กางไทม์ไลน์…เส้นทางสู่สภา ดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’ วัดใจ…รัฐบาลพรรคเพื่อไทย!!

นายอรรถพล สังขวาสี

นับเป็นช่วงเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….” ฉบับใหม่ ให้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้นเมื่อปี 2560

แล้วคนในแวดวงการศึกษาก็ได้ลุ้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หลังผ่านการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ได้ปรับแก้หลายครั้งหลายคราก่อนนำเข้าสภา

แต่ก็ยังมีเสียง “คัดค้าน” โดยเฉพาะ “กลุ่มครู” ที่ไม่เห็นด้วยกับบางมาตรการ ที่มองว่าเข้าข่ายลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

ขณะที่ฝ่าย “สนับสนุน” หรือคนที่คิดเห็นกลางๆ เห็นว่าควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยปรับแก้บางมาตราที่มีปัญหาทีหลัง

แต่สุดท้ายก็ต้อง “ฝันค้าง” กันทั้งประเทศ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ทำให้กฎหมายต่างๆ ตกไป รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จ่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวาระ 2 และ 3 ด้วย

 

กระทั่งเข้าสู่ยุคของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าสู่สภาโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการยกร่างฉบับใหม่ หรือนำร่างกฎหมายเดิมที่ค้างอยู่ในสภามาผลักดันต่อ เพราะหากยิ่งล่าช้า ยิ่งเป็นผลเสียกับการศึกษาไทยทั้งระบบ

ซึ่งจะทำให้การศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่…

ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือ ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาตามที่ประกาศไว้ช่วงหาเสียง ก็ต้องเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง

โดยตั้งคณะกรรมการที่หลากหลายชุด ต้องมีกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน และต้องผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี!!

 

ทั้งนี้ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หลังเข้ามากำกับดูแล สกศ.ก็เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาได้โดยเร็ว

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด มีการตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยจะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ค้างการพิจารณาของสภาในรัฐบาลที่แล้วมา “ทบทวน” และแก้ไขในส่วนที่ยังเป็นข้อขัดแย้ง เนื่องจากหลักการส่วนใหญ่ในร่างฉบับเดิม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

ส่วนการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ จะทำเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นต่าง โดยระหว่างการยกร่างกฎหมาย จะทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป เพื่อให้การยกร่างเสร็จโดยเร็วที่สุด

คาดว่าใช้เวลายกร่างไม่เกิน 6 เดือน เพื่อให้ทันเสนอที่ประชุมสภาชุดนี้…

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สกศ.มองว่า สิ่งที่จะต้องเร่งทำควบคู่ไปกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือการจัดทำ “กฎหมายลูก” ให้เสร็จไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีอยู่กว่า 17 ฉบับ

เมื่อกฎหมายแม่ผ่านการพิจารณาของสภาเมื่อใด ก็พร้อมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาได้ทันที…

นอกจากนี้ จะทบทวนประเด็นที่ล้าหลัง เพราะร่างกฎหมายเดิม มีข้อครหาว่าไม่ทันสมัย ประกอบกับการศึกษาในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น ต้องดูพื้นฐานการผลิตคนเพื่อสร้างประเทศ โดยจะเน้นการสร้างคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม คู่ขนานไปกับการทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

เพื่อผลิตคนที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับโลกในยุคอนาคต!!

 

คราวนี้ลองมาไล่ไทม์ไลน์ของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ สกศ.ได้เตรียมผลักดัน โดยได้เปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว จนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566

จากนั้น สกศ.จะรวบรวมความคิดเห็นที่เป็นข้อมูลสำคัญๆ ประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระบวนการนิติบัญญัติ

โดย สกศ.จะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม ที่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ร่างกฎหมายตกไปโดยอัตโนมัติ แต่ สกศ.ได้เลือกที่จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มาเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง

เพราะหากเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด คณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องใช้เวลาพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายนานกว่า 1 ปี และกว่าจะรับฟังความคิดเห็นเสร็จ กฎหมายก็จะไม่ทันสมัย และอาจจะเสร็จไม่ทัน 4 ปีในรัฐบาลเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเดิมที่จะนำมาประชาพิจารณ์ ก็ยังมี “จุดอ่อน” และมีเสียง “คัดค้าน” ในบางมาตรา ดังนั้น สกศ.จึงแยกการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน คือ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะเน้นว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แต่เรื่องของคนและสิทธิประโยชน์ที่ยังเป็นข้อขัดแย้ง จะไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ….

ซึ่งเท่าที่แจกแจงได้ ยังมีข้อวิพากษ์ประมาณ 14 มาตรา โดยในขั้นนี้ สกศ.จะนำตัวอย่างการจัดการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และประเทศในยุโรป มาเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อให้เห็นภาพต่างๆ ชัดเจน บวกกับการนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาด้วย

เมื่อรายละเอียดที่ได้ทั้งหมดตกผลึกแล้ว จะเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ร่วมกันวิพากษ์อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป ก่อนที่จะปรับแก้รายละเอียดต่างๆ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา และเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ!!

 

นอกจากนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สกศ.จึงต้องทำงานควบคู่กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา และตัวเลขาธิการ สกศ.ยังได้เข้าร่วมเป็นเลขานุการของ กมธ.การศึกษาอีกด้วย เพื่อจะได้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมทั้งนำแนวทางของแต่ละพรรคมาร่วมพิจารณา เพื่อลดความขัดแย้งในร่างกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมกับ กมธ.การศึกษา และร่างที่ ครม.ส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ซึ่งจะทำให้การพิจารณากฎหมาย เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ สกศ.คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการประชาพิจารณ์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณา

จากนั้น จะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเดิมที่เคยพิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำเข้าสู่สภาในการเปิดสมัยประชุม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ สกศ.ยังกังวล และเป็น “ตัวแปร” สำคัญ คือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ที่จะต้องร่วมพิจารณาด้วย เพราะจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ถึงจะมี ส.ว.ชุดใหม่ ซึ่งตัวแปรที่แทรกเข้ามานี้ ก็อาจทำให้การพิจารณากฎหมายต้องล่าช้าออกไปอีก

เพราะแม้จะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ ก็คาดว่าจะได้ ส.ว.ในปลายปี 2567 จากนั้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จึงจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติได้ในปี 2568 ผ่านขั้นตอนการวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณา

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ว่านี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดภายในปี 2569

งานนี้ ต้องวัดใจ “รัฐบาลเพื่อไทย”!! •

 

| การศึกษา