถึง อ.ครบุรี (นครราชสีมา)

[จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนอธิบายในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (สํานักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 326)]

ปราสาทพนมวัน เจ้าศรีศรัทธาฯ รัฐสุโขทัย มีข้อความบอกในศิลาจารึกวัดศรีชุม (ด้านที่ 2) ว่าเมื่อออกบวชเป็นภิกษุ ได้ไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกรัตนภูมิคือบริเวณปราสาทพนมวัน (จ.นครราชสีมา)

[จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนอธิบายในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (สํานักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 327-329)]

เหล่านี้เป็นพยานว่า (ต่อไปข้างหน้า) พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ลุ่มนํ้ามูล เกี่ยวดองใกล้ชิดกับเสียมกุก นครวัด

 

สยามลุ่มนํ้ามูล เป็นต้นทางภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ ต่อไปข้างหน้า พบความต่อเนื่องดังนี้

(1.) สําเนียงโคราช (จ.นครราชสีมา) สมมติเรียกเป็น “เหน่อโคราช” ที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้อง “สําเนียงหลวง” ของอโยธยา-อยุธยา

(2.) เพลงโคราช (จ.นครราชสีมา) น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องเพลงโต้ตอบลุ่มนํ้าเจ้าพระยา เช่น เพลงฉ่อย เป็นต้น ครูเพลงภาคกลางแต่ก่อนรับรู้ทั่วกันว่าเพลงฉ่อยต้อง “ไหว้ครู” เพลงโคราช

(3.) สยามสุพรรณภูมิ สยามลุ่มนํ้ามูลเป็นต้นทางสยามสุพรรณภูมิ (ลุ่มนํ้าท่าจีน-แม่กลอง) ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.500 ดังนี้

สยามลุ่มนํ้ามูล เมืองเสมา (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ติดต่อสื่อสารลงไปลุ่มนํ้าป่าสัก เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ซึ่งเป็นเมืองแฝด-คู่กันตั้งแต่เริ่มแรก

จากนั้นข้ามที่ราบลุ่มดอนไปทางตะวันตกถึงปากนํ้าท่าจีนบริเวณ จ.ชัยนาท ไปตามลํานํ้าท่าจีน แผ่ถึงลุ่มนํ้าแม่กลอง (สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี-นครปฐม-ราชบุรี-เพชรบุรี) ถูกเรียกสมัยหลังจากเอกสารจีนว่าเสียนหรือเสียม คือสยาม

เส้นทางนี้ถูกใช้งานนานมากแล้ว พบหลักฐานสําคัญ ได้แก่ ประเพณีสร้างรูปเคารพทางพุทธศาสนาที่เมืองเสมา เช่น ธรรมจักร, พระนอน ฯลฯ มีต้นทางจากลุ่มนํ้าท่าจีน-แม่กลอง

(4.) ภาษาไทย อโยธยา ภาษาไท-ไตของชาวสยามลุ่มนํ้ามูล เคลื่อนไหวลงลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ผสมกลมกลืนกับภาษาลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ได้แก่ ภาษามอญ, เขมร, มลายู, บาลี-สันสกฤต ฯลฯ แล้วเกิดวัฒนธรรมใหม่เรียกภาษาไทย (ที่เป็นต้นตอความเป็นไทย) ในอโยธยาต่อเนื่องถึงอยุธยา •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ