คณะทหารหนุ่ม (66) | พล.อ.เกรียงศักดิ์ ขอเจรจา-ฝ่ายปฏิวัติเห็นลางความพ่ายแพ้

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ขอเจรจา

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าเหตุการณ์สำคัญเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เดินทางมาที่กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ นครราชสีมา ว่า

“ตอนบ่าย นายกฯ เกรียงศักดิ์ก็มาจากกรุงเทพฯ มาขอเจรจาเพื่อเป็นตัวแทนเจรจาฝ่ายเรากับคณะปฏิวัติ ข้อความที่เจรจาเขาบอกว่า ขอให้เลี่ยงการนองเลือดและขอให้นิรโทษกรรมผู้ที่ก่อการปฏิวัติทุกคน ให้ควบคุมกำลังอยู่อย่างเดิม

ผมบอกว่าไม่ได้ ถ้าจะยอมก็ยอมอย่างไม่มีเงื่อนไข ถ้าจะนิรโทษก็ยอมไม่ได้ เพราะการที่คณะบุคคลทำผิดก็นิรโทษกันอยู่เรื่อยๆ อีกหน่อยก็ปฏิวัติกันเรื่อยมันก็ไม่จบสิ้นกันเสียที ผมก็ไม่ยอม ผมบอกท่านนายกฯ (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ท่านหันมาถามผม ผมบอกไม่ยอม แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขก็ตกลง ผมต้องการที่จะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าให้กลับไปคุมกำลังอย่างเดิมอีกหน่อยก็ทำอีกแล้วใครจะไปนั่งป้องกันกันไหว ดีไม่ดีเขาจับตัวไปแล้วจะว่าอย่างไร

เมื่อไม่ยอมก็มีการต่อรองกัน ท่านนายกฯ ก็บอกว่า เอาละ ขอรับรองด้วยเกียรติของนายกรัฐมนตรี ของผู้บัญชาการทหารบก ว่าจะให้ความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด จะอภัยโทษให้อย่างมากที่สุด ขอให้วางปืนแล้วกลับออกไป

ท่านนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์บอกว่า แล้วเขาจะเชื่อได้อย่างไร ไม่เห็นมีหลักประกัน เขายอมไม่ได้

ผมก็บอกว่าแล้วจะเชื่อกันอย่างไรล่ะ ถ้าผมบอกว่ายอมนิรโทษแล้วจะให้เชื่ออย่างไรอีกล่ะว่านิรโทษจริง เราเชื่อกันไม่ได้ใช่ไหม เพราะทุกวันนี้มันเชื่อกันด้วยเกียรติยศ เชื่อกันด้วยการยอมรับศักดิ์ศรีของทหาร

ท่านก็บอกว่าท่านจะลองไปเจรจาดู ผมบอกว่าถ้าเจรจาผมจะขยายเวลาให้ ที่ผมพูดนี่เพราะว่าท่านนายกฯ ตั้งให้ผมเป็นผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ผมมีหน้าที่สั่งการใช้กำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทุกกองทัพ แล้วก็ตำรวจด้วย ผมก็จำเป็นจะต้องแก้ไข

เสร็จแล้วผมก็ขยายเวลาให้จาก 15.00 น. เป็นถึง 18.00 น.

ผมก็โทรศัพท์ไปเช็ก ผมพูดกับนายกฯ เกรียงศักดิ์ก็บอกว่า ผมก็พูดแล้ว แต่เขาเฉยๆ เขาก็บอกว่าเขาจะตอบให้ทราบเอง ท่านก็บอกว่ามีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จ

ผมนึกไม่ถึงเหมือนกัน เราก็ยอมจนถึงที่สุดแล้ว เอาอย่างไรก็เอากัน ผมไปรายงานให้ผู้บัญชาการทหารบกทราบ ผมขออนุมัติดำเนินการทำตามแผน ท่านก็บอกตกลง”

 

เตรียมกำลัง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเหตุการณ์ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลสามารถเริ่มกลับเป็นฝ่ายรุกว่า

“วันที่ 2 ทนไม่ได้ก็คลานเข้าไปหาป๋า เพราะผู้หลักผู้ใหญ่อยู่กันเยอะ บอกว่า ป๋าครับ ขออนุญาตนำกำลังเข้ากรุงเทพฯ ตอนนั้นมี ‘ตุ๋ย’ (พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี) ‘มล’ (พล.อ.วิมล วงศ์วานิช) ‘ศัลย์’ (พล.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ) ‘ยะ’ (พล.อ.อารียะ อุโฆษกิจ) กำลังทางพื้นดิน ส่วนผมคุมกำลังมาทางอากาศ 5 กองพัน มาลงที่ดอนเมือง พล.อ.อ.สุวิทย์ จันทร์ประดิษฐ์ ตอนนั้นมียศเป็นนาวาอากาศเอก ทำหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อทางอากาศ”

“พอวางแผนกันเสร็จเรียบร้อยเราก็คลานไปบอกว่า ป๋าครับ ผมพร้อมแล้ว”

 

กรุงเทพมหานคร

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของฝ่ายปฏิวัติในคืน 2 กันยายน 2524 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเริ่มครองความได้เปรียบจากการตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบที่นครราชสีมา ดังปรากฏใน “ผมผิดหรือที่ยึดกรือเซะ” ดังนี้

“หลังจากนั้นก็มีผู้ใหญ่หลายคนติดต่อเข้ามาว่าไม่อยากให้เกิดการนองเลือดขึ้น ถ้าตอนนั้นผมคิดจะสู้คงตายและบาดเจ็บมหาศาล เพราะกำลังผมเป็นกำลังที่สมบูรณ์ที่สุด เฉพาะวันนั้นผมเอากำลังเข้ามาถึง 3 กองพัน กองพันแรกก็มี พ.ท.ชวนิตย์ กาญจนเดช กองพันที่ 2 ก็มี พ.ท.วินิจ กระจ่างสนธิ์ กองพันที่ 3 ก็มี พ.ท.ไพฑูรย์ นาครัตน์

ทั้งหมดก็มี 3 กองพันที่ผมนำเข้ามา ส่วนคนอื่นๆ เขาก็นำเข้ามาเพียง 1 กองพัน และอาวุธของกองพันของผมสมบูรณ์ที่สุด

เพื่อนผมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมามีอีก 2 กองพัน โทร.มาหาผม พร้อมจะร่วมมือกับผม ถ้าเป็นไปตามนั้น และผมไม่เอะใจว่า เรื่องที่บอกผมว่าป๋าจะทำนั้น ผมก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริงแล้ว?

ถ้าผมตัดสินใจวันนั้นมันง่ายมากเลย จากกบินทร์บุรีตัดเข้าปักธงชัย เข้าโคราช ไม่ถึง 2 ชั่วโมงแล้วเพื่อนผมอีก 2 กองพันอยู่ที่นั่นเขาบอกมาเลยว่าจะร่วมมือด้วย แต่ผมมองแล้วว่ามันไม่ใช่เช่นนั้น ผมจึงมีคำสั่งห้ามทหารของผมทั้งหมดใช้อาวุธ

อีกจุดที่อยากจะพูดไว้ใน บก.ปฏิวัติก็คือ มนูญเขาเรียกประชุมแกนนำทั้งหมด (คืนวันที่ 2 เมษายน) ในประเด็นที่ว่า ทางโน้นเขาเสนอให้ส่งตัว พล.อ.สัณห์ แล้วทุกอย่างจะยุติ ผมก็ถามในที่ประชุมว่า ในการปฏิวัติครั้งนี้ ท่านชวนเรา หรือว่าเราชวนท่าน ทางมนูญเขาก็บอกว่าเราชวนท่าน

ผมจึงบอกว่า ถ้าเราชวนท่าน มันไม่ได้ ผมไม่ยอมเด็ดขาด และเหตุการณ์ครั้งนี้ผมไม่รู้ด้วย แต่ว่าผมไม่ยอม เราเป็นลูกผู้ชายชาติทหารจะไปหักหลังท่านแบบนี้ไม่ได้ แต่พอคำสั่งมาว่าเป็น พล.อ.เปรม ผมจึงนำกำลังเข้ามา

ผมดูแล้วว่า เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ มันไม่ใช่แล้ว คุณก็เป็นลูกผู้ชาย จู่ๆ จะมาบอกว่าจับท่านส่ง ผมก็คิดว่าอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ผมก็ค้าน และตอนนั้นมันก็มี พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา อีก 1 คนที่ร่วมกับผม

ผมก็ประกาศในที่ประชุมว่า วันนี้ถ้าจับ บก.ปฏิวัติมีสิทธิ์นองเลือดแน่ ผมไม่ยอมเด็ดขาด จากนั้นผมก็เอากำลังของผมมาปิดล้อม บก.ปฏิวัติไว้ ทุกคนก็เงียบ ไม่มีใครว่าอะไร

ในตอนท้ายผมก็บอก พ.อ.วีระยุทธ ว่าให้พา พล.อ.สัณห์ลี้ภัยไปทางกาญจนบุรี เพราะลูกน้องผมอยู่ทางกาญจนบุรีมีมาก

ในที่สุด พ.อ.วีระยุทธก็พาไป และขอลี้ภัยอยู่ในประเทศพม่า

อันที่จริงในคืนที่ 2 ผมจับได้หมดทั้ง พล.อ.อาทิตย์ และ พล.อ.ชวลิต ผมจับได้หมด ตอนที่ท่านลอบเข้ามา ผมจับท่านได้ที่รังสิต ท่านลอบเข้ามาตอนตี 4 ในชุดพลเรือน ผมจับได้ แต่ก็สั่งให้ปล่อยท่าน เพราะผมมองดูว่าสู้กันไปก็ไม่มีประโยชน์ บาดเจ็บล้มตายกันเปล่าๆ ประเทศชาติก็จะล่มจม”

เรื่องเล่าเหตุการณ์ในคืน 2 เมษายนนี้ ต่อเนื่องจากการเจรจาที่ไม่ได้ผลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตอนบ่าย ซึ่งฝ่ายปฏิวัติมองเห็นลางแห่งความพ่ายแพ้อย่างชัดเจนแล้ว

การกล่าวถึงข้อเสนอจากรัฐบาลให้ส่งตัว พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รวมทั้งการจับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ที่รังสิตนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยัน คงมีเฉพาะในบันทึกของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เท่านั้น”

 

นครราชสีมา

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าเหตุการณ์หลังได้รับแจ้งจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่นำผลการเจรจาไปแจ้งให้คณะปฏิวัติทราบแล้ว และเชื่อว่าจะไม่สำเร็จ จึงได้รับอนุมัติจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้เคลื่อนย้ายกำลังเพื่อปราบปรามได้ตามแผน

“ผมก็สั่งการผู้ควบคุมหน่วยกำลังรบทันที

ก่อนที่ผมจะสั่งการ ผมเอากำลังจากอุบลฯ 1 กองพันไปไว้ที่โคราชแล้ว เพราะผมเชื่อเหลือเกินว่ามันไม่ยอมแน่ ผมแอบเอาเครื่องบินไปบรรทุกกำลังมาซุ่มไว้ที่ค่ายเฟรนด์ชิพ (กรมทหารราบที่ 23) โคราชนี่โดยไม่มีใครรู้ อีก 1 กองพันเราอาจจะเอากำลังจากกรมทหารราบที่ 23 1 กองพันเอามาจากกรมทหารราบที่ 3 เราใช้กำลังทั้งหมด 5 กองพันนี้เป็นหน่วย เรียกว่า ‘หน่วยรบเฉพาะกิจสุรนารี’ เราให้ผู้บังคับการกรมถึง 2 คนคุมกำลังสุรนารีบุกเข้ากรุงเทพฯ

ผมตัดสินใจเข้าสั่งการเคลื่อนย้ายกำลังทันทีตั้งแต่ 24.00 น.เป็นต้นไป และให้นำกำลังเข้ากรุงเทพฯ พร้อมขอเครื่องบินบีบบังคับให้ยอมจำนนให้ได้ การเคลื่อนย้ายกำลังให้ใช้กำลังทางอากาศคุ้มกัน

หลังจากนั้นผมก็สั่งให้กำลังกรมทหารราบที่ 21 เคลื่อนย้ายกำลังจากชลบุรีเข้ากรุงเทพฯ สั่งเคลื่อนย้ายกองกำลังเข้ายึดสวนลุมพินี สั่งกำลังทหารเรือจำนวนหนึ่งเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ยึดให้เสร็จก่อนเช้าตรู่ของวันที่ 3 (เมษายน) สั่งกองพัน ปตอ.ของกองพล ปตอ.ให้เคลื่อนกองพัน ปตอ.อัตโนมัติมาสมทบกับหน่วยเฉพาะกิจสุรนารี”

การเผชิญหน้าระหว่างกำลังติดอาวุธซึ่งล้วนเป็นกองทัพประจำการทั้งสองฝ่ายกำลังจะเกิดขึ้น