อันเนื่องจากโพลมติชน-เดลินิวส์ ปัญหา ‘เหลื่อมล้ำ’ ใต้โจทย์ ‘ปากท้อง’ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ไม่จำเป็นทางเศรษฐศาสตร์

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนจากการวิเคราะห์ผลโพล “มติชน x เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” โดย “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราเห็นกันชัดเจนในสังคมไทย เรามีอุตสาหกรรมการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่มีผลเชิงปฏิบัติ ผมคิดว่าถ้าหากรัฐบาลนี้ หรือพรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลหน้า มองเห็นถึงปัญหานี้ ต้องคิดในรายละเอียดมากขึ้น

จากการสำรวจโพลอันนี้ ผมคิดว่ามันนำไปสู่คำถามอย่างที่พูดกันว่า มันต้องทำอีกเยอะแยะเลย ปฏิรูปกองทัพทำอย่างไร? มันคงไม่ใช่แค่ยุบ กอ.รมน. หรือ (ลดราคา) น้ำมัน คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณลดน้ำมันแบบนี้ ก็ได้อีกไม่กี่เดือน ค่าไฟก็จะขึ้นแล้วในปีหน้า

ทั้งหมดนี้คือ ถ้าหากคิดถึงความเหลื่อมล้ำกับเศรษฐกิจที่มันไปด้วยกัน รัฐบาลนั้นจะกลายเป็น “รัฐบาลของรัฐบุรุษ” แต่ถ้าหากคุณแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าแบบนี้ อย่างมากคุณก็ได้รับคำชื่นชมระดับหนึ่ง

อย่าลืมนะครับ “30 บาทรักษาทุกโรค” มันไม่ใช่แค่สวัสดิการแบบยื่นให้ แต่มันเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจไปเลย

ผมคิดว่าความสำคัญของโพลอันนี้ มันจึงชี้หรือแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่อยากจะให้มีการเข้ามาดูแลแก้ไข และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ในผลโพลทั้งหมด ทันทีที่พูดถึงลดค่าไฟ-ค่าน้ำ-ค่าน้ำมัน ผมคิดว่าคนจำนวนมากตระหนักแล้วว่า การลดค่าน้ำ-ลดค่าไฟ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าน้ำมันเป็นตัวหลักมากกว่า ผมอยู่เชียงใหม่ คนเชียงใหม่จะเดินทางเข้าเมืองเพื่อมาทำงาน สิ่งที่คนจำนวนมากตระหนักถึงเรื่องค่าน้ำมันก็คือว่ามันซับซ้อนกว่าลดแบบ (ปัจจุบัน) นี้

ข่าวที่ผ่านมาทั้งหมด ก็คือ ลดค่าน้ำมันคือเอาภาษีบางก้อนไปโปะ ข้อมูลเรื่องลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ผมคิดว่าเราสามารถมองทะลุลงไปว่าเขา (ประชาชน) เข้าใจอะไร โดยมองจากสื่ออื่นๆ

รวมไปถึงว่าแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ทันทีที่พูดถึงหนี้สาธารณะ ผมคิดว่าคนที่เลือกข้อนี้ นอกจากคิดถึงหนี้ส่วนตัวแล้ว กำลังคิดถึงว่า เฮ้ย! ถ้ากู้หนี้มา ฉันก็จะต้องใช้หนี้ไป เหมือนที่กระแส (ดิจิทัลวอลเล็ต) 10,000 บาทไม่ขึ้น

ผมคิดว่า คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าคุณกู้มาเมื่อไหร่ โคตรฉัน ลูกฉัน ก็ต้องจ่ายด้วย ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่เลือกตอบตรงนี้ ลึกลงไปแล้ว เขาคิดถึงความเหลื่อมล้ำ

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ต้องประเมินว่าตอนนี้เศรษฐกิจมันฟื้นหรือยัง? คือถ้ามันฟื้นระดับหนึ่งแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องแจกเงินเพื่อกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าไปกู้เงินมาแจก ยิ่งไม่มีความจำเป็น

แต่ทีนี้ เราก็ต้องเข้าใจรัฐบาลว่า นโยบายนี้มันเป็นนโยบายหาเสียง อันนี้มองในมิติรัฐศาสตร์

ถ้ามิติเศรษฐศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลวอลเล็ตในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกเว้นรัฐบาลบอกว่าต้องการให้เศรษฐกิจโต 5 เปอร์เซ็นต์ อันนี้จำเป็น แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า การบอกให้เศรษฐกิจไทยโต 5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แล้วปีหน้าเกิดภาระทางการคลัง เกิดความเสี่ยงทางการคลัง มันจะต้องพิจารณาควบคู่กันไป

เราไม่อาจบริหารเศรษฐกิจเพียงแค่ปีสองปี เราบริหารประเทศมันต้องดู 10 ปี 20 ปี แต่ถามว่ากู้เงินห้าแสนล้านบาท โดยออก พ.ร.บ. มันทำให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะไหม? ไม่เกิดนะครับ

เพราะเนื่องจากว่าเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตอนนี้ 61 เกือบจะ 62 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากู้เงินมาอีกห้าแสนล้าน อย่างมากขึ้นไป 62-63 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ทะลุเพดาน 70 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเศรษฐกิจโต กระตุ้นแล้วมันโต หนี้สาธารณะอาจจะไม่เพิ่มเลยเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่มันจะไปเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หลายมาตรานะครับ ต้องไปดูว่ามันจะขัดหรือไม่? รวมทั้ง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ รัฐธรรมนูญมาตรา 140 ด้วย อันนี้มองในเชิงนิติศาสตร์

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลถึงออกมาเป็น พ.ร.บ. เพราะการออกเป็น พ.ร.บ. คุณต้องผ่านด่านรัฐสภา ผ่านด่าน ส.ว. อาจจะมีคนไปฟ้องแล้วก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ในทางการเมือง ถ้ามันทำไม่ได้ รัฐบาลลอยตัวแล้ว คือถ้ามันติดที่ ส.ว. หรือติดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ (ชี้แจงว่า) พยายามทำแล้วไง พยายามทำแล้วมันไม่ได้

แต่ถ้าเดินหน้าทำได้ ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงทางการคลัง ฉะนั้น วิธีแก้ก็คือลดขนาด ซึ่งผมเสนอไป ก็ลดขนาดลงมาแล้ว

ในขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการควบคู่ ก็คือว่าเวลาให้เงินไป 10,000 บาท ไม่ใช่ให้ไปเฉยๆ จะต้องมีมาตรการเสริม ที่แบบพอรับเงิน 10,000 บาทปุ๊บ พยายามให้เงินที่รับไป 10,000 บาท แปลงเป็นการลงทุน แปลงเป็นการประกอบอาชีพ แปลงเป็นการไปซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ถ้าแบบนี้มันยั่งยืนกว่า

แต่ส่วนใหญ่ (คน) เอาไปบริโภคอยู่แล้ว แต่อาจจะมีร้านค้ารายเล็กรายย่อยในต่างจังหวัดในชนบท เขาอาจจะไปซื้อสินค้าเพื่อเอามาขายต่อ ซึ่งอันนี้ก็คือการประกอบอาชีพ ถ้าเขาลุกขึ้นมายืนได้ในแง่ที่เขาเริ่มมีร้านเล็กๆ เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ เขาก็อยู่ต่อได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่กระบวนการนี้เราไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะมันจะต่างจากกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านใส่เงินเข้าไปหนึ่งล้าน เม็ดเงินตรงนี้มันจะกลายเป็นสินเชื่อหมุนเวียนในระบบ ก็ต่อเมื่อคุณมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่ดี ที่เอาเงินไปใช้ แล้วเอาไปประกอบอาชีพ เกิดรายได้กลับมาคืนกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านก็มีเงินหมุนไปเรื่อยๆ แต่กรณีนี้มันให้ไปที่ตัวบุคคล มันจะย่อยลงไปอีก

ในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ในความเห็นของผม คือ (ดิจิทัลวอลเล็ต) ไม่จำเป็นมาก แต่รัฐบาลอยากจะทำก็ทำ เพราะว่าในทางรัฐศาสตร์คุณไปหาเสียงไว้แล้ว

เพราะถ้าดูเศรษฐกิจ หนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคการบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง สอง การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ปีนี้เทียบกับตอนโควิด โตขึ้นมา 200 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยังไม่ฟื้นกลับไปเท่ากับปี 2562 แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเยอะมาก

การส่งออกเริ่มมีสัญญาณบวก หลังจากที่ติดลบมาตลอด สองเดือนล่าสุด เริ่มมีสัญญาณบวก ภาคการลงทุนทยอยฟื้นตัว

ฉะนั้น ถ้ามองเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นอะไรเท่าไหร่