ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ : ใครตั้งคำถาม? จะถามว่าอย่างไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

พอตั้งวงสนทนาว่าด้วยโจทย์ของการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับผู้รู้จึงเห็นภาพชัดเจนว่าเรากำลังต้องเผชิญกับความซับซ้อนอะไรบ้าง

วงเสวนาในรายการ “ตอบโจทย์” วันนั้นมี ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, พริษฐ์ (ไอติม) วัชรสินธุ แห่งพรรคก้าวไกล และนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา โฆษกคณะกรรมการฯ

คุณนิกรในฐานะ “มือเก๋า” ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยอมรับตรงๆ ว่า

“มีสองอย่างที่ผมกลัว คือ 1.ประเด็นเรื่องหมวด 1 กับหมวด 2 มีคำถามว่าทำไมเราดึงหมวด 1 กับหมวด 2 ออก เหตุผลก็เพราะมันเป็นความเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งมันอาจจะเริ่มจาก 112 ด้วยซ้ำ

“ถ้าเราบอกว่าให้แก้ทั้งฉบับ แต่ไม่เว้นมาตรา 1 กับ 2 ความเห็นของผมคือจะไม่ผ่านในการลงประชามติครั้งแรกด้วยซ้ำ

และอาจจะมีความขัดแย้งที่รุนแรง แทนที่เราจะสร้างความปรองดองขึ้น

อาจจะกลายเป็นวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีก”

ข้อกังวลไม่ได้มีเพียงแค่นี้

คุณนิกรยังเป็นห่วงว่าการทำประชามติครั้งที่ 1-2-3 จะดำเนินไปอย่างไร

การทำประชามติมีค่าใช้จ่าย ประมาณครั้งละ 3,000 ล้านบาท จึงต้องเคลียร์ให้ชัดว่าถ้าจะไปทิศนี้จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง

ในความเห็นของคุณนิกรถ้าเป็นการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมดโดยตรงก็มีตัวอย่างในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540

นั่นคือแต่ละจังหวัดเลือกมา 10 คนแล้วมาเลือกเหลือ 1 คน แต่หากครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งตรงก็เลือกมาจากจังหวัดละ 1 คนเลย

แต่เขาเห็นว่าไม่ควรจะเป็นการเลือกตั้งทั้งหมด 100% ควรจะมีผู้สันทัดกรณีเข้ามาบ้างเพราะการเขียนรัฐธรรมนูญต้องมีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิชาการ

“ถ้าพูดกันประเด็นการเมืองตรงๆ ก็มีคนกลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด พรรคก้าวไกลก็รวบหมดทั้งประเทศ”

คุณนิกรชี้ให้เห็นถึง “ความจริงของชีวิต” วันนี้ข้อหนึ่ง

นั่นคือการจะผ่านกระบวนการนี้ไปได้ยังต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 วุฒิสมาชิกหรือ 84 คน

“ถ้าเกิดเขากลัว ไม่โหวตให้ก็เดี้ยงหมดกัน” คุณนิกรบอก

ดร.สิริพรรณอธิบายว่าคณะกรรมการตั้งอนุกรรมการสองชุด คือชุดไปศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำประชามติกี่รอบ

“ตอนแรก ดิฉันก็เห็นว่าควรจะทำประชามติแค่ 2 ครั้งจะได้เร็วขึ้นและประหยัดเงิน แต่พอมาฟังเหตุผลอื่นๆ ก็ต้องระวังเหมือนกัน”

ส่วนอนุกรรมการอีกชุดมีหน้าที่รับฟังความเห็นของผู้คนกลุ่มต่างๆ

“ตอนแรกก็คิดว่ามีการรับฟังกันมามากแล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องมีอนุกรรมการชุดนี้หรือ แต่มีกรรมการท่านหนึ่งอธิบายว่าคิดว่าต้องมีเพราะคนที่ติดตามเรื่องนี้ก็อยากให้แก้ไขอยากจะรู้รายละเอียด แต่สังคมโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจ กระบวนการรับฟังฯ จะทำให้สังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น จะเกิดฉันทามติและบรรยากาศของการแก้รัฐธรรมนูญร่วมกัน”

ทำให้ ดร.สิริพรรณบอกว่าเมื่อได้ฟังเหตุผลเช่นนั้นก็ทบทวนความเห็นตัวเองและเห็นด้วย

ดร.สิริพรรณเน้นว่า “เราต้องเน้นว่าเราจะทำประชามติอย่างไรให้ผ่าน”

พอไปดู พ.ร.บ.ทำประชามติก็เห็นว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540

เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 บอกว่าการทำประชามติต้องได้ double majority เสียงข้างมากสองระดับ นั่นคือหนึ่งประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ (ดูประวัติการใช้สิทธิออกเสียงของไทยอาจจะไม่ยากเท่าไหร่นัก การทำประชามติเมื่อปี 2550 มีคนมาใช้สิทธิ 57% และปี 2560 ก็ 59%)

และอีกด้านหนึ่งก็ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ

“แต่บรรยากาศทางการเมือง ณ ขณะนี้มันไม่ได้มีฉันทามติแบบนั้น ไม่เหมือนกระแสตอนปี 2540”

 

ถาม “ไอติม” ว่ายอมรับได้ไหม?

คุณพริษฐ์ยืนยันว่าจุดยืนของก้าวไกลไม่มีส่วนไหนที่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สะดุดเลย

“เพียงแต่เราพยายามจะยกระดับให้เป็นประชาธิปไตยในมุมมองของเรามากที่สุดเท่านั้นเอง”

ดังนั้น ในแนวทางของก้าวไกลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ควรจะไปชี้นำ ควรให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด

“ด้วยเหตุนี้ ก้าวไกลจึงสนับสนุนให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเราเกรงว่าถ้ามีการแบ่งบางส่วนเลือกตั้ง อีกบางส่วนแต่งตั้ง เช่น 80% มาจากเลือกตั้ง อีก 20% แต่งตั้ง เรากังวลว่ากระบวนการแต่งตั้งที่ออกแบบมามันมีความสุ่มเสี่ยงที่ถูกแทรกแซงโดยจากฝ่ายการเมืองได้” คุณพริษฐ์บอก

และหวังว่ากติกาที่ออกมาจะไม่ใช่ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร แต่ต้องให้เป็นผู้แทนประชาชนที่แท้จริง

“ไอติม” เชื่อว่าถ้า สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็ไม่ได้ปิดประตูที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยร่างรัฐธรรมนูญ

นั่นคือ สสร.สามารถตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ “เหมือนว่าประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน เราเลือกตัวแทนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งก็สามารถว่าจ้างสถาปนิกเพื่อมาออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของ” ไอติมบอก

ท่าทีของคุณนิกรคือพยายามจะ “ถ่วงดุล” ระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ไอติม” เสริมว่า “ด้วยเหตุนี้ผมจึงบอกว่าคำถามในการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่ถามเรื่องสำคัญกับประชาชนก็จะกลายเป็นว่าต้องมาเดาว่าอะไรเป็นสิ่งที่สมาชิกวุฒิสภาจะยอมรับได้”

“แต่ถ้าเรายึดหลักการว่าอำนาจสูงสุดมาจากประชาชน เราก็เอาหลักการใหญ่ๆ สำคัญๆ ไปถามประชาชน และผมเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาในฐานะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ถ้าประชาชนโหวตอย่างไรในการทำประชามติ เขาก็คงจะต้องเดินตามนั้น…” ไอติมบอก

 

ผมถามว่า “เชื่อได้อย่างไรว่าจะเป็นอย่างนั้น…อดีตบอกเราว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป”

เรียกเสียงฮาจากวงสนทนาทันที

ท้ายที่สุด งานยากที่สุดอาจจะอยู่ที่การตั้งคำถามสำหรับการทำประชามติ

คณะกรรมการชุดนี้บอกว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ที่จะร่างคำถามสำหรับประชามติ

แต่เป็นภาระของกรรมาธิการ 45 คนของรัฐสภาที่จะทำหน้าที่นี้

“ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ไปกำหนดแนวทางคำถาม กรรมาธิการสภาก็อาจจะบอกว่าเราไปล็อกเขาไว้ตั้งแต่ต้น…”

ลงท้ายความซับซ้อนก็จะอยู่ตรงการตั้งคำถามนี่แหละ

เช่น จะถามว่า “จะให้เลือก สสร.ทั้งหมดหรือไม่?”

และจะถามลงรายละเอียดถึงขั้นว่า “ถ้าไม่ให้เลือกตั้งทั้งหมด จะให้เลือกกี่เปอร์เซ็นต์” หรือเปล่า?

คำตอบก็จะหลากหลาย และจะนำไปสู่การตีความที่ยุ่งยากได้อีกเช่นกัน

หรือคุณนิกรยกตัวอย่างคำถามว่า

“จะให้แก้เป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับโดย สสร.?”

ดังนั้น คุณนิกรคิดว่าการตั้งคำถามเหล่านี้ควรจะทิ้งเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการในสภาหลังจากที่ทำประชามติครั้งแรกว่าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

 

ยังมีประเด็นเรื่องจะแก้ไขทั้งฉบับหรือยกเว้นมาตรา 1 กับมาตรา 2?

คุณนิกรเชื่อว่าถ้าหากไม่ยกเว้นสองมาตรานี้โอกาสที่จะผ่านก็จะยากเพราะมีฝ่ายคัดค้านในสภาไม่น้อย

คุณพริษฐ์ยืนยันว่าประเด็นนี้ไม่มีอะไรต้องกังวล

“ที่พรรคก้าวไกลเห็นต่างเป็นเชิงหลักการ ผมเข้าใจว่าเวลาพูดถึงเรื่องหมวด 1 หมวด 2 นั้นประชาชนอาจจะกังวลว่าหากแก้แล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปล่า หรือจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปล่า จากรัฐเดี่ยวไปเป็นรัฐรูปแบบอื่นหรือเปล่า

“ผมอยากให้ข้อมูลว่าในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ประการที่หนึ่ง มาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้อยู่แล้วว่าคุณจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือทำฉบับใหม่อย่างไร ห้ามแก้ไขเนื้อหาในลักษณะที่ไปเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ

“เพราะฉะนั้นจึงต้องขอยืนยันว่า การที่เราบอกว่า สสร.อาจจะมีอำนาจในการพิจารณาหมวด 1 กับหมวด 2 นั้นไม่ได้หมายความว่าจะให้อำนาจ สสร.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ ซึ่งก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว

“อีกประการหนึ่ง ถ้าเราย้อนไปดูรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 ถึง 2550 และ 2560 ความจริงข้อความในหมวด 1 กับหมวด 2 มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อรูปแบบการปกครอง รูปแบบรัฐ เป็นเพียงการปรับเนื้อหาบางส่วน ซึ่งอาจจะมีการถกเถียงว่าเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นต้น

“ประเด็นที่สาม ถ้าเรียนตามข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ตราบใดที่การแก้ไขไม่กระทบรูปแบบของการปกครองและรูปแบบของรัฐ”

สรุปแล้วความท้าทายเพิ่งจะเริ่มต้น

และถ้าหากแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จไม่ทันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะต้องรับไปเต็มๆ!