ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (5) นักธุรกิจ-สื่อ สานฝันการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (5)

นักธุรกิจ-สื่อ สานฝันการศึกษา

 

ห้องประชุมอาคารหลังทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ ช่วงบ่ายคึกคักไปด้วยนักธุรกิจ ผู้บริหารบริษัทไทยที่ไปลงทุนในลาวกว่า 10 บริษัท

พร้อมด้วยผู้สื่อข่าว ตากล้อง นักจัดรายการ วิทยุแห่งชาติลาว น.ส.พ.ประชาชน น.ส.พ.ศึกษากีฬา สำนักข่าวสารประเทศลาว สำนักข่าว Inside Laos น.ส.พ. Vientiane Times มารอพบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาวอย่างใจจดใจจ่อ

ผมถามหาอ้ายสมสนุก มีไซย อดีตหัวหน้าฝ่ายพัวพันต่างประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง Vientiane Times หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของลาวภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2518 รับตำแหน่งบรรณาธิการจนกระทั่งเกษียณมาเป็นที่ปรึกษา เป็นที่เคารพ ยกย่องของสื่อมวลชนลาวทุกแขนง คุ้นเคยใกล้ชิดกับสื่อมวลชนไทยทุกสำนักมาเป็นเวลานาน

ได้ข่าวจากผู้สื่อข่าวเวียงจันทน์ไทม์ว่าอ้ายเสียชีวิตแล้วเมื่อปีกลาย เลยขอแสดงความเสียใจและระลึกถึงมา ณ โอกาสนี้

เวทีหารือเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาร่วมกันระหว่างนักธุรกิจไทยในลาวกับ กก.มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาว ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์

ถึงเวลาเริ่มรายการหารือ อัครราชทูตแนะนำนักธุรกิจเป็นรายบริษัทและขอบคุณที่ตอบรับคำเชิญมาร่วมพูดคุยหาแนวทางส่งเสริมการศึกษาอย่างน่าชื่นชม

ประธานมูลนิธิ เล่าความเป็นมาของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมอบให้แก่ครูที่มีผลงานเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ ช่วยเด็ก ช่วยประชาชน สร้างคุณภาพคน คุณภาพครู คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพครูที่จะไปสร้างคนที่มีคุณภาพให้ประเทศ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นความภูมิใจของวงการศึกษาอาเซียน การคัดเลือกเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทุกประเทศ

ก่อนกดสัญญาณแนะนำคุณวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผอ.ด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมความร่วมมือภาคสังคม มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และ รศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองผู้จัดการมูลนิธิ ร่วมประชุมออนไลน์จากกรุงเทพมหานคร

“อนุกรรมการส่งเสริมความร่วมมือภาคสังคมของมูลนิธิ มีคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานที่ปรึกษาเครือมิตรผลเป็นประธาน ภารกิจช่วยแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ การจัดประชุมครูในประเทศและในอาเซียน ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีกิจกรรมด้านการศึกษาให้ทุนการศึกษา ให้โอกาสครู นักเรียนเยี่ยมชมสถานประกอบการ แนะนำอาชีพให้เด็ก โครงการช่วยเหลือสังคม ชุมชนเป็นตัวเงินก็ได้เป็นอย่างอื่นก็ได้ ช่วยให้ความรู้จะยั่งยืนกว่า”

คุณวรวัฒน์ย้ำ

 

จากนั้นผู้แทนบริษัทธุรกิจทยอยกันแนะนำกิจการและกิจกรรมช่วยเหลือการศึกษาลาวตามลำดับ

นำโดยนายฉลองชัย ชยุตระพงศ์ ประธานบริษัท ยูเอมจีลาว จำกัด รองนายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว นายธนา เทวนิยมพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ลาว จำกัด นายนรุตม์ บัวขจร ผู้จัดการทั่วไปบริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด (Monsoon) นายวรงค์ ตังประพฤทธิ์กล กก.ผู้จัดการบริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด

นายวรากร เหมือนเหลา ผู้ช่วย กก.ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร (ลาว) จำกัด นายธนวัต ศิริพรพันธ์ ผอ.บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นายพิชยะ ตรีวิศวเวทย์ จนท.อาวุโส สำนักงานเวียงจันทน์ บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด

นายอธิพร ราหุลปาน กก.ผู้จัดการบริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด นายญาณวุฒิ ขาวศรี รอง ผจก.ทั่วไปบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) นายวรรัตน์ ภาณุภาส หัวหน้าสำนักงานเวียงจันทน์ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นายณรงค์วิทย์ ครองสิน ผจก.ส่วนองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ราชลาว เซอร์วิส จำกัด

ทุกบริษัทยึดหลักการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน “วิสัยทัศน์การพัฒนาธุรกิจ ต้องพัฒนาคนอยู่รอบข้างให้มีความมั่นคงไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ความสามารถ และสร้างคุณภาพของประชาชนลาว ให้นำใช้ความรู้พัฒนาประเทศ”

คุณณรงค์วิทย์ เน้นย้ำ

 

การลงทุนของบริษัทธุรกิจไทยในลาวดำเนินมาเป็นเวลายาวนาน อัตราส่วนอยู่ในอันดับต้นๆ ของจำนวนบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ กว่า 213 บริษัท เงินทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนลงทุนเพิ่มในอนาคตเป็นเงินรวม 17,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือจีนมี 95 บริษัท อันดับ 2 คือ ไทย มี 17 บริษัท อันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น มี 14 บริษัท และเวียดนามเป็นอันดับ 4 มี 5 บริษัทเท่ากับมาเลเซีย

การลงทุนกระจายไปในหลายแขวงและหลายภาคส่วนธุรกิจ ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน การเงิน พาณิชยกรรมและบริการ

การทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม ส่งเสริมการศึกษาลาวดำเนินมาหลายรูปแบบ หลายปีติดต่อกันเรื่อยมา ทั้งการมอบทุนการศึกษา ให้ทุนโรงเรียนจัดหาและพัฒนาครู ให้เงินกู้ไม่คิดดอกเบี้ยตั้งเป็นกองทุนให้รุ่นต่อๆ ไปกู้อย่างต่อเนื่อง บริจาคเครื่องมืออุปกรณ์การศึกษา ส่งบุคลากรไปเป็นวิทยากร รับนักศึกษามาฝึกงาน รับเข้าทำงาน สร้างอาคารโรงเรียนใหม่และซ่อมแซมบูรณะอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ฯลฯ

การพบปะกันระหว่างกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีสถานเอกอัครรราขทูตเป็นฝ่ายประสานงานยิ่งส่งเสริมให้การทำกิจกรรมคืนกำไรสู่สังคมของบริษัทธุรกิจเกิดความต่อเนื่อง เป็นกอบเป็นกำ เป็นชิ้นเป็นอัน เกิดผลรวดเร็วเป็นรูปธรรม โดยมีความคุ้นเคยใกล้ชิดทางวัฒนธรรมเป็นส่วนเสริมที่สำคัญ ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสันติสุข ระมัดระวังผลกระทบและความเป็นห่วงของทางการลาว

สะท้อนจากคำกล่าวของรองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า วันเปิดร้านสดวกซื้อสาขาแรก แสดงความกังวล เกรงกระทบกระเทือนร้านค้าเล็กๆ ทั่วไป

 

นักธุรกิจเล่ากิจกรรมสนับสนุนการศึกษาจบ คุณฉลองชัย รองนายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว เอ่ยถาม “โรงเรียนต้องการการสนับสนุนอะไรบ้างครับ”

อัครราชทูตเปิดเวทีให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาว แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะกับผู้ประกอบการธุรกิจ

ครูคุนวิไล ขอไมค์เป็นคนแรก ชวนให้ซ่อมแซมหลังคาโรงเรียนบ้านท่งกาง นครหลวงเวียงจันทน์ เก่าแก่หมดสภาพเพราะใช้มานานมาก

ตามด้วยครูกิมเฟือง แขวงเซกอง บอกว่าห้องเรียนไม่มีไฟฟ้าเพียงพอ ถ้าสนับสนุนได้จะทำให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น

เวทีพบนักธุรกิจไทยในลาวปิดลงด้วยความเข้าอกเข้าใจ

 

หลังคณะมูลนิธิกลับถึงเมืองไทยไม่ทันข้ามเดือน ได้รับข่าวจากสถานทูตไทยแจ้งความคืบหน้า 2 โครงการต่อกันว่า สถานทูตประสานกับ บ.Monsoon ทราบว่าทางบริษัทมอบหมายให้คุณเชา Area director ประสานกับครูกิมเฟือง

ส่งผู้แทนโครงการไปดูพื้นที่แล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการลากสายไฟและต่อไฟให้ได้ รวมทั้งจะติดตั้งหลอดไฟเพิ่มให้ด้วย นอกจากนี้ จะช่วยเหลือโรงเรียนในชุมชนใกล้เคียงที่ยังไม่มีไฟให้ด้วยเช่นกัน

อีกแห่งสถานทูตได้รับแจ้งจาก บ.มิตรลาว (เครือมิตรผล) พร้อมสนับสนุนการซ่อมหลังคาโรงเรียนประถมศึกษาท่งกาง ประมาณ 90,000-100,000 บาท

ต่อมาทีมไทยแลนด์นำโดยคุณสันติพงษ์ ช้างเผือก จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประสานงานติดตามการมุงหลังคาเสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยบริษัทมิตรลาวบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์ซ่อมแปงทั้งหมด 85,000 บาท

โรงเรียนประถมท่งกางออกบัตรระดมทุน (ทรัพยากร) ขอรับบริจาคจากพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนสมทบ ค่าใช้จ่ายอีก 37,400 บาท หรือ 22,420,000 กีบ นักการศึกษาไทยใจบุญไม่ประสงค์ออกนาม 3 รายได้ข่าว จึงลงขันบริจาคเพิ่ม 16,050 บาท

การเยี่ยมยามพบปะหารือระหว่างคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถานเอกอัครราชทูตไทย นักธุรกิจไทยและสื่อมวชนลาว เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วน่าชื่นใจ โรงเรียนมีหลังคาใหม่ เด็กนักเรียนมีไฟฟ้าส่องสว่าง คนช่วยได้บุญกุศล คุณภาพชีวิตนักเรียน ครูดีขึ้น ส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาตามมาอย่างแน่นอน

อาบน้ำร่วมท่า กินปลาร่วมข้อง ทำบุญร่วมชาติ ได้บุญหลาย

สาธุ ซมเซย ซมเซย หลายๆ เด้อ