‘เงินดิจิทัล’ แบบทดสอบนายกฯ ‘เศรษฐา’ ผลงานโบแดงหรือก้อนอิฐ เรียกศรัทธาหรือตราบาปให้เพื่อไทย

หลังจากรอคอยมานาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงการคลัง ได้แถลงความชัดเจนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

จากที่แถลงต่อรัฐสภาว่า จะแจก 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า 54.8 ล้านคน วงเงิน 5.48 แสนล้านบาท กลายเป็นแจกแบบมีเงื่อนไข ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน มีเงินฝากในบัญชีรวมกันทุกแบงก์ไม่เกิน 500,000 บาท เหลือผู้มีสิทธิ 50 ล้านคน วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท และขยายพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอำเภอตามบัตรประชาชน จากเดิมแค่รัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร

แต่สิ่งที่ขัดใจใครหลายคนคือจำกัดการใช้ สินค้าที่ซื้อได้ ลดเหลือแค่สินค้าอุปโภคบริโภค!

และที่ต้องไม่ลืม คือร้านค้าที่ร่วมโครงการ ซึ่งนายเศรษฐาย้ำหนักหนาว่าต้องเป็นร้านในระบบภาษี ซึ่งเป็นเรื่องแสลงของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ผวามาตั้งแต่โครงการคนละครึ่ง อยู่ๆ ก็โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร

แค่คิดก็พอเดาได้ว่าคงจะเหลือแค่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อของนายทุนใหญ่ที่ร่วมโครงการ กลายเป็นว่าเงินจากโครงการดิจิทัลไหลไปหาคนตัวใหญ่ ไม่ได้กระตุ้นการค้าให้คนตัวเล็กหรือไม่

ความหวังจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลเศรษฐาที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะกลายเป็นตัวฉุดรั้งคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดต่ำลง ซ้ำเติมจากเดิมที่ตัดสินใจจับมือกับพรรคการเมืองขั้วเดิมที่ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างความเจ็บปวดต่อเอฟซีคนเสื้อแดงบางกลุ่มหรือไม่ เพราะเริ่มมีกระแสเสียงเป็นเชิงคำถามว่า หรือจะนำไปสู่ยุคสิ้นศรัทธา เลือกตั้งครั้งใหม่ คะแนนจะเทไปพรรคก้าวไกลได้แลนด์สไลด์ยิ่งกว่าเดิม

 

ความวัวยังไม่ทันหาย…เกิดกระแสเรื่องแหล่งเงินโครงการ จากเดิมใช้งบประมาณแผ่นดินลักษณะผูกพันงบประมาณ 4 ปี แต่สิ่งที่นายกฯ แถลงคือ เตรียมออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ที่ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินในช่วงที่ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพราะเกิดวิกฤต

แต่ทั้ง ส.ว.ส่วนใหญ่ นักกฎหมายบางคน รวมถึงนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้าน ไม่ได้มองเช่นนั้น จึงเป็นที่กังขาว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะโหวตผ่านรัฐสภาหรือไม่

หรือเป็นการหาทางลงของฝ่ายรัฐบาล อย่างที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งขอสังเกตว่าจะเป็นเกมของรัฐบาลที่ต้องการหาทาลงต่อโครงการเงินดิจิทัลหรือไม่

โดยยกกรณีรัฐบาลเพื่อไทย สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เคยออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ให้ความเห็นว่า การออก พ.ร.บ.เพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้ กระทำไม่ได้ ด้วย พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มาตรา 206 ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

2. พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

3. ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ

4. ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

และ 5. พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

“ธีระชัย” บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่าช่องทางเดียวที่โครงการนี้จะใช้ได้ คือข้อ 2.พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่วนช่องทางอื่นนั้น เป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง ที่ไม่สามารถดัดแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัล

แต่ช่องทางกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น ติดปัญหากฎหมาย มาตรา 22 จะกระทําได้เมื่อมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจําเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โครงการแจกเงินดิจิทัลจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ และไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ

“ส่วนเงื่อนไขส่วนหลังของมาตรา 22 ซึ่งเปิดช่องให้ กรณีจําเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศนั้น การกู้เงินเพื่อแจกเงินดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน ย่อมไม่สามารถตีความได้ว่า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ” นายธีระชัยกล่าว

 

กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ยังไม่ทันข้ามวัน ก็มีเสียงคัดค้านอื้ออึงเสียแล้ว ยังไม่นับรวมก่อนหน้าที่นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ร่วมลงชื่อราว 133 คน ทำหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการแจกเงินดิจิทัล

ยิ่งจะใช้แหล่งเงินจากการกู้ น่าเชื่อได้ว่าย่อมถูกค้านให้หยุดโครงการ หนักแน่นขึ้นอีก!

จากเมื่อช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ออก พ.ร.ก.เงินกู้ รวม 1.5 ล้านล้านบาท ใช้ในการบรรเทาเยียวยาผลกระทบ และยังมี พ.ร.ก.เงินกู้ อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาทใช้ในการทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน จนทำให้กรอบหนี้สาธารณะไทย ต้องขยายเพดานจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี

ณ ปัจจุบัน ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุหนี้สาธารณะคงค้างมีสัดส่วน 62.14% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลหนี้ 11.13 ล้านล้านบาทต่อจีดีพี 17.91 ล้านล้านบาท

หลายสำนักเศรษฐกิจ และภาคเอกชน ต่างวิเคราะห์กันว่า หากรัฐบาลออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งจากล่าสุด 62.14% ต่อจีดีพี กลายเป็นประมาณ 64% ถือว่าเข้าใกล้เพดานที่ถ่างออกมาแล้วเข้าไปทุกที สร้างภาระให้กับการคลังอย่างมาก แถมโครงการเงินดิจิทัลเองยังเป็นที่จับตาของนักลงทุน และบริษัทจัดอันดับ อาทิ มูดีส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ให้ความกังวลกับเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

แถมล่าสุด นายเศรษฐายังตอบสื่อด้วยเชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.เงินกู้จะผ่านสภา เพราะเป็นการเลือกวิธีตามข้อเสนอของผู้ว่าการแบงก์ชาติ!

เป็นคำพูดทิ้งบอมบ์ ก่อนบินไปร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกา

สุดท้าย ‘เงินดิจิทัล’ จะแท้งหรือไม่ ถ้าไม่แท้ง ใครได้ใครเสียประโยชน์ พรรคเพื่อไทยจะเรียกศรัทธาคืนได้หรือไม่…ตามดูกัน