‘ยูนิคอร์น’ ตัวจริง ไม่ใช่ม้า แต่เป็น… ‘แรด’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

‘ยูนิคอร์น’ ตัวจริง ไม่ใช่ม้า

แต่เป็น… ‘แรด’

 

ลุ้นแทบตาย นึกว่ายูนิคอร์นสัตว์มหัศจรรย์จากนิยายแฟนตาซี จะมีตัวตนจริง!

ที่ไหนได้ ซากฟอสซิลยูนิคอร์นดังแห่งเมืองแม็กเดบอร์ก กลับเป็นเรื่องโกหกพกลม ท้ายที่สุด ก็เป็นแค่ซากฟอสซิลจิ๊กซอว์ที่ต่อกันผิด จับแพะชนแกะจนออกมาได้เป็นโครงสร้างของตัวอะไรสักอย่างเขาเดียวหน้าตาประหลาด

“แม้จะเจอหัว แต่โครงสร้างของหัวก็ไม่เหมือนม้า” ธีจส์ แวน คอล์ฟโชเทน (Thijs van Kolfschoten) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ (Megafauna) จากมหาวิทยาลัยเลเดน (Leiden University) ในประเทศเนเธอแลนด์ ตั้งข้อสังเกต

เขาสันนิษฐานว่าหัวของยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะเป็นหัวม้า แต่น่าจะเป็นกะโหลกของแรดขนยาว (Woolly rhinoceros) มากกว่า

ที่สำคัญไม่ชัดเจนว่าเขาน่าจะงอกออกมาจากตรงไหน ถ้าดูจากโครงสร้าง เขาก็ดูจะงอกขึ้นมาจากหัวแบบดื้อๆ เหมือนแต่ใครเอาไปแปะไว้ เพราะไม่ได้มีโครงสร้างฐานรับใดๆ ที่ชัดเจนบนกะโหลก

และถ้าพิจารณาจากลักษณะของเขา ธีจส์ก็ไม่เชื่ออีกว่าเขาที่เห็นจะเป็นเขาม้า น่าจะเป็นงาของนาร์เวล (Narwhale) หรือไม่ก็เขาของสัตว์ประเภทอื่นมากกว่า

และในส่วนของขาหน้าที่ใหญ่โตมโหฬารจนผิดรูป ธีจส์เชื่อว่าน่าจะมาจากขาของแมมมอธขนยาว (woolly mammoth) ช้างยักษ์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายพันปี

โครงกระดูกที่ต่อออกมาจากจินตนาการของวิศวกรชื่อดังอดีตเจ้าเมืองแม็กเดบอร์ก ออตโต วอน เกฮิเกอร์ (Otto von Guericke) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เลยดูพิลึกพิลั่นไม่ค่อยเหมือนกับตัวอะไรที่เรารู้จักกันเท่าไรนัก…

และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือภาพร่างของยูนิคอร์นดังกลับไม่มีขาหลังซะนี่…

ภาพวาดยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กจากหนังสือโปรโตไกอา

ภาพวาดยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กในหนังสือโปรโตไกอา (Protogaia) ของกอตต์ฟรีด์ วิลเฮล์ม ลิบนิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz) ชี้ชัดว่าแม้จะดูดีและขัดตาน้อยกว่าโครงกระดูกจำลองของออตโต แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ยังดูผิดๆ เพี้ยนๆ และที่สำคัญ นอกจากส่วนหัวที่มีเขาแล้ว ไม่ว่าจะมองยังไง ซากฟอสซิลของยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์ก ก็ไม่ได้มีส่วนไหนเลยที่จะละม้ายคล้ายคลึงกับ “ยูนิคอร์น” ม้าขาวเขาเดียวในจินตนาการเลยแม้แต่น้อย

แต่ในเวลานี้ เรารู้แล้วว่าสาเหตุที่โครงกระดูกของยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กนั้นมันออกมามิกซ์แอนไม่แมชต์ได้ขนาดนั้น ก็เป็นเพราะว่าซากที่ได้นั้นมาจากสุสานซากสัตว์ดึกดำบรรพ์และตัวการที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังซากเหล่านั้นก็คือมนุษย์ “นีแอนเดอร์ธัล”

ภาพวาดยูนิคอร์นเขาเดียวในถ้ำรูฟฟิกแน็ก (Rouffignac cave) ในฝรั่งเศส

และที่ได้ชื่อว่ายูนิคอร์น จริงๆ แล้วน่าจะมาจากความเชื่อท้องถิ่น และชื่อของถ้ำที่มา…

แต่เดี๋ยวนะ…ถ้าซากของยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กมีต้นกำเนิดมาจากถ้ำยูนิคอร์น ที่เป็นแหล่งพำนักของนีแอนเดอร์ธัลที่น่าจะมีโครงกระดูกสารพัดอยู่ข้างใน แล้วทำไมออตโต วิศวกรผู้ปราดเปรื่องกลับไม่คิดที่จะหากระดูกขาหลังของตัวอะไรซักตัวมาแปะไว้ให้มีสี่ขา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ดลใจให้เขาเชื่อว่ายูนิคอร์นตัวจริงน่าจะมีแค่สองขา และมีโครงหน้าละม้ายคล้ายแรดยักษ์

และจากการลองไปค้นหาข้อมูลดูก็พบภาพน่าสนใจ ในปี 1575 ในหนังสือ คอสโมกราฟี ยูนิเวอร์แซล (La Cosmographie universelle de tout le monde) กวีและนักเขียนเลื่องชื่อชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวส์ เดอ เบลเลอฟอเรสต์ (Fran?ois de Belleforest) ได้บรรยายถึงถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยภาพเขียนโบราณจากยุคดึกดำบรรพ์มากมายกระจัดกระจายอยู่ตามผนังถ้ำ

ภาพวาดขากรรไกรล่างแห่งมอสโก (Moscow mandible)

ถ้ำแห่งนี้ถูกตั้งชื่อตามเมืองใกล้ๆ ว่าถ้ำรูฟฟิกแน็ก (Rouffignac cave หรือ Grotte de Rouffignac)

ในถ้ำนี้ มีภาพเขียนสัตว์โบราณปรากฏอยู่อย่างดาษดื่น แม้จะมีภาพสัตว์อยู่สารพัด แต่ภาพวาดที่สะดุดตาที่สุดและมีมากที่สุด เห็นจะเป็นภาพวาดของ “ช้างแมมมอธ” ที่พบกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมดบนผนังถ้ำ

และด้วยมีรูปแมมมอธเยอะ ถ้ำนี้ก็เลยมีชื่อเรียกอีกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “The cave of hundred mammoths” หรือ “ถ้ำร้อยแมมมอธ”

ทว่า ในถ้ำร้อยแมมมอธ ยังมีภาพสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งที่ดูคุ้นตาและน่าสนใจ หน้าตาของมันดูละม้ายคล้ายแรดเขาเดียวขนาดใหญ่ หลังเป็นโหนก สองขาหน้าใหญ่โตบึกบึน แต่ขาหลังกลับสั้นกุด ดูพิกลพิการ

เห็นแล้วทำให้ย้อนนึกถึงหน้าตาของยูนิคอร์นดังแห่งเมืองแม็กเดบอร์กแทบจะในทันที

ผมเริ่มค้นหาต้นตอของภาพวาดยูนิคอร์นแห่งถ้ำร้อยแมมมอธ

และสิ่งที่ผมค้นเจอกลับเป็นอะไรที่ทำให้ผมอึ้ง

ภาพวาดยูนิคอร์นแห่งไซบีเรีย โดยราเชฟสกี้ (Rashevsky) ปี 1875

เพราะจากเปเปอร์ที่เชื่อถือได้ทางด้านบรรพชีวินวิทยา ก็ระบุชนิดของสัตว์ในภาพนั้นเอาไว้ว่า “ยูนิคอร์น”

แต่ไม่ใช่ยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์ก แต่เป็นยูนิคอร์นดึกดำบรรพ์ที่ผ่านการศึกษาและยืนยันแล้วว่าเคยมีตัวตนจริงๆ อยู่บนโลกใบนี้

ยูนิคอร์นชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ยูนิคอร์นแห่งไซบีเรีย (Siberian unicorn)” ตามถิ่นที่มาของซากฟอสซิลโครงกระดูกที่พบครั้งแรก และมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มาจากการอุปโลกขึ้นมาหลอกคนตอนวันเมษาหน้าโง่เหมือนกับกรณีของยูนิคอร์นแห่งแม็กเดบอร์กว่า อิลาสโมเธเรียม ไซบีริคัม (Elasmotherium sibericum)

ทว่าชื่อ “อีลาสโมเธเรียม ไซบีริคัม” กลับไม่ได้มีอะไรที่บ่งชี้ถึงความเป็นยูนิคอร์นในตัวมันเลยแม้แต่น้อย

คำว่า “อีลาสมอส (elasmos)” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกที่แปลว่า “ทบเป็นชั้นๆ”

ส่วนคำว่า “เธริออน (therion)” ก็มีรากมาจากภาษาเดียวกันที่แปลว่า “อสูร”

และถ้าเอามารวมกัน “อีลาสโมเธเรียม ไซบีริคัม” ก็จะมีความหมายที่ชัดเจนแบบตรงๆ ว่า “อสูรฟันชั้นแห่งไซบีเรีย”

ภาพวาดยูนิคอร์นแห่งไซบีเรีย โดยไฮน์ริช ฮาร์ดเดอร์ (Heinrich Harder) ปี 1920

เรื่องราวของยูนิคอร์นแห่งไซบีเรียนั้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1807 ในตอนที่พระนางเอแคทเทรินา ดาสโกวา (Princess Ekaterina Dashkova) องค์หญิงแห่งประเทศรัสเซียได้บริจาคซากฟอสซิลขากรรไกรล่างของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พระนางสะสมอยู่ชิ้นหนึ่งให้กับมหาวิทยาลัยมอสโก (Moscow University)

และก็แจ๊กพ็อต ซากขากรรไกรชิ้นนั้นเข้าตาของนักบรรพชีวินวิทยามือฉมัง “กอตเธล์ฟ ฟิชเชอร์ (Gotthelf Fischer)” ซึ่งในอดีตเคยเป็นหนึ่งในลูกศิษย์หัวแก้วหัวแหวนของจอร์จ คูเวียร์ (George Cuvier) ปรมาจารย์แห่งวงการบรรพชีวินวิทยาผู้เสนอว่าการสูญพันธุ์นั้นมีจริง

ทฤษฎีหายนนิยม (Catastrophism) หรือที่บางตำราจะใช้คำว่า “ทฤษฎีมหาวิบัติ” ถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีแรกๆ ที่กล้าอาจหาญฟันธงว่าการสูญพันธุ์นั้นมีจริง ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่านอกรีต เพราะขัดแย้งกับหลักความเชื่อของศาสนาขั้นรุนแรง)

กอตเธล์ฟตัดสินใจศึกษาซากขากรรไกรชิ้นนั้นและเขียนรายงานการค้นพบ “อีลาสโมเธเรียม” หรือ “อสูรฟันชั้นแห่งไซบีเรีย” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นตัวอะไรออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1809 เปเปอร์นี้ ทำให้ตัวอย่างขากรรไกรล่างชิ้นนั้นเริ่มโด่งดังและเป็นที่สนใจ จนในภายหลังมีการตั้งชื่อเฉพาะให้กับชิ้นขากรรไกรในตำนานนี้ว่า “ขากรรไกรล่างแห่งมอสโก (Moscow mandible)”

แม้จะรู้ว่าน่าจะเป็นสัตว์อะไรสักอย่างที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบ แต่หน้าตาอสูรยักษ์แห่งไซบีเรียนั้นเป็นเช่นไร ขากรรไกรล่างแค่ชิ้นเดียวคงบอกได้ยาก จนในเวลาต่อมา พอมีการศึกษาวิจัยทางบรรพชีวินวิทยามากขึ้น ก็เริ่มมีการค้นพบซากกระดูกของอสูรฟันชั้นแห่งไซบีเรียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือพวกมันอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุ่งหญ้าในเขตยูราเซีย (Eurasia) ซึ่งกินขอบเขตมาตั้งแต่ยุโรป ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงจีน

 

พอมีตัวอย่างเหลือเฟือ ข้อมูลก็ท่วมท้น ไม่ช้าไม่นาน พวกนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มที่จะปะติดปะต่อโครงร่างเต็มตัวที่สมบูรณ์ของอีลาสโมเธเรียมได้สำเร็จ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดของพวกเขาก็คือ ซากยูนิคอร์นในตำนาน นั้นกลับไม่มีเขา หายังไงก็ไม่เจอเขา

จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครเคยได้เห็นเขาของยูนิคอร์นแห่งไซบีเรีย แม้แต่ในฟอสซิลที่สมบูรณ์ที่สุด ก็ยังไม่มี แต่เพราะบริเวณตรงกลางหัวด้านบนของมันนั้นมีลักษณะโดมให้เห็นเป็นฐานเขาอยู่หนึ่งจุดเห็นได้ชัดเจน นักวิจัยส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าอสูรฟันชั้นน่าจะมีเขาอยู่หนึ่งเขาอยู่ตรงกลางหัวบนโดมสมชื่อยูนิคอร์นนั้นแหละ

และด้วยลักษณะของฐานที่เป็นเหมือนฐานนอแรด พวกเขาก็เลยคิดว่าองค์ประกอบของเขายูนิคอร์นชนิดนี้น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับนอแรด คือ ไม่ใช่กระดูก แต่หลอมรวมกันมาจากขน

และยิ่งพอขุดค้นเจอมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีข้อมูลเยอะขึ้น จินตนาการก็ยิ่งบรรเจิด ไม่ช้าไม่นาน ก็เริ่มมีภาพของยูนิคอร์นแห่งไซบีเรียเผยแพร่ออกมาให้เห็น

ซึ่งถ้าดูในช่วงแรกๆ ลักษณะของยูนิคอร์นในภาพก็มักจะออกมาคล้ายกับยูนิคอร์นในตำนาน เป็นม้า ลา หรือล่อที่มีเขาอยู่ 1 เขาตรงกลางหัว

ไม่สนว่าเป็นม้าหรือลาหรือตัวอะไรก็ตาม ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่นมีเขาเดียวชัดเจน สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ อิลาสโมเธเรียมนี่แหละที่เป็น “ยูนิคอร์นตัวจริง”!!!

 

“ถ้าอยากรู้ว่ายูนิคอร์นพวกนี้กินอะไร ก็สามารถพิจารณาได้จากลักษณะของฟันของพวกมัน และถ้าดูจากฟัน อีลาสโมเธเรียมน่าจะเป็นสัตว์จำพวกที่เล็มหญ้าเป็นอาหาร” เอเดรียน ลิสเตอร์ (Adrian Lister) นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน (Natural History Museum London) เผย ถ้าให้เปรียบก็คงไม่ต่างจาก “เครื่องตัดหญ้ายุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดยักษ์ที่เดินได้” ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีก่อน

เอเดรียนเชื่อว่าอีลาสโมเธเรียม ยูนิคอร์นยักษ์ขนาด 3.5 ตัน ถ้าเทียบขนาดตัวก็น่าจะประมาณช้างแมมมอธไซซ์กลางๆ น่าจะจุกจิกมากในเรื่องอาหารการกิน

เอเดรียนเชื่อว่า “ถ้าไม่มีหญ้า พวกมันก็น่าจะอดตาย สำหรับสัตว์ที่ปรับตัวได้ยากแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดียงแค่เล็กน้อยก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลสำหรับพวกมัน”

การไม่ยอมปรับตัว น่าจะเป็นจุดอ่อนของยูนิคอร์นยักษ์แห่งไซบีเรีย เอเดรียนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นเมื่อราวๆ สามถึงสี่หมื่นปีก่อน น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์หมดสิ้นไม่เหลือหลอ

เป็นอะไรที่น่าคิดว่าจะมีอีกที่สปีชีส์ที่ปรับตัวไม่ได้และต้องผจญชะตากรรมเช่นเดียวกันกับยูนิคอร์นแห่งไซบีเรีย จนต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่สภาพอากาศโลกแปรปรวนอย่างหนัก ทั้งร้อน รวน และเดือด…

แต่แค่นี้ยังไม่จบ เพราะที่พีกและเพี้ยนที่สุดของตำนานเรื่องนี้ มาจากเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ในปี 2019 ที่พบว่าถ้าพิจารณาจากวงศ์วานวิวัฒนาการและการเปรียบเทียบลำดับสารพันธุกรรมของอีลาสโมเธเรียม ญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดของพวกมันนั้นจะไม่ใช่ม้า แต่ทว่าเป็นแรด

งานเข้าสิครับ งานนี้ เพราะแท้จริงแล้ว “ยูนิคอร์น” ในโลกของความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ “ม้า” แต่ว่าเป็น “แรด”

จบกัน…ตำนานยูนิคอร์นแห่งแฟนตาซีแลนด์