‘ไมเคิล หว่อง’ | ‘คนไกล’ ของวงการบันเทิงไทย ‘คนอื่น’ ของวงการหนังฮ่องกง

คนมองหนัง
Photo: Kirk Kenny / studiozag.com

“ฉันมาไกล มาไกลเหลือเกิน ฉันเดินทางมาไกลแสนไกล แต่มีเธอนั้นเป็นจุดหมาย ต่อให้ไกลแสนไกลเท่าไร ไม่หวั่น”

สามทศวรรษก่อน คนไทยรู้จัก “ไมเคิล หว่อง” (หว่องหมันตั๊ก หรือ ไมเคิล ฟิตซ์เจอรัลด์ หว่อง) จากผลงานเพลงชุด “ฉันมาไกล” ที่ออกกับสังกัดแกรมมี่ เมื่อ พ.ศ.2536

โจทย์หลักของอัลบั้มชุดนี้คือการนำเพลงฝรั่งดังๆ มาคัฟเวอร์ โดยมีเพลงภาษาไทยแต่งใหม่แค่เพียงสองเพลง หนึ่งในนั้น คือ “ฉันมาไกล” เพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มที่โด่งดังและหลายคนยังคงจดจำได้ จากท่วงทำนองที่ไพเราะ คำร้องง่ายๆ กินใจ และสำเนียงการร้องแบบภาษาคาราโอเกะที่ฟังดูไม่ขัดหู

ผู้อยู่เบื้องหลังเพลง “ฉันมาไกล” เป็นทีมงานที่มีเครดิตไม่ธรรมดา ทั้ง “ธนา ชัยวรภัทร์” ซึ่งรับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง ผู้แต่งทำนองคือสองพี่น้อง “ปานสรวง-ปวงสรร ชุมสาย ณ อยุธยา” ทายาทของกวีหญิง “อุชเชนี-ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา” ผู้เรียบเรียงดนตรีคือปานสรวง (ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม) และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”

แม้ไมเคิล หว่อง จะร้องเอาไว้ในเพลงดังของเขาว่า “ฉันมาไกล มาไกลเหลือเกิน ไม่คิดจะเดิน เดินกลับหลังไป อยากจะขอพึ่งพาอาศัย ที่ที่มีน้ำใจแห่งนี้ นานนาน”

แต่สุดท้าย เขาก็ทำงานอยู่ในวงการบันเทิงไทยเพียงชั่วครู่ชั่วคราวราวๆ หนึ่งปี ก่อนจะหวนคืนวงการหนังฮ่องกง

 

เรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่น่าจะทราบกันก็คือ ไมเคิล หว่อง ไม่เพียงแต่เป็น “คนไกล” ของเมืองไทยเท่านั้น ทว่า เขายังเคยมีสถานะเป็น “คนอื่น” ของวงการบันเทิงฮ่องกงด้วย

หว่องเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนผู้เดินทางมาถึงฮ่องกงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เพียบพร้อมสำหรับวงการบันเทิงที่นั่นเอาเสียเลย เพราะเขาทั้งพูดภาษาจีนกวางตุ้งไม่ได้ และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกังฟูแม้แต่น้อย

ส่งผลให้หว่องถูกเยาะเย้ยจากคนดู แล้วก็แปลกแยกจากคนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกง ซึ่งล้วนมองว่าเขาเป็น “ฝรั่ง” ที่สื่อสารภาษาท้องถิ่นไม่ได้

ไมเคิล หว่อง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรก เมื่อเขาร่วมแสดงหนังเรื่อง “Royal Warriors-โคตรอันตรายคู่คู่” (1986) ซึ่งผลิตโดย “ดีแอนด์บี ฟิล์มส์” ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทภาพยนตร์ของ “ชนชั้นกลาง” และบุคลิกหล่อสะอาดแบบอเมริกันของหว่องก็เข้ากับคอนเซ็ปต์ดังกล่าวพอดี

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ หว่องได้ทำงานเป็นนักแสดงร่วมจอกับ “มิเชล โหย่ว” อดีตนางงามชาวมาเลเซีย ที่เวลานั้นเพิ่งมีประสบการณ์แสดงหนังแนวแอ๊กชั่นแค่สองเรื่อง (ก่อนจะกลายเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปัจจุบัน)

ณ ช่วงต้นของการประกอบวิชาชีพนักแสดง หว่องถูกวิจารณ์ว่าเล่นหนังแข็งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ชีวิตชีวา และเป็นได้แค่พวกหนุ่มเจ้าสำอางที่ปรากฏตัวอยู่ตามช่องเอ็มทีวี

ยิ่งเขาพูดกวางตุ้งไม่ได้ จนต้องแสดงหนังแบบถูกพากย์เสียงทับ รัศมีดาราของไมเคิล หว่อง ยิ่งโดนกลบจนจมหาย

ไมเคิล หว่อง  Photo: Kirk Kenny / studiozag.com

อย่างไรก็ตาม “แผลใหญ่” กว่านั้นของไมเคิล หว่อง มาบังเกิดขึ้น เมื่อเขารับเล่นหนังเรื่อง “Fatal Love-มังกรเลื้อยรัก” (1993) ซึ่งเป็น “ภาพยนตร์เรตอาร์แนว 18 บวก” กระทั่งหลายคนทำนายว่า อนาคตในวงการบันเทิงฮ่องกงของหว่องคงจบสิ้นลงแล้ว

น่าสังเกตว่า ค.ศ.1993 คือ พ.ศ.2536 แล้วในช่วงหนึ่งปีระหว่าง พ.ศ.2536-2537 ไมเคิล หว่อง ก็พเนจรเดินทางไกลมาสร้างชื่อเสียงที่เมืองไทยพอดี

เนื้อหาในเพลง “ฉันมาไกล” ที่บรรยายจังหวะชีวิตช่วงนี้ของหว่องได้เป็นอย่างดี (ไม่ว่าบังเอิญหรือจงใจ) คือคำร้องท่อนที่ว่า “เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน มันเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน แม้เรี่ยวแรงจะเดินนั้นยังหมด แต่เหนื่อยเท่าไร เพียงเธอเติมน้ำใจสักหยด รดลงมาตรงที่กลางใจ ให้คนไกลคนนี้ชื่นฉ่ำหัวใจ”

หนึ่งขวบปีที่เมืองไทย หว่องได้ออกเทปหนึ่งชุดกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ (และมีเพลงดังหนึ่งเพลง) เขาได้เล่นหนังไทยเรื่อง “มังกรเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นผลงานของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” มี “มรกต มณีฉาย” และ “ทอม ดันดี” เป็นดาราร่วมแสดง

อีกหนึ่งภาพจำของหว่องสำหรับคนไทย ยังปรากฏผ่านบทบาทในภาพยนตร์โฆษณา “ชีวาสรีกัล” (ในยุคที่เราสามารถโฆษณาสุราทางสื่อโทรทัศน์ได้)

และเป็นหนังโฆษณาดังกล่าวเช่นกันที่ทำให้เขาได้แจ้งเกิดรอบใหม่ในวงการบันเทิงฮ่องกง

 

เวลานั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ “กอร์ดอน ชาน” ได้เห็นไมเคิล หว่อง แสดงหนังโฆษณาชีวาสฯ แล้วก็ค้นพบอะไรบางอย่างในตัวนักแสดงหนุ่ม จนตัดสินใจทาบทามเขาให้มาเล่นหนังเรื่อง “The Final Option” (1994) โดยสวมบทเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจเอสดียู

ชานแก้ปัญหาการพูดกวางตุ้งไม่ได้ของหว่อง ด้วยการเขียนบทให้เขาพูดภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้

แม้หลายคนจะดูแคลนล่วงหน้าว่านั่นคือข้อผิดพลาดใหญ่หลวง แต่ผู้กำกับฯ รายนี้โต้แย้งว่า ก็ในเมื่อทุกคนชอบดูหนังฮอลลีวู้ด และภาษาอังกฤษถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮ่องกง แล้วทำไมการมีตัวละครในภาพยนตร์พูดจาสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นเรื่องผิดแปลก?

สุดท้าย ชานก็เป็นฝ่ายประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง เมื่อผู้ชมรู้สึกหลงรักตัวละครที่แสดงโดยหว่อง ซึ่งฝากบทพูดวรรคทองไว้ในหนังว่า “อย่าเรียกผมว่า ‘ไกว๋โหล่ว’ (ฝรั่งต่างชาติ)”

จากนั้น หว่องจึงค่อยๆ มีที่ทางอันมั่นคงในวงการหนังฮ่องกง เขามักได้รับบทเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกหนึ่งผลงานสำคัญของเขา คือ ภาพยนตร์เรื่อง “Beast Cops-มาเฟียถล่มมาเฟีย” (1998) ของสองผู้กำกับฯ กอร์ดอน ชาน และ “ดันเต้ แลม”

ในหนังเรื่องนี้ ไมเคิล หว่อง และ “แอนโทนี หว่อง” (นักแสดงฝีมือดีลูกครึ่งฮ่องกง-อังกฤษ) สวมบทเป็นตำรวจคู่หูที่ทำงานในย่านมงก๊ก ตัวละครของไมเคิลเป็นตำรวจหนุ่มที่ยึดมั่นในหลักวิชา และเชื่อว่าโลกนี้มีเส้นแบ่งระหว่าง “ขาวจัด” กับ “ดำจัด” โดยเขาเป็น “ฝ่ายขาว” ก่อนที่ตำรวจนายนี้จะค่อยๆ ตระหนักว่าทุกคนล้วนเป็น “มนุษย์สีเทา”

ไมเคิล หว่อง เคยให้สัมภาษณ์ถึงผลงานชิ้นเยี่ยมเรื่องนี้เอาไว้เมื่อปี 2017 ว่า “นี่คือหนังที่กำกับฯ ได้ดีมาก บทภาพยนตร์สามารถฉายให้เห็นเฉดสีทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของฮ่องกง และความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ กับการบังคับใช้กฎหมายในโลกอาชญากรรม”

ปัจจุบัน หว่องมีอายุ 58 ปีแล้ว เขาฝากผลงานการแสดงล่าสุดไว้ในหนังเรื่อง “A Guilty Conscience” (2023) ซึ่งเพิ่งสร้างสถิติเป็นหนังท้องถิ่นที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮ่องกง

คราวนี้ บทที่หว่องในวัยใกล้เกษียณได้รับ ไม่ใช่บทตำรวจ แต่เป็น “ทนายความตัวร้ายจอมตลบตะแลง”

นี่คือการเดินทางไกล (ที่แวะผ่านมาเยี่ยมเยือนเมืองไทยแค่ระยะสั้นๆ) ของนักแสดงชื่อ “ไมเคิล หว่อง” •

 

ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงฮ่องกงจาก https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3241029/michelle-yeoh-film-gave-him-his-first-break-typecast-him-too-hong-kong-actor-michael-wongs-early

 

| คนมองหนัง