อัณฑะจะเป็นอันตรายมั้ย หากสวมกางเกงในไม่เหมาะ?

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

อัณฑะจะเป็นอันตรายมั้ย

หากสวมกางเกงในไม่เหมาะ?

 

สําหรับคนรักการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อุปกรณ์ที่คนนึกถึงคือรองเท้าวิ่ง

แต่อีกสิ่งหนึ่ง-ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือกางเกงใน

ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ชายที่เป็นนักวิ่ง เช่นเดียวกับสปอร์ตบราของนักวิ่งผู้หญิง

ผู้หญิงส่วนใหญ่จะทราบถึงความสำคัญของการสวมสปอร์ตบราเวลาออกไปวิ่งหรือเล่นกีฬาว่า ไม่ใช่สวมเพื่อแฟชั่น แต่เพื่อช่วยลดแรงกระแทกให้กับหน้าอกที่เด้งอย่างต่อเนื่องเวลาเคลื่อนไหว

เพราะแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะเล่นกีฬาโดยไม่สวมสปอร์ตบรา จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกเจ็บหน้าอก เสียสมาธิในการเล่นกีฬา และเป็นอันตรายกับหน้าอก ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่เด็กผู้หญิงหลายคนหยุดเล่นกีฬาเมื่อโตขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ก็เลยมีคนสงสัยว่า แล้วผู้ชายที่วิ่งออกกำลังกาย จะเจอปัญหาลักษณะนี้กับช่วงล่างของตัวเองบ้างมั้ย ถ้าหากกางเกงในสวมวิ่งไม่ได้มีการป้องกันที่เหมาะสม หรือแม้แต่บางคนก็ไม่ได้สวมกางเกงในตอนวิ่งเลยด้วยซ้ำ

จากการทำโพลสำรวจของนิตยสาร Runner’s World ซึ่งเป็นนิตยสารวิ่งฉบับดังของโลก ทำโพลสำรวจนักวิ่ง 25 ประเทศ ทั่วโลกในปี 2016

พบว่า นักวิ่ง 61% ใส่กางเกงชั้นใน ส่วนอีก 39% ไม่ใส่กางเกงชั้นในเวลาวิ่ง

สำหรับผู้ชายบางคนที่ชอบ “ปลดปล่อยตัวเอง” ให้เป็นอิสระเวลาวิ่งออกกำลังกาย หากได้ทราบข้อมูลต่อไปนี้ อาจจะกลับมาทบทวนตัวเองดูใหม่ เพราะอาการเด้งต่อเนื่องที่เกิดกับลูกอัณฑะ ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เหมือนกัน

 

ธรรมชาติของผู้ชายจะมีปฏิกิริยาในร่างกายที่เรียกว่า cremasteric reflex คือการหดตัวของถุงอัณฑะ ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เรียกว่า กล้ามเนื้อครีมาสเตอร์ (cremaster muscle) ที่แข็งตัวขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกอัณฑะเคลื่อนที่อย่างอิสระ กลไกนี้สามารถเกิดขึ้นในช่วงที่มีการออกกำลัง เกิดความเครียด ความหวาดกลัว หรือเมื่อเจออากาศเย็น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับลูกอัณฑะ และลดแรงกระแทก

ถึงแม้ว่าร่างกายผู้ชายจะมีการหดตัวของถุงอัณฑะตามธรรมชาติเพื่อลดแรงกระแทก แต่การวิ่งออกกำลังระยะทางไกลบ่อยๆ โดยไม่มีกางเกงในช่วยรองรับอย่างเหมาะสม ร่างกายก็อาจจะช่วยไม่ไหว และอาการเจ็บที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จากแรงกระแทกก็จะกลายเป็นปัญหาตามมา

ผู้ชายจำนวน 1 ใน 7 คนมีภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด (Varicocele) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำในถุงอัณฑะบวมเพราะมีเลือดคั่ง เหตุมาจากระบบไหลเวียนโลหิตเสื่อม ซึ่งอาจส่งผลให้อัณฑะผลิตอสุจิได้น้อยและมีคุณภาพต่ำลง ลูกอัณฑะหดตัว และอาจเกิดภาวะมีบุตรยาก พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี แต่มักจะไม่มีความผิดปกติใดๆ ปรากฏให้ทราบ จนกว่าจะได้รับการวินิจัยจากแพทย์

ภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด โดยปกติจะไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ถ้าออกกำลังกายเป็นเวลานานๆ อาจจะรู้สึกปวดบริเวณอัณฑะ เนื่องจากการสูบฉีดของเลือดเพิ่มขึ้นตอนออกกำลังกาย และแรงดึงดูดของโลกที่ทำให้อัณฑะเคลื่อนที่ไปมา

 

อัณฑะเป็นอวัยวะที่สำคัญของผู้ชาย แต่ตำแหน่งของอัณฑะเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่ายหากมีแรงกระทบกระทั่งโดยตรงไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม อาจเกิดการฟกช้ำ บวม หรือเลือดอุดตัน ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงขั้นสูญเสียอัณฑะไปเลยก็ได้

ดังนั้น วิธีป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือสวมกางเกงในที่ช่วยยับยั้งการเคลื่อนไหวของอัณฑะ ทำให้อัณฑะอยู่ชิดกับร่างกายมากที่สุดเหมือนปฏิกิริยา Cremasteric Reflex

ดีน โคลสัน (Dean Coulson) เทรนเนอร์การออกกำลังกายส่วนตัวชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง Assert Fitness (แอสเสิร์ต ฟิตเนส) บอกว่า การสวมกางเกงในที่เหมาะสม นอกจากมีประโยชน์ในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้นด้วย

เพราะความสะดวกสบายช่วยให้มีสมาธิกับการวิ่งโดยไม่ต้องมาพะวงเรื่องช่วงล่าง

ดังนั้น เขาจึงแนะนำให้เลือกสวมกางเกงในที่พอดีตัวและระบายความชื้นได้ดี (Moisture-wicking)

โคลสันบอกว่า สมองของคนเราจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อมองหาสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิต และอัณฑะของผู้ชายคือสิ่งที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ

ดังนั้น ขณะออกกำลังกาย เมื่อเรามีความรู้สึกไม่สบายบริเวณอัณฑะ สมองก็จะตอบสนองว่าจะเกิดอันตราย และสั่งให้ร่างกายทำงานช้าลงเพื่อป้องกันตัวเอง

เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อเกิดการบาดเจ็บบริเวณใดก็ตาม สมองจะยับยั้งการทำงานส่วนนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่อาจมีมากขึ้น

ดังนั้น ถ้าสมองของเรามัวแต่ยุ่งอยู่กับการป้องกันลูกอัณฑะไม่ให้เป็นอันตราย เราก็จะไม่สามารถวิ่งได้เร็วเท่าที่ใจต้องการ

 

โคลสันวิ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ยกน้ำหนักในยิม และเล่นฟุตบอล เขาบอกว่า การปกป้องอัณฑะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าหากอัณฑะไม่อยู่กับที่ จะเกิดการเด้งและเสียดสีที่ทำให้เขาเจ็บได้ เขาจึงสวมกางเกงป้องกันถึง 3 ชั้น คือสวมกางเกงใน ต่อด้วยกางเกงรัดรูป (undershorts) เพื่อเน้นป้องกันแฮมสตริงและเป้าเพิ่มอีกเล็กน้อย และชั้นบนสุดเป็นกางเกงขาสั้นปกติ

แต่การสวมกางเกง 3 ชั้นอาจดูเยอะเกินเหตุไปหน่อย

ริชาร์ด เอ็ดมอนด์ส (Richard Edmonds) ผู้ร่วมก่อตั้ง Runderwear แบรนด์ชุดชั้นในเพื่อการวิ่งออกกำลังกายบอกว่า ยิ่งกางเกงในช่วยป้องกันการเคลื่อนที่ของอัณฑะได้มากเท่าไร การเสียดสีระหว่างผิวหนังก็ยิ่งน้อยลง

แรงเสียดสีเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการวิ่งออกกำลังกาย ผู้ชายต้องการกางเกงชั้นในสำหรับออกกำลังกายที่ออกแบบมาให้ทุกอย่างอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่มีรอยเย็บที่จะทำให้เกิดการระคายเคือง และมีเทคโนโลยีระบายความชื้นที่ช่วยให้รู้สึกสบาย และมั่นใจว่าการเคลื่อนที่นุ่มนวลทุกย่างก้าว

เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงหลายคนสวมสปอร์ตบรา เพื่อช่วยปกป้องหน้าอกและทำให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้น ผู้ชายก็จะได้รับประโยชน์จากการสวมกางเกงในที่เหมาะสมเหมือนกัน

ซึ่งการเลือกสวมกางเกงในให้เหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่แพทย์หลายคนแนะนำนักวิ่งที่รู้สึกปวดอัณฑะหลังจากวิ่งเสร็จ

สรุปว่ากางเกงในของผู้ชายมีความสำคัญพอๆ กับสปอร์ตบราของผู้หญิง

แต่ทั้งนี้ความพอดีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จริงอยู่ที่อัณฑะเคลื่อนไหวน้อยเท่าไรยิ่งปลอดภัย แต่บางคนอาจห่วงอัณฑะมากเกินไป สวมกางเกงในรัดแน่นหลายชั้นจนไปยับยั้งการไหลเวียนของเลือดช่วงบริเวณขาหนีบ แบบนี้ก็เป็นอันตราย

ดังนั้น สวมเท่าที่เรารู้สึกสบายและไม่เกิดการเสียดสีที่ทำให้ระคายเคือง ก็เพียงพอแล้ว